posttoday

ปอดอักเสบ ภัยสุขภาพที่เราหลีกเลี่ยงได้

12 พฤศจิกายน 2562

รู้หรือไม่ "ปอดอักเสบเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย" แต่โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อนั้นมีความอันตรายต่อเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เนื่องจากบางครั้งหากติดเชื้ออาจรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

รู้หรือไม่ "ปอดอักเสบเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย" แต่โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อนั้นมีความอันตรายต่อเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เนื่องจากบางครั้งหากติดเชื้ออาจรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ปอดอักเสบ ภัยสุขภาพที่เราหลีกเลี่ยงได้

ในช่วงปลายปีที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเช่นนี้ หลายครั้งที่เราเคยได้ยินว่าผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มักมีอาการปอดบวมแทรกซ้อนตามมา ทำให้แทนที่จะหายจากโรคหวัด กลับต้องรักษาตัวจากปอดบวมต่อเนื่องไปอีกพักใหญ่ ในกรณีนี้หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วปอดบวมนั้นแท้จริงเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเป็นแล้วจะอันตรายหรือไม่ และใครบ้างที่เสี่ยงต่อปอดบวม

เรื่องนี้คุณหมอที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ นายแพทย์เดช จงนรังสิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีคำตอบ

คุณหมออธิบายไว้ว่า จริง ๆ แล้วอาการอักเสบของเนื้อปอดที่เรียกว่าปอดบวม หรือโรคปอดอักเสบ (Pneumonitis) นั้น เกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ จากการติดเชื้อหรือที่เรียกว่า Pneumonia ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา จนทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การหายใจเอาฝุ่น ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจ ก็อาจทำให้เกิดภาวะปอดบวมได้เช่นเดียวกัน โดยทั่วไปโรคปอดอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยแต่โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อนั้นมีความอันตรายต่อเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เนื่องจากบางครั้งหากติดเชื้ออาจรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

โรคปอดอักเสบนั้นสามารถเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคปอดอักเสบนั้นสามารถเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ตามสถิติแล้วโรคปอดอักเสบสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยแต่ในกรณีของปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมักพบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ยังสามารถพบได้ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV, ผู้ป่วยโรคเอดส์, ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะผู้ป่วยมะเร็งระหว่างการให้เคมีบำบัด หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่ก็ถือว่าเป็นคนที่มีความเสี่ยงเช่นกัน

สาเหตุของโรคปอดอักเสบ

สาเหตุต่างๆ ของการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ ทั้งจากการไอ จาม หรือหายใจรดกัน ซึ่งเป็นการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็กเข้าสู่ปอดโดยตรง ตลอดจนการสำลักเชื้อที่สะสมอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อที่อวัยวะส่วนอื่นมาก่อนอาจเกิดภาวะการแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิตจนลุกลามไปสู่ปอดและอวัยวะข้างเคียงได้

ปอดอักเสบ ภัยสุขภาพที่เราหลีกเลี่ยงได้

อาการที่ควรสังเกต

ข้อสังเกตง่ายๆ สำหรับผู้ที่มีอาการของปอดติดเชื้อคือไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ หายใจเร็ว หายใจหอบ หายใจลำบาก มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่นคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียอ่อนเพลีย หากเกิดในผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม ความรู้สึกสับสน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ ส่วนเด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ ซึ่งระดับความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม หากสำรวจดูแล้วว่าสิ่งที่เป็นมีอาการเบื้องต้นของปอดอักเสบควรไปพบแพทย์ทันที เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยโรคปอดอักเสบโดยใช้การซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย เช่น ฟังเสียงปอด และเอกซเรย์ปอด นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือด เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ขั้นต่อมาคือการตรวจวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดว่าลดลงหรือไม่และสุดท้ายคือการตรวจและเพาะเชื้อจากเสมหะและเลือด เพื่อหาชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคจากนั้นจึงจะรักษาการติดเชื้อร่วมกับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นควบคู่กันไป

ดังที่กล่าวตั้งแต่แรกว่าโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้ออาจนั้นอาจมีความรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ การป้องกันโรคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในปัจจุบันกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็กเล็กผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคประจำตัวบางอย่างสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) สำหรับป้องกันการติดเชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่เรียกกันว่าเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อได้เช่นกัน

ข้อแนะนำการปฏิบัติตัว

เพื่ออยู่ให้ห่างไกลจากการเกิดโรคปอดอักเสบ เริ่มจากการไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะไปทำลายกระบวนการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตามธรรมชาติของปอดข้อถัดมาต้องดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น หมั่นล้างมือเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่นหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็นเมื่อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรักษาให้หายขาดแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้ ยังควรสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ข้อมูล : นายแพทย์เดช จงนรังสิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ภาพ : Freepik