posttoday

'ตับแข็ง' ไม่ต้องคอทองแดงก็เป็นได้

18 กุมภาพันธ์ 2563

รู้หรือไม่? คนส่วนใหญ่เข้าใจโรคตับแข็งผิด เกินครึ่งฝังใจว่าตับแข็งต้องมาจากพฤติกรรมการดื่ม แต่ความจริงแล้วตับแข็งแฝงมาจากอะไรได้บ้าง อยากรู้ต้องดูต่อ

'ตับแข็ง' ไม่ต้องคอทองแดงก็เป็นได้

ตับ เป็นอวัยวะภายในที่ใหญ่ที่สุด หน้าที่ของตับคือคอยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรค กำจัดเชื้อโรคจากเลือด สร้างโปรตีนที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือด สร้างน้ำดีในการดูดซึมไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมัน อีกทั้งตับยังเป็นแหล่งสะสมพลังงานสารอาหารและวิตามินในร่างกาย ซึ่งคนเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากไร้ตับ

แล้วถ้าตับเราเกิดแข็งล่ะ?

ตับแข็ง คือการที่ตับเกิดความเสียหาย มีพังผืดเกิดขึ้นทดแทนเซลล์ปกติจนขัดขวางการไหลของเลือดเข้าตับ ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ดังเดิม

ตามสถิติ ตับแข็ง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลกราว 25,000 คนในแต่ละปี และถูกจัดให้เป็นสาเหตุการตายที่เกิดจากโรคเป็นอันดับที่ 8

'ตับแข็ง' ไม่ต้องคอทองแดงก็เป็นได้

สาเหตุของตับแข็ง

1.ตับอักเสบจากการดื่มสุรา การดื่มสุราปริมาณมากเป็นเวลานานๆ มากกว่า 10 ปีขึ้นไป จะทำให้เกิดตับแข็งได้โดยปริมาณการดื่มสุราที่ทำให้ตับเกิดการบาดเจ็บนั้นต้องบอกว่าแตกต่างกันในแต่ละคน

  • สำหรับผู้หญิงเฉลี่ยปริมาณการดื่ม 2-3 ครั้ง/วัน ก็จะเกิดตับแข็งได้
  • ส่วนผู้ชายปริมาณการดื่ม 3-4 ครั้ง/วัน จึงจะเกิดตับแข็ง

เพราะว่าแอลกอฮอล์จะไปยับยั้งการทำงานของร่างกาย ยับยั้งการย่อยสลายของโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต ทำให้เกิดอันตรายต่อตับ

2.ตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบ C การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C จะทำให้ตับบาดเจ็บทีละน้อย โดยผู้ป่วยจะไม่รู้สึกมีอาการเจ็บเลย จนกระทั่งตับแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยที่มีไวรัสตับอักเสบ C ดื่มสุราร่วมด้วย ก็จะยิ่งทำให้ตับแข็งเร็วขึ้น

3.ตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบ B และ D การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B เป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่พบบ่อยที่สุดในทุกๆประเทศ ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาและประเทศทางยุโรปตะวันตก ลักษณะของไวรัสตับอักเสบ B จะเหมือนไวรัสตับอักเสบ C คือจะทำให้ตับมีการอักเสบทีละน้อย จนเป็นตับแข็งซึ่งใช้เวลาเป็นสิบปี ส่วนไวรัสตับอักเสบ D จะพบในผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบ B อยู่แล้ว โดยในประเทศไทยพบว่าส่วนใหญ่ไวรัสตับอักเสบ D ติดต่อจากการใช้เข็มฉีดยาในกลุ่มที่ใช้ยาเสพติด

4.ตับอักเสบจากภูมิคุ้มกันร่างกาย เป็นการอักเสบเรื้อรังที่ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ โดยเกิดจากภูมิคุ้มกันของเราไปทำลายเนื้อตับทีละน้อย

5.โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม การขาดสารบางอย่าง (Alpha-1 Antitrypsin deficiency) การมีธาตุเหล็กสะสมในตับและอวัยวะอื่นมากเกิน (Hemochromatosis) การที่ตับไม่สามารถขับธาตุทองแดงออกจากร่างกาย (wilson’s disease) การมีสารจำพวกแป้งสะสมในตับและอวัยวะอื่นมากเกินไป (Glycogen storage disease) สิ่งต่าๆเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้การทำงานของตับผิดปกติ โดยที่ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกผิดปกติอะไร จนในที่สุดกลายเป็นตับแข็ง

6.ไขมันสะสมในตับมากเกิน เกิดจากภาวะที่ไขมันเข้าไปแทรกอยู่ในเนื้อตับ และเกิดการสะสมเป็นจำนวนมากจนในที่สุดทำให้เซลล์ถูกเบียดเบียนและเกิดเป็นแผลเป็น ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน การขาดสารโปรตีน โรคอ้วน หัวใจขาดเลือดและการใช้ยาสเตรียรอยด์

7.การอุดกั้นของท่อน้ำดี เมื่อท่อน้ำดีมีการอุดตัน ตับก็จะไม่สามารถส่งน้ำดีออกมาช่วยย่อยอาหารได้ ทำให้น้ำดีเกิดการคั่งในตับและมีผลทำให้ตับบาดเจ็บ ในเด็กแรกเกิดมักเป็นจากการที่ท่อน้ำดีมีการลดจำนวนลง ส่วนในผู้ใหญ่อาจเกิดจากการผ่าตัดถุงน้ำดีแล้วไปผูกถูกท่อน้ำดี

8.ยา สารพิษ และการติดเชื้ออื่นๆ การใช้ยาเป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่จำเป็น การสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีตัวพยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ หรือภาวะที่หัวใจล้มเหลวบ่อยๆ ล้วนแต่ทำให้เลือดคั่งที่ตับจนในที่สุดเกิดภาวะตับแข็งได้นั่นเอง

'ตับแข็ง' ไม่ต้องคอทองแดงก็เป็นได้

สัญญาณเตือนอาการตับแข็ง

ผู้ป่วยจำนวนมากที่มีตับแข็ง มักไม่มีอาการใดเลยในระยะแรกๆ แต่จะมีอาการเมื่อมีพังผืดมาแทนที่เนื้อตับที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การทำงานของตับแย่ลง อาการที่แสดงให้เห็นได้คือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด หากเข้าขั้นรุนแรงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ได้แก่

1.ขาบวมและท้องมาน เมื่อตับสูญเสียการทำงานการสร้างโปรตีน (คืออัลบูลมินซึ่งเป็นโปรตีนที่ใช้ในการดึงน้ำไว้ในหลอดเลือด) จะลดลง ทำให้น้ำในหลอดเลือดรั่วออกมาสะสมที่ขา ทำให้ขาบวมและมีน้ำในช่องท้องทำให้เกิดท้องมาน

2.รอยช้ำและเลือดออก เมื่อตับไม่สามารถสร้างโปรตีนที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยจึงมีรอยช้ำได้ง่าย รวมทั้งเลือดออกง่ายและหยุดยากด้วย

3.ภาวะเหลือง(ดีซ่าน) จะมีอาการเหลืองที่ตาและตามร่างกาย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับบิลิรูบิน (Bilirubin) ออกจากร่างกายได้ จึงทำให้ปริมาณสารบิลิรูบินในกระแสเลือดมากเกินไปจนเกิดภาวะตัวเหลืองหรือดีซ่านนั่นเอง

4.อาการคัน เนื่องจากน้ำดีไปสะสมตามผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง

5.นิ่วในถุงน้ำดี ตับแข็งทำให้น้ำดีที่สร้างไม่สามารถถูกส่งไปยังถุงน้ำดีได้อย่างปกติ ทำให้เกิดการคั่งค้างของนำดีจนเกิดเป็นนิ่วในที่สุด

6.สารพิษในเลือดและสมองสูงขึ้น ภาวะตับแข็งทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดสารพิษออกจากเลือด ทำให้ปริมาณสารพิษจากการย่อยสลายของอาหารและจากร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จึงมีผลต่อสมอง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ซึม จนอาจถึงขั้นเสียชีวิต

7.ภาวะไวต่อการเกิดพิษจากยา เนื่องจากตับทำหน้าที่ในการกรองยาออกจากเลือดน้อยลง ทำให้ยาที่รับประทานออกฤทธิ์นานขึ้น และอาจสะสมในร่างกายจนอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้

8.ภาวะความดันในระบบหลอดเลือดดำของตับสูง โดยปกติเลือดจากลำไส้และม้ามจะไหลเข้าสู่ตับโดยผ่านทางหลอดเลือดดำ ที่เรียกว่า Portal Vein เมื่อตับแข็งเลือดก็จะไหลเวียนเข้าสู่ตับได้ช้าลง ทำให้ความดันสูงขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดดำบริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหารขยายตัวจนกลายเป็นหลอดเลือดดำขอด ที่เรียกว่า Varix ซึ่งหลอดเลือดดำขอดเหล่านี้มีผนังบางและแตกรั่วง่ายจึงอาจทำให้เกิดภาวะตกเลือดในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระดำเหลวหรืออาเจียนเป็นเลือด จนถึงแก่ชีวิตได้

9.โรคติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคตับแข็งมักมีโอกาสติดเชื้อและเป็นโรคง่ายกว่าคนปกติเพราะภูมิคุ้มกันต่ำนั่นเอง

ตับแข็งรักษาไม่หาย!!!

ความน่ากลัวขั้นสุดท้ายของตับแข็ง อยู่ที่การรักษาเพราะตับแข็งนั้นไม่สามารถรักษาให้ตับกลับมาดีเท่าเดิมได้ หลักของการรักษาตับแข็งนั้น เพื่อต้องการให้เนื้อตับไม่ถูกทำลายมากขึ้น หรือช่วยชะลอความเสียหาย และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนลง การรักษาของแพทย์จะมุ่งเน้นไปที่สาเหตุของการเกิดโรค อาทิ การใช้ยาประเภทต่างๆ การส่องกล้องรักษา หรือถ้าตับเสียหายมากหรือมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นจนควบคุมไม่ได้อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนตับได้ผลดีมีอัตราความสำเร็จถึง 80-90%

ผู้ป่วยจะต้องใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำร้ายสุขภาพ ส่งผลเสียหายต่อตับ และทำให้ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น หยุดดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ หยุดทานยาที่เคยทานมานาน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ตับเสียหาย ลดอาหารเค็มกรณีมีภาวะท้องมาน เป็นต้น

ภาพ Freepik