posttoday

เบาหวาน vs สุขภาพฟัน เกี่ยวข้องกันตรงไหน

19 สิงหาคม 2563

ผู้ป่วยโรคเบาหวานกับปัญหาสุขภาพของเหงือกและฟัน อีกเรื่องสำคัญที่เราต้องรู้!

รู้หรือไม่?

  • โรคเบาหวาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเหงือกและฟันมากกว่าที่คุณคิด
  • การมีปัญหาโรคเหงือกและฟันของผู้ป่วยเบาหวาน จะส่งผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาล และส่งผลเสียต่ออวัยวะอื่น รวมทั้งหลอดเลือดและหัวใจ
  • การควบคุมเบาหวานให้ดี จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปริทันต์อักเสบได้ ขณะเดียวกันการดูแลสุขภาพเหงือกและฟันให้ดี ก็จะช่วยให้การควบคุมเบาหวานง่ายขึ้นเช่นกัน

คุมน้ำตาลไม่ดี ส่งผลร้ายแค่ไหน

สิ่งสำคัญที่สุดของผู้ป่วยเบาหวานก็คือการควบคุมน้ำตาล เพราะหากควบคุมน้ำตาลไม่ดีแล้ว ไขมันในเลือดก็จะผิดปกติด้วย ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเสื่อมเร็ว ผนังหลอดเลือดแข็งกระด้าง เสียความยืดหยุ่น ผนังขรุขระ ทำให้เกิดการอุดตันได้ง่าย จึงมีผลให้อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายเสื่อมเร็วกว่าวัยอันควรนับสิบปี ดังนั้นผู้ที่ควบคุมเบาหวานไม่ดี จึงมีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ได้มากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวานหรือคนที่ควบคุมเบาหวานได้ดี เช่น มีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ได้ง่ายกว่า 4 – 10 เท่า เป็นโรคหัวใจขาดเลือด 2 – 3 เท่า โอกาสไตเสื่อมไตวายถึง 5 เท่า และโอกาสเท้าอักเสบจนถูกตัดขาได้ถึง 25 เท่า เป็นต้น

เบาหวาน vs สุขภาพฟัน เกี่ยวข้องกันตรงไหน

สุขภาพปากสัมพันธ์กับเบาหวานจริงหรือ?

โดยปกติแล้วกลไกของร่างกายจะมีการผลิคน้ำลายมาคอยช่วยสมานแผลในปาก และช่วยป้องกันการติดเชื้อในช่องปาก แต่สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน จะมีน้ำลายน้อยกว่าคนปกติ ทำให้มีอาการแสบร้อนในช่องปาก และแผลในช่องปากหายช้ากว่าคนทั่วไป โดยมีหลายการศึกษาวิจัย พบว่าผู้ที่เป็นเบาหวานทั้งในเด็กและผู้ใหญ่มักมีปัญหาโรคเหงือกอักเสบมากกว่าคนปกติ โดยเฉพาะเมื่อควบคุมน้ำตาลไม่ดี และมีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสียเหงือกที่ยึดรอบฟันได้ถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน

การมีปัญหาเหงือก รอบฟันอักเสบ (ปริทันต์) สำคัญเพียงใด?

การที่ผู้ป่วยเบาหวานมีปริทันต์อักเสบ จะทำให้การควบคุมน้ำตาลยากขึ้น เนื่องจากกระบวนการอักเสบ ทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินสุลิน โดยมีผลการศึกษาวิจัยพบกว่าผู้ป่วยเบาหวานที่มีปริทันต์อักเสบขั้นรุนแรง จะมีผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหาเหงือกอักเสบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยิ่งกว่านั้นยังพบปัญหาของโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้นอีกด้วย ในขณะที่ผู้ที่มีปริทันต์อักเสบโดยไม่ได้เป็นเบาหวานไม่พบปัญหาต่างๆ ดังกล่าวนี้ นอกจากนั้นยังพบอุบัติการณ์ของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย เพิ่มเป็น 3 เท่าในผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาปริทันต์อักเสบที่ไม่รุนแรง

ข่าวดีก็คือ หากดูแลการอักเสบของเหงือกรอบฟันให้ดีขึ้น ก็จะสามารถช่วยให้สามารถควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น และในทางกลับกัน หากควบคุมเบาหวานได้ดีก็จะลดปัญหาการอักเสบของเหงือกได้เช่นกัน

เป็นเบาหวานแต่ไม่อยากเป็นโรคเหงือกต้องทำอย่างไร?

  • คุมอาหารให้ดี โดยระวังการกินอาหารให้เหมาะสมกับร่างกาย ไม่ให้อ้วนเกินไปหรือผอมเกินไป กินข้าว-แป้ง และผลไม้ในปริมาณที่พอเหมาะและสม่ำเสมอ
  • กินยาเบาหวานให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ
  • ออกกำลังกายตามสมรรถภาพร่างกาย
  • ดูแลสุขลักษณะในช่องปากอย่างเหมาะสม โดยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 เวลา และทำความสะอาดฟันปลอมโดยการบ้วนปากหรือแปรงฟันหลังอาหาร
  • ดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว
  • พบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และเมื่อมีอาการผิดปกติในช่องปาก เช่น เหงือกบวมแดง มีเลือดหรือหนองออก หรือ เมื่อควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน