posttoday

Covid-19 : สั่งอาหารเดลิเวอรี่อย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อ

22 ธันวาคม 2563

ทบทวนกันไว้ ปลอดภัยจาก Covid-19

เมื่อสถานการณ์โรคติดต่อกลับมาให้เราต้องเฝ้าระวังตัวกันอีกครั้ง หลายคนเลือกไม่ออกจากบ้านเพื่อลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ทำก็คือการเลือกสั่งของเดลิเวอรี่ ทั้งอาหารพร้อมทาน ของสด ของแห้ง วิธีการดังกล่าวก็ต้องอาศัยความมั่นใจเชื่อใจว่าอาหารที่เราได้มานั้นวางใจได้ ไม่ส่งผลเสียกับร่างกายและไม่นำเชื้อโรคใดๆ มาสู่ตัวเรา

 Covid-19 : สั่งอาหารเดลิเวอรี่อย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อ

การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่เน้นใน 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี

  1. คัดเลือกร้านอาหารได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  2. ติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์คนขนส่งอาหาร เช่น การสวมหน้ากากที่ถูกวิธี และขั้นตอนการล้างมือที่ถูกต้อง เป็นต้น ผ่านช่องทางต่างๆ ของบริษัท
  3. จัดบริการหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือให้แก่คนขนส่งอาหาร
  4. จัดบริการตรวจสุขภาพให้แก่คนขนส่งอาหาร หากพบคนขนส่งอาหารมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที

กลุ่มที่ 2 ร้านอาหารให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี

  1. อาหารปรุงสำเร็จต้องปรุงสุกใหม่ สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการจำหน่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก
  2. หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
  3. จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่สำหรับล้างมือ หรือจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ
  4. จัดสถานที่ให้เพียงพอกับจำนวนคนขนส่งอาหารที่เข้ามาใช้บริการโดยจัดระยะห่าง 1 เมตร และมีการระบายอากาศที่เหมาะสม
  5. จัดหาภาชนะบรรจุอาหารที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท แข็งแรง ปกปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในระหว่างการขนส่ง ไม่ใช้โฟมในการบรรจุอาหาร
  6. อาหารปรุงสำเร็จ มีการติดฉลากที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน เช่น ชื่อร้านอาหาร วัน/เดือน/ปี เวลาที่ผลิต ระยะเวลา และอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาอาหาร เป็นต้น

กรณีจัดส่งอาหารเสี่ยง เช่น อาหารที่ใช้มือสัมผัสมาก เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบและอื่นๆ อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ นม ควรแนะนำให้ผู้บริโภคนำไปอุ่นร้อนก่อนรับประทาน ผู้ประกอบอาหาร ร้านอาหาร ผู้จำหน่ายอาหาร เพื่อนำสู่กระบวนการส่งอาหาร โดยมีทั้งร้านอาหารที่ทำการส่งแบบเดลิเวอรีอยู่แล้ว และร้านอาหารที่เพิ่งเปิดให้บริการส่งแบบ เดลิเวอรี ทางกรมอนามัยมีคำแนะนำว่า ร้านอาหารมีการจดแจ้งอยู่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่จะมีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นในเรื่องของสถานที่ อุปกรณ์ ผู้สัมผัสอาหาร เนื่องจากอาหารบางชนิดไม่เหมาะแก่การนำมาส่ง เดลิเวอรี เช่น อาหารที่บูดเสียง่าย อาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ หากมีผู้ที่ป่วยอยู่ในร้านอาหารจะต้องหยุดปฏิบัติงาน รวมไปถึงจะต้องใส่ภาชนะที่เหมาะสมในการใส่อาหาร

 Covid-19 : สั่งอาหารเดลิเวอรี่อย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อ

กลุ่มที่ 3 คนขนส่งอาหารเดลิเวอรี ได้แก่ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับอาหารตั้งแต่กระบวนการสั่งซื้ออาหาร การรับอาหารจากร้านอาหาร และขนส่งอาหารไปสู่ผู้บริโภค จะต้องปฏิบัติดังนี้

  1. สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง ไอ จาม ปนเปื้อนอาหาร และลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อโรคระหว่างให้บริการ
  2. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานขนส่งอาหาร ก่อนเข้าร้านอาหาร หลังการส่งอาหารให้ผู้บริโภค หลังเข้าส้วม หลังจับสิ่งสกปรก และจับเงิน
  3. หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
  4. จัดหากล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะสำหรับขนส่งอาหารที่มีโครงสร้างที่แข็งแรง ปกปิดมิดชิดในลักษณะที่ช่วยป้องกันการปนเปื้อน และใช้กล่องบุฉนวนเพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำและน้ำยาทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคด้วย Alcohol 70% โดยสเปรย์หรือหยด Alcohol 70% ลงบนผ้าสะอาดพอหมาดๆ เช็ดไปในทิศทางเดียวกันเป็นประจำทุกวัน
  5. ตรวจสอบคุณภาพอาหารทันทีหลังได้รับจากร้านอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหารและไม่มีกลิ่นเน่าเสีย บรรจุอยู่ในภาชนะที่มีสภาพดี ไม่ชำรุด การปกปิดอาหาร ฉลากอาหาร เป็นต้น
  6. การส่งอาหารต้องแยกเก็บอาหารเป็นสัดส่วน ระหว่างอาหารปรุงสำเร็จและเครื่องดื่ม และจัดส่งถึงมือผู้บริโภคให้เร็วที่สุด
  7. ไม่ควรเปิดกล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะจนกว่าจะพบผู้สั่งซื้ออาหาร โดยก่อนเปิดกล่องใส่อาหารทุกครั้งควรทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ จัดส่งอาหารให้ผู้สั่งซื้อโดยตรงหรือจุดที่ผู้สั่งซื้อกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อโรคระหว่างให้บริการผู้สั่งซื้อ ในการส่งอาหาร คนขนส่งอาหารควรอยู่ห่างผู้รับอาหารอย่างน้อย 1 เมตร หรือในกรณีที่ไม่ได้ส่งอาหารให้กับผู้สั่งอาหารได้โดยตรง สถานที่หรือบริเวณที่จะส่งอาหารต้องไม่ทำให้อาหารเกิดการปนเปื้อน เช่น ไม่ส่งอาหารบริเวณใกล้ถังขยะ เป็นต้น และภายหลังส่งอาหารและหลังการจับเงินให้ทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
  8. ถอดถุงมือผ้าในระหว่างการหยิบจับอาหาร เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่สะสมในถุงมือผ้า กรณีใส่ถุงมือผ้าในระหว่างการใช้ยานพาหนะขนส่งให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนการสวมใส่ทุกครั้ง และเปลี่ยนถุงมือทุก 4 ชั่วโมง ทำความสะอาดถุงมือด้วยน้ำยาทำความสะอาดทุกวัน

 Covid-19 : สั่งอาหารเดลิเวอรี่อย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อ

กลุ่มที่ 4 ผู้สั่งซื้ออาหาร/ผู้บริโภค เมื่อได้รับอาหารแล้วควรปฏิบัติดังนี้

  1. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หลังการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร
  2. สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยหากมีอาการป่วย ในระหว่างการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร
  3. หลีกเลี่ยงการสั่งซื้ออาหารกลุ่มเสี่ยง เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือเครื่องในสัตว์ที่ปรุงไม่สุก อาหารที่เน่าเสียง่าย อาหารที่ปรุงด้วยนม กะทิ เป็นต้น ควรนำไปอุ่นร้อนก่อนรับประทาน
  4. ตรวจสอบคุณภาพอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหารและไม่มีกลิ่นเน่าเสีย ความเหมาะสมของภาชนะบรรจุ การปกปิดอาหาร เป็นต้น