posttoday

6 กลุ่มโรค NCDs ที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงเพราะ COVID-19

26 มกราคม 2564

เตือนผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หากติดเชื้อ COVID-19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงมากกว่าปกติ

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) หรือ NCDs หมายถึงกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ หรือจากเชื้อโรค ไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือผ่านตัวนำโรค (พาหะ) แต่เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย และส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไม่ระวัง โดยกลุ่มโรค NCDs หากติด COVID-19 แล้วเสี่ยงมีอาการรุนแรง มีโรคอะไรบ้าง และจะป้องกันอย่างไร ให้ห่างไกลจาก NCDs ไปหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย

โรคเบาหวาน

  • เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โรคนี้ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน และกระหายน้ำมากกว่าปกติ น้ำหนักลดมากกว่าปกติ และปลายมือปลายเท้าชา หากเบาหวานขึ้นตา อาจเกิดการมองเห็นที่พร่ามัว
  • โรคเบาหวาน ป้องกันได้โดยการควบคุมพฤติกรรมการทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมหวานต่าง ๆ โดยให้ลดปริมาณการรับประทานลง หรือลดปริมาณน้ำตาลลง อาจออกกำลังกายร่วมด้วยเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

โรคความดันโลหิตสูง

  • เป็นภาวะโรคที่ตรวจพบว่าค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งค่าความดันปกติควรน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท
  • ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ อายุมากกว่า 35 ปี มีพ่อหรือแม่ พี่หรือน้อง เป็นความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน ภาวะเครียดเรื้อรัง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด
  • การป้องกันความดันโลหิตสูง ควรลดน้ำหนัก ลดปริมาณเกลือในอาหาร งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรู้จักปล่อยวาง ไม่เครียด

โรคหลอดเลือดสมอง

  • หรือเรียกว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย อาจเป็นสาเหตุของความพิการ หรือเสียชีวิตได้ และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย
  • ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีญาติสายตรงป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ เป็นต้น
  • วิธีการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา ควบคุมน้ำตาล ควบคุมความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

โรคหัวใจ

  • โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอับดับต้น ๆ ของประเทศไทยส่วนมากมักจะเกิดกับผู้ที่มีช่วงอายุวัยกลางคนขึ้นไปและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
  • สาเหตุส่วนใหญ่ของการป่วยด้วยโรคหัวใจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมเสี่ยงส่งผลมากที่สุดคือ “การสูบบุหรี่” เพราะสารพิษกว่า 7,000 ชนิดในบุหรี่ จะขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้หัวใจได้รับออกซิเจนน้อยไม่เพียงพอ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ซึ่งสารนิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ในบุหรี่ จะเพิ่มความหนืดของเกล็ดเลือดและทำให้เกิดลิ่มเลือด เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ทำให้เกิดหัวใจวายเฉียบพลัน ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ มีภาวะความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดผิดปกติ ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ภาวะอ้วนลงพุง ไม่ออกกำลังกาย ไม่รับประทานผักและผลไม้ และมีความเครียดสะสม
  • การป้องกันโรคหัวใจ ทำได้โดย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารและขนมที่มี เนย ชีส ครีม รวมถึงเค้ก เบเกอรี่ เป็นต้น รับประทานอาหารที่มีเส้นใยให้มากขึ้น เช่น ข้าวซ้อมมือ ผัก ผลไม้น้ำตาลน้อย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยครั้งละ 30 นาที 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม งดดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและงดสูบบุหรี่

6 กลุ่มโรค NCDs ที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงเพราะ COVID-19

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

  • เป็นโรคเรื้อรังซึ่งมีทางเดินหายใจภายในปอดอุดกั้นอย่างช้า ๆ การดำเนินโรคจะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในหลอดลมหรือในเนื้อปอดอักเสบทำให้หลอดลมตีบแคบลงหรือตันไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ โรคนี้ประกอบด้วย 2 โรค ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และ โรคถุงลมโป่งพอง
  • สาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ การสูบบุหรี่ ควันบุหรี่มีสารเคมีมากมาย เมื่อปอดสัมผัสกับควันบุหรี่เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในปอดได้
  • ป้องกันไม่ให้เกิดโรคโดยการไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันพิษต่าง ๆ

โรคไตวายเรื้อรัง

  • คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดราว 40,000 คนต่อปี หรือ 108 คนต่อวัน เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตกว่า 5 แสนคน
  • โรคไตเป็นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไตทำให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกายและการรักษาความสมดุลของเกลือ รวมถึงน้ำในร่างกายเกิดภาวะขัดข้อง
  • วิธีป้องกันคือ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ใช่แค่รสเค็มจัด แต่รวมไปถึง อาหารหวานจัด เผ็ดจัด หรือแม้กระทั่งมันจัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ 6-8 แก้วต่อวัน งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานหนักจนเกินไป ไม่เครียด ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูป และตรวจสุขภาพประจำปี

นอกจากนี้ สิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คือ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม และสแกนไทยชนะ นอกจากจะช่วยป้องกัน COVID-19 แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ อีกด้วย