posttoday

‘เลิกบุหรี่’ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ลดทรุด-เสี่ยงตายจากวายร้าย COVID-19

19 มีนาคม 2563

เสียงจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ องค์การอนามัยโลก เห็นพ้องกันว่าบุหรี่เพิ่มโอกาสที่ผู้ป่วยจากเชื้อโคโรนาไวรัสจะทรุดและตายมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ พร้อมชี้แนะเป็นโอกาสดีในการลด ละ เลิกบุหรี่

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 จากพฤติกรรมการสูบบุหรี่  2 ประการ คือ

ประการแรก คือ บุหรี่ทำให้ปอดไม่แข็งแรง

การสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นชนิดมวนหรือบุหรี่ไฟฟ้าย่อมส่งผลทำให้ปอดไม่แข็งแรง การสูบบุหรี่แม้เพียงมวนเดียวก็ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพปอด และถ้าสูบเป็นระยะเวลานานก็สามารถนำไปสู่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เสี่ยงติดเชื้อมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากวารสารการแพทย์จีน ระบุว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงรวมถึงเสียชีวิตเป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า 

ประการที่สอง คือ แชร์กันสูบเสี่ยงติดเชื้อทางน้ำลายหรือเสมหะ

การแบ่งกันสูบบุหรี่มวนเดียวกัน หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกัน อาจจะส่งผลต่อการติดเชื้อ COVID-19 ได้จากทางน้ำลายหรือเสมหะ ดังจะเห็นได้จากที่มีข่าวคนไทย 11 คนติดเชื้อจากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ร่วมกับชาวฮ่องกงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาอันสมควรที่จะเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างสุขภาพปอดให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการติด COVID-19

‘เลิกบุหรี่’ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ลดทรุด-เสี่ยงตายจากวายร้าย COVID-19

ขณะที่ ดร. ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ให้ความเห็นว่า การสูบบุหรี่น่าจะทำให้การป่วยจากโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 มีอาการรุนแรงขึ้น

ซึ่งเรื่องนี้ ดร.จิสลี่ เจนกิ้นส์ ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด มหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษ ได้ออกมาเตือนเช่นกันว่า การสูบบุหรี่น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงอันหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เช่นเดียวกับกรณีโรคซาร์สและเมอร์สที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะปอดของคนสูบบุหรี่จะถูกทำลายจนเกิดภาวะถุงลมโป่งพองซึ่งภาวะนี้จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ปอดสูงกว่าคนปกติ 

นายแพทย์มานาบุ ซากุตะ ประธานสมาคมควบคุมยาสูบญี่ปุ่น ส่งจดหมายถึง รมต.สาธารณสุขญี่ปุ่น เตือนปัจจัยเสี่ยงสำคัญของไวรัส COVID-19 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง และเบาหวาน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัย Clinical Characteristics of Coronavirus Disease 2019 in China หรือลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศจีน พบว่า ผู้ชายอายุเยอะและสูบบุหรี่ เป็นกลุ่มที่ถ้าหากติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสป่วยรุนแรง เช่น ต้องย้ายเข้าหอผู้ป่วยวิกฤต ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต โดยคิดเป็นผู้ชายมากถึง 67.2% ช่วงอายุที่มีอาการรุนแรงสุดคือตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป (49.2%) และเมื่อเทียบระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่อยู่จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่หยุดสูบไปแล้ว (25.8% กับ 7.6%) ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงที่ยังพอปรับเปลี่ยนได้ก็คือการเลิกสูบบุหรี่

พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่าเมื่อครั้งการระบาดของโรคเมอร์สที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรนาเช่นกัน พบคนสูบบุหรี่จะป่วยรุนแรงกว่าเพราะเซลล์ปอดของคนสูบบุหรี่มีตัวรับเชื้อไวรัสเมอร์สมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนสูบบุหรี่มีอาการรุนแรงกว่า แม้ยังไม่มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่กับการติดเชื้อ COVID-19 แต่เชื่อว่ากลไกการติดเชื้อน่าจะคล้ายกัน 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การสูบบุหรี่จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้กระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่หลุดเข้ามาที่ปอดแย่ลง เริ่มจากการทำให้เซลล์ปอดเกิดการอักเสบสะสมเรื้อรัง จนกระทั่งปอดถูกทำลายลงเรื่อยๆ และทำให้สิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคเข้าสู่ปอดได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อปอดของผู้สูบบุหรี่จะเกิดการอักเสบที่รุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 

‘เลิกบุหรี่’ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ลดทรุด-เสี่ยงตายจากวายร้าย COVID-19

คำชวนพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

“ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่จะเลิกบุหรี่ เพราะคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงมีความเสี่ยงต่อโคโรนาไวรัส”... ศาสตราจารย์ คริสโตเฟอร์ วิตตี้ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของอังกฤษ

"การเลิกสูบบุหรี่เป็นทางเดียวที่จะช่วยลดการอักเสบของเซลล์ปอด ยับยั้งการที่เซลล์ปอดถูกทำลาย และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น" ...ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด 

ผลดีที่ร่างกายจะได้รับเมื่อเลิกบุหรี่

ตามรายงานจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษเผยผลดีที่ร่างกายจะได้รับเมื่อเลิกบุหรี่ว่า

  • การเลิกสูบบุหรี่เพิ่มโอกาสมีสุขภาพที่ดีได้ภายใน 20 นาที
  • หลังเลิกสูบบุหรี่หัวใจจะกลับสู่อัตราการเต้นปกติ
  • การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น
  • ความดันโลหิตก็เริ่มลดลง
  • ภายใน 72 ชั่วโมงเซลล์ที่แข็งแรงจะเริ่มแทนที่เซลล์ที่เสียหายในปอด
  • ปอดก็จะกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง