posttoday

'น้ำเต้าหู้' ช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่?

15 กุมภาพันธ์ 2564

เมนูซื้อง่ายขายคล่อง “น้ำเต้าหู้” กินในปริมาณเท่าไหร่จึงส่งผลดีต่อสุขภาพ และเครื่องดื่มนี้จะช่วยลดความอ้วน ลดไขมัน ดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลินในเลือด และการย่อยอาหาร จริงหรือ!!

ไม่ว่าจะเดินตลาดยามเช้า หรือซื้อกับข้าวยามเย็น หนึ่งในร้านที่ต้องพบเห็นคือ “ร้านขายน้ำเต้าหู้” ซึ่งเราต่างกันดีว่าอุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย แถมยังดีต่อสุขภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นคารโบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน แถมยังมีไฟเบอร์ หรือใยอาหารซึ่งช่วยระบบขับถ่ายในลำไส้ ช่วยดูดซับสารพิษ และช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้ดีกว่าเนื้อสัตว์

ในส่วนปลีกย่อยของวิตามินและแร่ธาตุ ในน้ำเต้าหู้ยังมีวิตามินบี 6 ที่ช่วยการทำงานของสมอง สร้างระบบภูมิต้านทานของร่างกาย วิตามินอี และกรดไขมันจำเป็นอื่นๆ ที่ช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส มีธาตุเหล็กที่เสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง รวมทั้ง เลซิธิน (Lecithin) สารประกอบของฟอสฟอรัสกับไขมัน ที่ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัว โรคหัวใจ และช่วยบำรุงสมองด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ยังพบสารที่มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อ ซอยไอโซฟลาโวนส์ (Soy Isoflavones) ซึ่งช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุน ลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมถึงลดอาการบางอย่างอันเนื่องมาจากฮอร์โมนขาดหายหรือผิดปกติ เช่น ความรู้สึกไม่สบายตัว และอาการหงุดหงิดของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอีกด้วย

ข้อดีอีกประการของน้ำเต้าหู้ คือเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก โดยที่ยังสามารถรับสารอาหารได้อย่างครบถ้วน ทั้งนี้ พลังงานที่ได้จากนมวัวมีมากถึง 170 กิโลแคลอรี่ แต่นมถั่วเหลืองจะได้รับเพียง 80 กิโลแคลอรี่ แต่อย่างไรก็ตาม การรับประทานเพียงแต่น้ำเต้าหู้อาจจะไม่ได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่โดยเฉพาะแคลเซียม เพราะแคลเซียมในน้ำเต้าหู้นั้นมีน้อยกว่านมวัวมาก จึงควรจะรับประทานกับอาหารที่เสริมกันอย่างผักคะน้า หรือทานน้ำเต้าหู้ที่เสริมด้วยแปะก๊วย ลูกเดือย ถั่วแดง เพื่อให้ได้รสชาติที่อร่อยและยังเพิ่มคุณค่าสารอาหารให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

'น้ำเต้าหู้' ช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่?

การดื่มน้ำเต้าหู้ กับการลดความอ้วน ลดน้ำหนัก และไขมัน

มีงานวิจัยที่ทดลองประสิทธิผลของนมวัว นมถั่วเหลืองปรุงแต่ง และอาหารเสริมแคลเซียมที่มีผลต่อการลดไขมันในผู้หญิงก่อนวัยทองที่มีภาวะอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน พบว่า การบริโภคนมไขมันต่ำอย่างนมถั่วเหลืองปรุงแต่ง ช่วยลดภาวะอ้วนและภาวะอ้วนลงพุงในกลุ่มตัวอย่างทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญ

อีกหนึ่งการทดลองได้เปรียบเทียบประสิทธิผลของน้ำเต้าหู้ กับนมวัวขาดมันเนย กับระดับไขมันในเลือด และการทำปฏิกิริยากับผนังเซลล์ไขมัน (Lipid Peroxidation) ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ผลลัพธ์ที่ได้ชี้ว่าน้ำเต้าหู้มีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในเลือดและลดการเกิดปฏิกิริยาที่สารอนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับกรดไขมันไม่อิ่มตัวในผนังเซลล์ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูง

ส่วนการทดลองเพื่อหาประสิทธิผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายด้วยเครื่องดื่มที่ทำมาจากถั่วเหลือง โดยทำการทดลองในกลุ่มตัวอย่างชาวฝรั่งเศสที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงในกลุ่มความเสี่ยงระดับปานกลาง ผลที่ได้คือ การบริโภคเครื่องดื่มจากถั่วเหลืองที่มีสารแพลนท์ สเตอรอล (Plant Sterol) ช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดเลว (non-HDL และ LDL) ลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า น้ำเต้าหู้อาจช่วยควบคุมและลดระดับไขมันในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงที่อยู่ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง

'น้ำเต้าหู้' ช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่?

การดื่มน้ำเต้าหู้ กับระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลินในเลือด และการย่อยอาหาร

จากการค้นคว้าหาประสิทธิผลของการบริโภคผลิตภัณฑ์นมและนมถั่วเหลืองเป็นประจำทุกวันทั้งก่อนมื้ออาหาร 30 นาที และพร้อมมื้ออาหารในกลุ่มทดลองเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี เพื่อศึกษาหาอิทธิพลต่อระบบย่อยอาหาร ระดับน้ำตาลและสารอินซูลินในเลือด พบว่า การดื่มนม ทั้งนมถั่วเหลืองและนมวัวก่อนมื้ออาหาร 30 นาที จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารได้มากกว่าการดื่มพร้อมมื้ออาหาร ซึ่งวิธีการนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานจากการบริโภคอาหารที่มีค่า GI สูง (Glycemic Index: ค่าดัชนีน้ำตาล) ซึ่งยังต้องค้นคว้าทดลองในด้านนี้ต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัดและเป็นประโยชน์ในอนาคต

'น้ำเต้าหู้' ช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่?

การบริโภคน้ำเต้าหู้ในปริมาณที่เหมาะสม

แม้การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง หรือมีโปรตีนจากถั่วเหลือง รวมถึงน้ำเต้าหู้ในปริมาณที่เหมาะสมจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ผู้บริโภคควรศึกษาปัจจัยทางสุขภาพของตนให้ดีก่อนว่าควรดื่มน้ำเต้าหู้หรือไม่ และควรดื่มในปริมาณมากน้อยเพียงใด อาหารที่ทำจากถั่วเหลืองแต่ละชนิดล้วนมีโปรตีนและสารอาหารจากถั่วเหลืองในปริมาณที่แตกต่างกันไป เช่น ในน้ำเต้าหู้ 1 แก้ว อาจมีสารไอโซฟลาโวนประมาณ 30 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างหลากหลาย เพื่อให้รับสารอาหารที่จะส่งเสริมสุขภาพได้อย่างครบถ้วน