posttoday

COVID-19 : แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิตอบ 6 คำถามเรื่องค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล

29 มีนาคม 2563

ไขข้อข้องใจเรื่องค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล, สถานพยาบาลที่สามารถตรวจหาเชื้อ, ตัวยาที่ใช้, โอกาสกลับมาเป็นอีก, การขอใบรับรองแพทย์

พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถามที่พบบ่อยของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หมวดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล 

ข้อ 1

Q : นโยบาย หรือหลักเกณฑ์ ของการเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาและตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่?

A : นโยบายในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในขณะนี้จะตรวจให้ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค โดยกรมควบคุมโรคจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำหรับกรณีอื่นๆ ห้องปฏิบัติการจะเรียกเก็บจากผู้ส่งตัวอย่าง สำหรับผู้ที่ต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวนโรคสามารถสืบค้นจากเว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในผู้ป่วยคนไทย เบิกตามสิทธิ์

COVID-19 : แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิตอบ 6 คำถามเรื่องค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล

ข้อ 2 

Q : สถานพยาบาลที่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้?

A : ปัจจุบันการตรวจทางห้องปฏิบัติการมีการกำหนดพื้นที่ดังนี้

  • พื้นที่เขตสุขภาพที่ 1-12 ให้ส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์
  • พื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
  • กรุงเทพมหานคร ส่งตรวจคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช, คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์, โรงยาบาลราชวิถี

ข้อ 3

Q : ตัวยาที่ใช้ในการรักษาโรคโคโรนาไวรัสมีชื่อยาว่าอะไรบ้าง สามารถหาซื้อได้ที่ไหน?

A: เดือน กุมภาพันธ์ 2563 ประเทศจีนให้การรับรองการใช้ยา Favilavir ในการรักษา COVID-19 นอกจากนี้ มีรายงานการใช้ยาหลายขนาน เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ (lopinavir ร่วมกับ Ritonavir) ใช้ร่วมกับยาต้านไข้หวัดใหญ่, ยาต้านไข้มาลาเรีย (คลอโรควิน)

สำหรับยา Remdesivir มีการพบว่าใช้ได้ผลในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองที่ติดเชื้อ SARS และ MERS ทั้งหมดนี้ยังต้องได้รับการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการรักษาที่เชื่อถือได้ ในการรักษาแนะนำให้รักษาในโรงพยาบาลโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเท่านั้น เพื่อให้ได้ผลในการรักษาอย่างเต็มที่และป้องกันผลข้างเคียงอันตรายจากยา

ข้อ 4

Q : เคยป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้วจะมีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่?

A : มีรายงานการศึกษาในประเทศจีน ตรวจพบเชื้อโดย RT-PCR อีกครั้ง หลังจากได้รับการรักษาจนหายและไม่พบเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 48 ชม.

อย่างไรก็ตาม ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าการพบผลการตรวจ RT-PCR ที่กลับมาเป็นบวกนั้น หมายถึงผู้ป่วยมีการติดเชื้อ เนื่องจาก RT-PCR เป็นการตรวจที่ไม่ได้บ่งชี้การติดเชื้อ อีกทั้งผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อก็ไม่ได้แสดงอาการ โดยหลักวิชาการการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ผู้ป่วยที่หายจากโรคจะสร้างภูมิต้านทานที่สูงเพียงพอที่จะป้องกันการเกิดโรคได้เป็นเวลานานหลายเดือน

COVID-19 : แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิตอบ 6 คำถามเรื่องค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล

ข้อ 5

Q : ต้องการขอใบรับรองแพทย์เพื่อใช้ยืนยันกับประเทศปลายทางสามารถขอได้ที่ไหนบ้าง?

A : ปัจจุบันศักยภาพในการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อมีมากขึ้น โรงพยาบาลบางแห่งจึงมีบริการตรวจและออกใบรับรองผลการตรวจ แต่โรงพยาบาลของภาครัฐ จะให้บริการตรวจหาเชื้อเฉพาะผู้ที่เข้าข่ายต้องสอบสวนโรคเท่านั้น จะไม่มีบริการสำหรับผู้ไม่มีอาการ

ข้อ 6

Q : ค่าใช้จ่ายในการขอตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ?

A : ค่าตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการจะมีความแตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ตั้งแต่ 2,500 - 13,000 บาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการป้องกันตนเองของบุคลากรตามระดับความเสี่ยงของผู้รับบริการ, ค่าขนส่งตัวอย่าง เนื่องจากบางโรงพยาบาลไม่ได้ทำการตรวจด้วยตนเอง

ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติภารกิจภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ภาพ : freepik