posttoday

ตาแดง vs เส้นเลือดฝอยในตาแตก แตกต่างกันหรือไม่

28 ตุลาคม 2563

“ตาแดง” ไม่ใช่แค่อาการผิดปกติของดวงตาตามฤดูกาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังบ่งบอกถึงโรคต่างๆ ได้ด้วย แล้วตาแดงแบบไหนอันตรายมาก-อันตรายน้อย อยากรู้ต้องอ่าน

อาการตาแดง และเส้นเลือดฝอยในตาแตก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายต่อดวงตาหรือกระทบกับการมองเห็น หลายคนจึงอาจไม่ทันสังเกตเลือดบริเวณตาขาวเลยด้วยซ้ำ

 

ตาแดง vs เส้นเลือดฝอยในตาแตก แตกต่างกันหรือไม่

ตาแดงอันตรายมาก และตาแดงอันตรายน้อย

ข้อมูลโดย ศ.นพ.พรชัย สิมะโรจน์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาการตาแดงเป็นการที่เส้นเลือดที่บริเวณเยื่อบุตาขาวเกิดการขยายตัว จึงทำให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจน สามารถแบ่งตาแดงออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ตาแดงอันตรายมาก และตาแดงอันตรายน้อย

ตัวอย่างโรคที่อยู่ภายใต้อาการตาแดงอันตรายน้อย ได้แก่

  • ตาแดงจากภูมิแพ้ คือจะมีอาการคันตา ตาบวม จะบวมมากบวมน้อยขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน
  • ตาแดงจากต้อลมและต้อเนื้อ ส่วนมากจะมีอาการระคายเคืองจากการโดนลมโดนแดด ฝุ่น ควัน หยอดตาแก้ระคายเคือง ตามคำแนะนำของแพทย์สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการเจอลมเจอแดด ฝุ่น ควัน
  • ตาแดงจากเส้นเลือดฝอยแตก บางคนเส้นเลือดฝอยแตกไม่มาก บางคนแตกมาก สังเกตจากความแดงที่เห็นอาจดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วอาการไม่ได้มีความรุนแรงมาก เพราะไม่สามารถเข้าไปในตาดำได้
  • ตาแดงตามฤดูกาล เช่น โรคตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตามฤดูกาล 

ตัวอย่างโรคที่อยู่ภายใต้อาการตาแดงอันตรายมาก ได้แก่

  • ตาแดงจากการติดเชื้อหนองใน ตาแดงประเภทนี้ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่สามารถทะลุเข้าไปในกระจกตาได้ แบคทีเรียชนิดนี้ สามารถทำลายผิวกระจกตาจนเสียหาย รุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ มีขี้ตาเยอะมาก เช็ดออกไม่กี่นาทีก็ไหลออกมาอีก ตาแดงประเภทนี้ต้องระวังกับเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งอาจติดเชื้อขณะคลอด หรือติดจากมารดา ส่วนผู้ใหญ่อาจรับเชื้อจากคู่นอนที่มีเชื้ออยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนับว่าพบได้น้อย เนื่องจากเดี๋ยวนี้ทารกมีการฝากครรภ์ที่ดีก่อนคลอด ฉะนั้นผู้ที่เป็นตาแดงจากการติดเชื้อหนองในแล้วยังไม่ได้ไปทำการรักษากับแพทย์ให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วน ที่สำคัญคือต้องถามคู่นอนว่าติดเชื้อหนองในหรือไม่ เพราะเชื้อประเภทนี้จะติดอยู่ที่อวัยวะเพศด้วย หากทิ้งไว้นาน เชื้อนี้สามารถกินเนื้อตาดำได้ ซึ่งก็แล้วแต่ความรุนแรงและภูมิต้านทานของแต่ละคนด้วย หากภายใน 24–48 ชั่วโมงไม่ได้รับการรักษาเชื้ออาจทะลุตาดำโดยง่าย
  • ตาแดงจากต้อหินเฉียบพลัน อาการเบื้องต้นจะมีอาการตาแดง รอบ ๆ ตาดำจะแดงระเรื่อตลอดเวลา กระจกตาจากเดิมที่เคยใสจะมัวขุ่น รูม่านตาขยาย มีอาการปวดตา ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย รวมถึงการมองเห็นลดลงหรือแย่ลง ต้อหินเฉียบพลันเกิดจากมีความดันในลูกตาสูงกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการเหล่านี้ ถ้าทิ้งไว้ไม่รักษาอาจตาบอดได้ เพราะความดันตาสูงกว่าสภาพปกติ 4–5 เท่า การรักษาจึงต้องรีบลดความดันลูกตาลง อาจใช้วิธีการทานยา ฉีดยา ยาหยอด การรักษาโดยเลเซอร์ หรือบางกรณีอาจต้องเจาะตา เพื่อลดความดันลูกตาลง
  • ตาแดงจากงูสวัด ถ้าเป็นบริเวณใบหน้า มักจะคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับลูกตา แต่บางคนมีแผลลามไปถึงบริเวณดั้งจมูก และหนังตาด้านบน ซึ่งอาจลุกลามเข้าตาได้ ในผิวกระจกตาดำจะมีลักษณะเฉพาะ คือ มีรอยแผลถลอก รูปร่างคล้ายกิ่งก้านใบไม้ โดยเชื้อไวรัสตัวนี้จะเป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับเริม เมื่อตรวจพบให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาภายใน 24 ชั่วโมง ก็จะได้รับยาต้านไวรัสทำให้อาการเจ็บที่ประสาทและบริเวณที่เป็นบรรเทาลงได้

 

ตาแดง vs เส้นเลือดฝอยในตาแตก แตกต่างกันหรือไม่

เส้นเลือดฝอยในตาแตก

ด้านข้อมูลโดย อ.พญ.สุธาสินี บุญโสภณ ภาควิชาจักษุวิทยา ระบุว่า เส้นเลือดฝอยในตาแตก คือการที่มีเส้นเลือดฝอยในตาแตก ซึ่งมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป เช่น เวลาที่เบ่ง ไอ จาม หรือมีความดันในร่างกายที่สูงขึ้นกะทันหัน หรือว่ามีความดันโลหิตสูง มีโรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ หรือในผู้ป่วยที่รับประทานยาที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด หรือจากอุบัติเหตุต่างๆ การขยี้ตาแรงๆ มีผลทำให้เส้นเลือดฝอยในตาแตกได้

โดยทั่วไป เส้นเลือดฝอยในตาแตกจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร ยกเว้นในบางรายจะมีความรู้สึกระคายเคืองตา ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดฝอยในตาแตก เช่น จากการขยี้ตาหรือมีแผลที่บริเวณเยื่อบุตาร่วมด้วยก็อาจจะทำให้รู้สึกระคายเคืองตา ไม่สบายตาได้ 

สำหรับเส้นเลือดฝอยในตาแตก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะตกใจ เนื่องจากเวลาส่องกระจกแล้วเห็นว่ามีลักษณะปื้นของเลือดอยู่บริเวณเหนือตาขาว แต่จริงๆ แล้วตัวโรคไม่ได้อันตรายอะไร ซึ่งโดยทั่วไปสามารถหายได้เองภายในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาหยอดใดๆ ยกเว้นในบางรายที่มีการระคายเคืองตาเล็กน้อย อาจใช้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาการระคายเคือง เช่น น้ำตาเทียมได้ แต่ในรายที่มีอาการระคายเคืองตาค่อนข้างมาก หรือในรายมีอาการเส้นเลือดฝอยในตาแตกซ้ำหลายๆ ครั้ง แนะนำให้มาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของเส้นเลือดฝอยในตาแตกว่าเกิดจากสาเหตุใด เช่น ความดันโลหิตที่สูงขึ้นผิดปกติ การแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ 

เคล็ดลับป้องกันเส้นเลือดฝอยในตาแตก

การดูแลดวงตาให้มีสุขภาพดีและปลอดภัยจากบาดเจ็บอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดฝอยในตาแตกให้น้อยลงได้ เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • ไม่ขยี้ตา ไอ จาม อาเจียนอย่างรุนแรง หรือยกของหนักเป็นประจำ เพราะอาจส่งผลต่อเส้นเลือดฝอยในดวงตา 
  • ควรล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์เป็นประจำก่อนและหลังการใช้งาน
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตา เมื่อต้องทำงานที่อาจมีเศษวัตุกระเด็นเข้าตาหรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงกระแทก
  • หมั่นพักสายตาบ่อยๆ หากต้องจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน โดยอาจใช้สูตร 20-20-20 คือการพักสายตา 20 วินาที ทุกๆ 20 นาที โดยมองไกลออกไป 20 ฟุต เพื่อลดอาการอ่อนล้าของดวงตาและกระตุ้นให้กะพริบตาบ่อยขึ้น
  • ออกกำลังอยู่เสมอเพื่อให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพอย่างโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดเส้นเลือดฝอยในตาแตก
  • หากต้องอยู่ในสถานที่มีแสงแดดจ้าควรสวมแว่นกันแดดเป็นประจำเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสียูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB) ที่อยู่ในแสงแดด