posttoday

ไวรัส RSV คืออะไร ทำไมระบาดในเด็ก

27 ตุลาคม 2563

แพทย์หลายสำนักเตือนโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ระบาดบ่อยช่วงปลายฝนต้นหนาว เผยอาการคล้ายหวัด ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีความเสี่ยง พร้อมแนะวิธีการป้องกัน

หลายวันมานี้มีข่าวเด็กๆ ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลหลายราย ซึ่งสาเหตุมาจากโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ Respiratory Syncytial Virus (RSV) ที่มีเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ พร้อมหาวิธีป้องกันไปพน้อมๆ กัน 

ข้อมูลโดย อ.พญ.โสภิดา บุญสาธร สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า คนทั่วไปอาจยังไม่คุ้นหูกับคำว่าเชื้อไวรัส RSV เท่าไรนัก คนที่รู้จักไวรัสชนิดนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็น คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครอง นั่นก็เพราะ RSV คือเชื้อไวรัสสุดฮิตที่เกิดขึ้นในหมู่เด็กเล็กเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด เพราะหากพลาดไปสักนิดอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ไวรัส RSV คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษคือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเริ่มมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก

สาเหตุและการติดเชื้อไวรัส RSV ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง แต่ถ้าหากเกิดในเด็กเล็กๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน

เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย มักติดต่อผ่านทางการ ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ปัจจุบันเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรงนั้นน้อยมาก เพราะไวรัส RSV ไม่ใช่เชื้อโรคที่ร้ายแรง

แต่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักมาจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กมากๆ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจจะเกิดภาวะรุนแรงถึงขั้นการหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตได้

วิธีการป้องกัน ผู้ปกครองสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในบุตรหลานได้โดยการพยายามให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส ใส่หน้ากากอนามัยในที่ที่คนพลุกพล่าน ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะออกจากร่างกาย แต่ถ้าหากเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่หย่านม ก็สามารถให้เด็กดูดนมได้มากที่สุดตามต้องการ แยกอุปกรณ์และภาชนะต่างๆ ของเด็กแต่ละคน ไม่ควรใช้ร่วมกัน

วิธีสังเกตอาการว่าติดเชื้อไวรัส RSV หรือไม่

เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV ระยะเริ่มต้นนั้นใช้เวลาในการฝักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เริ่มจากการมีน้ำมูก จาม ไอ ทำให้ คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองรู้ตัวช้า ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด และต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เพิ่มด้วย เช่น อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ไอ จาม มีเสมหะจำนวนมาก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ 

วิธีรักษา เบื้องต้นไวรัส RSV ไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน ดังนั้นแพทย์จึงใช้วิธีการรักษาไปตามอาการ รักษาประคับประคอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาลดไข้ หรือในเด็กบางรายที่มีลักษณะของหลอดลมตีบ ก็อาจจะมีการให้ยาพ่นเพิ่มเพื่อขยายหลอดลม รวมถึงการเคาะปอดและดูดเสมหะ

ไวรัส RSV คืออะไร ทำไมระบาดในเด็ก

ข้อมูลโดย นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ จากศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า ฤดูกาลที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ร่างกายต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และหนึ่งในโรคสำคัญที่มีโอกาสติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการป่วยง่าย ๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV เชื้อนี้มองเผินๆ อาจเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้

ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

การติดต่อของ RSV สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2 – 4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้นส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมากๆ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่ต้องพึงระวัง คือ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว เพราะผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง

ทั้งนี้ จากข่าวที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ แชร์ประสบการณ์เรื่องราวของผู้ปกครองรายหนึ่งที่มีลูกยังเล็กอายุเพียง 5 เดือน แต่ติดเชื้อไวรัส RSV ทำให้เกิดปอดอักเสบ โดยคาดว่าติดเชื้อจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่มาจับหรือหอมแก้มลูกของตนนั้น การติดเชื้ออาจเกิดจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่ป่วยหรือเป็นพาหะได้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็กเล็ก อยากเข้าไปสัมผัสจับมือ หอมแก้ม โดยไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายหรือล้างมือก่อนสัมผัส เมื่อไปจับต้องโดนตัวเด็ก หรือสัมผัสโดนปากหรือจมูก ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ใหญ่ควรระมัดระวัง อย่าเผลอแพร่เชื้อให้เด็กเล็กโดยไม่รู้ตัว

การรักษา RSV ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ

การป้องกัน RSV ทำได้โดยการรักษาความสะอาด ผู้ปกครองควรดูแลความสะอาดให้ดี หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อย ๆ เพราะการล้างมือสามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70 ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ปกติแล้วในผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อโรคนี้ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ แต่ผู้ใหญ่มีโอกาสสัมผัสเชื้อนี้ได้ และหากไม่ล้างมือให้สะอาดก็อาจทำให้เด็กเล็กติดเชื้อจากผู้ใหญ่ได้

สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่ลูกมีอาการป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเข้าเรียนในเนิร์สเซอร์รีหรือโรงเรียนอนุบาลแล้ว หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนทางด้าน นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ต้นฤดูหนาวเป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงและอาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนได้ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งโรค Respiratory Syncytial Virus (RSV) ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี อาการของโรค คือ มีไข้สูง ไอมากและมีเสมหะมาก ซึมลง หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ตัวเขียว จากการขาดออกซิเจน สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย ที่ปนปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ของล่น ฯลฯ และผ่านการหายใจเอาละอองจากการไอ จาม ของผู้ป่วยเข้าไปในร่างกาย โดยเชื้อไวรัส RSV สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมง และสามารถอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง แต่ใช้วิธีรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะมาก ต้องเคาะปอดและดูดเสมหะออกเพื่อลดความรุนแรงของอาการไอและหายใจหอบเหนื่อยได้ ยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์หากไม่มีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

การป้องกันโรคทำได้ ดังนี้

  1. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่
  2. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือสัมผัสผู้ป่วย
  3. ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ
  4. หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ทารกที่ได้รับควันบุหรี่จะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV
  5. รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ 

.

ที่มา โรงพยาบาลรามาฯโรงพยาบาลกรุงเทพ , สำนักอนามัย