posttoday

จับจุดสังเกต COVID-19 vs ไข้หวัดทั่วไป

01 มีนาคม 2563

เมื่อไวรัสมาในช่วงเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หลายคนเกิดอาการเจ็บป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ และอาจกำลังวิตกกังวลว่าตัวเราเป็นเพียง "ไข้หวัดทั่วไป" หรือติด "ไวรัสโคโรนา COVID-19" กันแน่!! มาเช็กอาการป่วยด้วยตัวเราเองก่อนตัดสินใจไปหาหมอกันดีกว่า

ประการแรก : เข้าใจที่มาของโรค

ไข้หวัดธรรมดา มักเกิดจากเชื้อไวรัสไรโนไวรัส (Rhinovirus) 30-80% เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกับจมูก คือหวัดธรรมดา พบบ่อยมากในเด็ก และไวรัสอีกชนิดที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดคือ โคโรนาไวรัส (Coronavirus) 10-15% แต่เป็นไวรัสโคโรนาที่ค้นพบ และมีมานานแล้ว โดยมีการพบเชื้อไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์แล้ว 6 สายพันธุ์

โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 เกิดจาก ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งทำให้มีอาการปอดอักเสบรุนแรงได้ โดยเป็นเชื้อไวรัสที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่ นับเป็นสายพันธุ์ที่ 7 ของไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์ โดยมีการรายงานเป็นทางการเมื่อ 3 มกราคม ค.ศ. 2020 ว่าโรคปอดอักเสบที่ระบาดที่อู่ฮั่น ประเทศจีน มีสาเหตุจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019

จับจุดสังเกต COVID-19 vs ไข้หวัดทั่วไป  

ประการที่สอง : อาการของโรค

ไข้หวัดทั่วไป

  • ไข้ - มีไข้ต่ำๆ ถึงมีไข้สูง ผ่านไป 3-4 วัน อาการจะเริ่มดีขึ้น
  • ไอ จาม เสมหะ - อาจมีไอ จาม เล็กน้อย ผ่านไป 3-4 วัน อาการจะเริ่มดีขึ้น
  • ถ่ายเหลว ท้องเสีย - ไม่มีอาการท้องเสีย
  • การหายใจ - มีอาการรคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีน้ำมูกอุดตัน ทำให้หายใจไม่สะดวก
  • อาการปวดเมื่อย - รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดตามตัว ก่อนไข้ขึ้นสูงแล้วหาย

ไวรัสโคโรนา COVID-19

  • ไข้ - มีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศา
  • ไอ จาม เสมหะ - ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ นานติดต่อกันมากกว่า 4 วัน เริ่มมีเลือดปนเสมหะ
  • ถ่ายเหลว ท้องเสีย - บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ร่วมด้วย
  • การหายใจ - หายใจลำบากมีไอร่วมด้วย ในบางรายที่อาการรุนแรงปอดอักเสบ หรือปอดบวม
  • อาการปวดเมื่อย - ปวดเมื่อยตามตัว ทานอาหารไม่ค่อยได้

ประการที่สาม : ความรุนแรงของโรค

ไข้หวัดทั่วไป มักไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง และไม่มีอาการที่รบกวนชีวิตประจำวันมากนัก มีอาการอยู่ไม่นาน หากดูแลร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ อาการไข้หวัดจะค่อย ๆ หายไปเองใน 3-4 วัน

ไวรัสโคโรนา COVID-19 อาการรุนแรงที่สุดที่พบจากโคโรนาไวรัส คืออาการปอดอักเสบอันนำไปสู่การเสียชีวิต ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันตามความแข็งแรงของแต่ละคน เด็กอายุน้อย และวัยรุ่นจะมีอาการน้อยกว่าผู้สูงอายุ ผู้ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ และมักมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด หรือ โรคหัวใจการรักษาโรค โคโรนาไวรัส COVID-19 กับไข้หวัดทั่วไป

ประการที่สี่ : การรักษา

ไข้หวัดทั่วไป

  • พักผ่อนให้มากขึ้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ให้ยารักษาตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล ยาลดน้ำมูก เป็นยาที่ใช้ร่วมกับยาแก้ปวดและยาแก้คัดจมูก ช่วยให้ไข้หวัดหายได้เร็วยิ่งขึ้น ยาแก้ไอ คือยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการไอมีเสมหะ ซึ่งจะช่วยให้เสมหะนิ่มลงและขับออกได้ง่ายขึ้น

ไวรัสโคโรนา COVID-19

  • รักษาในห้องแยกที่มีความดันอากาศในห้องเป็นลบ
  • ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย ทางแพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคอง มีการให้ออกซิเจนหรือใส่ท่อช่วยหายใจตามความจำเป็น เป็นต้น

จับจุดสังเกต COVID-19 vs ไข้หวัดทั่วไป

ประการที่ห้า : การป้องกัน

  • ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน เมื่อต้องเดินทางออกไปนอกบ้าน เพราะเชื้อไวรัสนี้ติดต่อผ่านทางลมหายใจ สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ใส่หน้ากากอนามัยนอกจากป้องกันสารคัดหลั่งจากน้ำมูกน้ำลาย ยังป้องกันไม่ให้เราเอามือเข้าปากโดยไม่รู้ตัว
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำด้วยสบู่ หรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งควรมีปริมาณแอลกอฮอล์ 70-75% ขึ้นไป
  • ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่ไอ จาม หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด และมีมลภาวะเป็นพิษ
  • ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ฯลฯ
  • กินอาหารปรุงสุกใหม่ ไวรัสโคโรนาจะหมดสภาพลงอย่างรวดเร็วเมื่อถูกความร้อน เมื่อได้รับความร้อนที่ 75 องศา เพียง 5 นาที ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ จะช่วยป้องกันได้
  • รีบไปพบแพทย์ถ้ามีอาการไข้ หากมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ
  • ให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะหากเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยหลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้