posttoday

อยู่อย่างไรในวันที่ COVID-19 เข้าสู่การแจ้งเตือนระดับ 3

27 กุมภาพันธ์ 2563

สถานการณ์ปัจจุบัน และความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย กรณีโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประกาศหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น หลังกำหนดให้ COVID-19 เข้าสู่การแจ้งเตือนระดับ 3 ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14

สรุปใจความสำคัญ

• การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เริ่มจากเมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีน และต่อมาระบาดไปอีกหลายเมือง ปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อในหลายประเทศ 

• ขณะนี้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ตามประกาศของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ระงับเที่ยวบินเข้าออกจากเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 และขยายเวลาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และเลื่อนการเดินทางที่ไม่จำเป็นไปพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง 

• ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการระบาด หากมีไข้ ร่วมกับอาการ ทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางให้เจ้าหน้าที่ทราบ

อยู่อย่างไรในวันที่ COVID-19 เข้าสู่การแจ้งเตือนระดับ 3

อยู่อย่างไรในวันที่ COVID-19 เข้าสู่การแจ้งเตือนระดับ 3

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

• เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มโคโรนา ที่ทำให้มีไข้ และอาการระบบทางเดินหายใจ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจหอบเหนื่อย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

• เชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะทางการไอจามของผู้ที่มีเชื้อ

สถานการณ์ปัจจุบัน 

• การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มต้นที่ประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ต่อมาได้พบผู้ป่วยยืนยันในหลายประเทศทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 1,000 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 100 ราย และพบอัตราการเสียชีวิตจากโรคประมาณร้อยละ 2 ซึ่งร้อยละ 26.4 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่เป็นโรคหัวใจมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด ร้อยละ 10.5 รองลงมาคือ โรคเบาหวาน (ร้อยละ 7.3) และ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (ร้อยละ 6.3) 

• ขณะนี้มีหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คน และพบมีการระบาดภายในประเทศ (local transmission) เพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 พบมีรายงานการระบาดของโรครวม 35 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน เกาหลีใต้ อิตาลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิหร่าน อเมริกา ไทย มาเลเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม เยอรมัน สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส แคนาดา ฟิลิปปินส์ อินเดีย สเปน รัสเซีย อิสราเอล สวีเดน ศรีลังกา เนปาล เลบานอน อิรัก ฟินแลนด์ อียิปต์ กัมพูชา เบลเยี่ยม อัฟกานิสถาน บาห์เรน คูเวต และ โอมาน  

• ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2563 พบผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศไทย จำนวน 37 ราย มีอาการรุนแรง 2 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต 

• กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ดำเนินการเฝ้าระวังคัดกรอง และป้องกันควบคุมโรค ดังนี้ 

1) ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศดำเนินการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าออกประเทศ ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ และพรมแดน รวม 46 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และกระบี่ ท่าเรือ 6 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร แหลมฉบัง พาณิชย์เชียงแสน ภูเก็ต สมุย และกระบี่ และด่านพรมแดนทางบก 34 แห่ง 

2) แจ้งให้สถานพยาบาลทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางจากประเทศจีน มาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน หรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง ภายใน 14 วัน หรือเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ สัมผัสกับผู้ป่วยตามเกณฑ์เฝ้าระวัง 

3) การเฝ้าระวังในชุมชน โดยให้ความรู้ประชาชน เมื่อพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422

อยู่อย่างไรในวันที่ COVID-19 เข้าสู่การแจ้งเตือนระดับ 3

ความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย 

• เป็นที่ยอมรับกันว่า การคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วทำให้คนนิยมเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวที่มากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งของการแพร่กระจายเชื้อจากพื้นที่หนึ่งสู่พื้นที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ปัจจัยด้านเชื้อก่อโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการหายใจเอาละอองน้ำมูกน้ำลายเข้าสู่ร่างกาย และการสัมผัสใกล้ชิด เป็นวิธีการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นได้ง่ายหากไม่ป้องกัน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่เชื้อทั้งจากคนต่างชาติที่เข้ามาและจากคนไทยที่อาจได้รับเชื้อขณะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแล้วเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นการปฏิบัติตนในการป้องกันโรคจึงมีความสำคัญมากเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อแล้วทำให้เกิดการระบาดภายในประเทศ 

• ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยพบว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดคือนักท่องเที่ยวจีน ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทย ประมาณ 10 ล้านคน หรือ 3-4 หมื่นคนต่อวัน หลังจากที่มีข่าวการระบาดของโรคดังกล่าว ทางการจีนได้สั่งปิดเมืองและจำกัดการเดินทาง พร้อมทั้งห้ามบริษัททัวร์นำเที่ยวไปต่างประเทศ จึงทำให้ช่วงนี้นักท่องเที่ยวจีนที่มาประเทศไทยมีจำนวนลดลงมาก ปัจจัยด้านนักท่องเที่ยวไทยนั้นพบว่า คนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 10 ล้านคนต่อปี ฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทยไปต่างประเทศมีอยู่ 2 ช่วง คือ เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมของทุกปี จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทย ในปี 2562 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น จากรายงานขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น พบว่า ในปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น สูงถึง 1.13 ล้านคน สำหรับช่วงฤดูท่องเที่ยว (High Season) อยู่ระหว่างเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม ซึ่งดอกซากุระจะบานราวๆ ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเมษายน นอกจากนี้พบว่าคนไทยเดินทางไปประเทศจีนเฉลี่ยปีละ 6 แสนคน โดยไปกับบริษัททัวร์ประมาณ 2 แสนคน และท่องเที่ยวด้วยตนเองประมาณ 4 แสนคน 

วิธีป้องกันตนเองของนักเดินทางณ วันที่ 30 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่ยังไม่มีประกาศจำกัดการเดินทาง ดังนั้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 

อยู่อย่างไรในวันที่ COVID-19 เข้าสู่การแจ้งเตือนระดับ 3

 คำแนะนำประชาชน

• แนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศจีนและประเทศที่พบการระบาดของโรค 

• ระหว่างเดินทางในต่างประเทศขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม สวมใส่หน้ากากอนามัย 

• หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น 

• เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก ทั้งเนื้อสัตว์ ไข่ และผัก 

• หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น 

• ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ 

• รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 

• หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย แล้วล้างมือ และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

• หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 

จัดทำโดย: ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : AFP

ที่มา : กรมควบคุมโรค