posttoday

นอนกลางวันแบบพอดีๆ ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

12 กันยายน 2562

ผลวิจัยชี้นอนกลางวันมีประโยชน์จริง ไม่ใช่อ้างลอยๆ

ผลวิจัยชี้นอนกลางวันมีประโยชน์จริง ไม่ใช่อ้างลอยๆ

บางคนอาจมองว่าคนที่งีบหลับระหว่างวันเป็นคนขี้เกียจหรืออู้งาน แต่จริงๆ แล้วการงีบหลับมีประโยชน์มากกว่าที่คิด หากเรารู้จักงีบในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะนอกจากจะช่วยทำให้เราหายง่วงแล้ว ยังทำให้สมองปลอดโปร่ง ช่วยให้ร่างกายและจิตใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

และล่าสุดนี้ยังมีงานวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโลซานของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ติดตามอาสาสมัคร 3,462 คน อายุระหว่าง 35-75 ปี เป็นเวลา 5 ปีเพื่อศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างระยะเวลาและความถี่ในการนอนกลางวัน กับความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ยืนยันว่าการงีบตอนกลางวันมีผลดีกับสุขภาพจริงๆ

โดยงานวิจัยพบว่า กลุ่มอาสาสมัครที่งีบ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 5 นาที-1 ชั่วโมง มีโอกาสเกิดโรคหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว น้อยกว่าคนที่ไม่นอนกลางวันเลยถึง 48% ขณะที่การงีบนานและถี่กว่านี้อาจเกิดผลเสียกับร่างกายมากกว่าผลดี

แล้วต้องงีบอย่างไรจึงจะได้ผลดีล่ะ

หากต้องการให้การงีบมีประสิทธิภาพมากที่สุดให้ทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • งีบสั้นๆ อย่างที่ผลวิจัยบอกว่าไม่ควรงีบเกิน 1 ชั่วโมง
  • งีบช่วงบ่ายต้นๆ การงีบหลัง 15.00 น.เป็นต้นไปอาจกระทบกับการนอนในช่วงกลางคืน หากงีบใกล้กับเวลานอนตอนกลางคืนมากเกินไป อาจทำให้ความง่วงนอนในช่วงกลางคืนลดลงหรือนอนไม่หลับ
  • สร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับการงีบ เช่น เลือกห้องที่มืดมิด เงียบสงบ อุณหภูมิห้องพอเหมาะและมีพื้นที่เพียงพอ บางคนอาจสวมผ้าปิดตาหรือที่อุดหู เพื่อช่วยให้นอนกลางวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ให้เวลาร่างกายปรับตัวหลังตื่นนอน ควรออกไปเดินรับแสงแดดเพื่อตั้งนาฬิกาชีวิตอีกครั้ง และควรเว้นช่วงให้ร่างกายตื่นตัวก่อนกลับไปปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องอาศัยการตอบสนองแบบฉับพลัน