posttoday

'ไมโครพลาสติก' ภัยคุกคามห่วงโซ่อาหาร กระทบใครมากที่สุด?

11 กันยายน 2562

การปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลที่กำลังส่งผลสะท้อนกลับมายังมนุษย์

การปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลที่กำลังส่งผลสะท้อนกลับมายังมนุษย์

 

'ไมโครพลาสติก' ภัยคุกคามห่วงโซ่อาหาร กระทบใครมากที่สุด?

จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก "ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง" เผยผลการศึกษาไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทู บริเวณเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง โดยเก็บตัวอย่างจากท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู Rastrelliger brachysoma (Bleeker, 1851)

'ไมโครพลาสติก' ภัยคุกคามห่วงโซ่อาหาร กระทบใครมากที่สุด?

พบว่า ปลาทูขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 66.53 ± 1.136 กรัม (ค่าเฉลี่ย ± SE) ความยาวมาตรฐานเฉลี่ย 17.46 ± 0.087 (ค่าเฉลี่ย ± SE) เซนติเมตร มีไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78.04 ± 6.503 ชิ้น/ตัว ประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นเส้นใย (สีดำน้ำเงิน แดง และเขียว) ชิ้น (สีดำ ขาว แดง น้ำตาล-ส้ม ฟ้า-น้ำเงิน และเหลือง) แท่งสีดำ และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96

เรื่องนี้ทำให้หลายคนหันกลับมาทบทวนตัวเองถึงพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก หลอด แปรงสีฟัน ด้ามปากกา ซึ่งจริงๆ แล้วพวกมันก็คือกลุ่มของพอลิเมอร์อินทรีย์ที่ได้จากปิโตรเลียม โดยรวมถึงพอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride,PVC), ไนลอน (Nylon), พอลิเอทิลีน (Polyethylene, PE), พอลิสไตรีน (Polystyrene, PS) และพอลิโพรไพลีน (Polypropylene, PP)

'ไมโครพลาสติก' ภัยคุกคามห่วงโซ่อาหาร กระทบใครมากที่สุด?

ไมโครพลาสติก (Microplastics) คืออะไร?

ไมโครพลาสติกคือ ชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาด 1 นาโนเมตร ถึง 5 มิลลิเมตร มีที่มาจากหลายแหล่ง อาทิ ไมโครพลาสติกบนบกซึ่งส่วนมากมาจากการเสียดสีของยางรถยนต์กับถนน หรือสีที่ใช้ทาอาคารหรือยานพาหนะ แม้กระทั้งผ้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ นอกจากนี้ ยังมีการผลิตไมโครบีดส์ ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกจิ๋วที่เป็นส่วนผสมในสบู่ล้างหน้า เจลขัดผิว ไมโครพลาสติกเหล่านี้ล้วนสามารถลอดผ่านจากกระบวนการบำบัดน้ำเสียลงสู่ทะเลได้ อีกทั้งขยะพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ที่ล่องลอยอยู่ในทะเล เมื่อถูกรังสียูวีจากดวงอาทิตย์จะสลายโครงสร้างเป็นชิ้นเล็กลงกลายเป็นไมโครพลาสติก โดยเฉพาะในมหาสมุทรน้ำอุ่นพลาสติกขนาดใหญ่จะย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติก

ทั้งนี้ ไมโครพลาสติกสามารถดูดซึมสารพิษที่มีอยู่ในทะเล ดังนั้น ยิ่งอยู่ในน้ำทะเลนาน ไมโครพลาสติกจะมีความเป็นพิษเพิ่มสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตตั้งแต่ต้นห่วงโซ่อาหารอย่างเช่นแพลงตอนสัตว์ในทะเลจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับสิ่งเหล่านี้เข้าไป ส่วนสิ่งมีชีวิตท้ายห่วงโซ่อาหารอย่างเช่นมนุษย์ อาจได้รับสารพิษตกค้าง เพราะไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กสามารถผ่านผนังเซลล์ ซึ่งมีนักวิจัยนำเสนอความเป็นไปได้ว่าอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้อาจโดนลมพัดและล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ปอดของสิ่งมีชีวิตได้ เป็นเหมือนมลภาวะทางอากาศเช่นเดียวกับไอเสียจากรถยนต์

แม้ขณะนี้จะยังไม่มีผลการศึกษาผลกระทบจากไมโครพลาสติกในคนอย่างชัดเจน แต่มีการวิจัยผลกระทบในสัตว์น้ำอย่างเช่น ปลาและกุ้ง พบว่าไมโครพลาสติกที่สะสมในตัวสัตว์ขนาดเล็กจะทำให้เนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารเป็นแผล และยับยั้งการเจริญเติบโตของสัตว์ ดังนั้น หากเราบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนก็มีโอกาสสะสมก่อโรคต่างๆ ขึ้นได้ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในคน เพียงแต่ระยะเวลาที่จะแสดงอาการอาจจะช้ากว่าสัตว์ขนาดเล็ก

นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกยังเป็นวัสดุที่ไม่ละลายน้ำ พวกมันจึงยังคงปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล เมื่อมนุษย์นำน้ำทะเลมาผลิตเป็นเกลือเพื่อปรุงอาหาร ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่ไมโครพลาสติกจะปนเปื้อนมากับเกลือด้วย ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ยังไม่มีแบคทีเรียที่พัฒนาตัวเองจนสามารถย่อยสลายพันธะคาร์บอนที่พบในพลาสติกเหล่านี้ได้ การสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไมโครพลาสติก รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะรักษาสมดุลในระบบนิเวศเอาไว้ให้ได้ ก่อนที่ภัยร้ายที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เองจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเรา

 

'ไมโครพลาสติก' ภัยคุกคามห่วงโซ่อาหาร กระทบใครมากที่สุด?

การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในอาหารและมนุษย์

หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย (The Environment Agency Austria) ได้นำอุจจาระจากผู้ร่วมการทดลอง 8 คน จาก 8 ประเทศอย่าง ออสเตรีย อิตาลี ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหราชอาณาจักร โดยแต่ละคนได้รับประทานอาหารประจำวันแบบปกติ (ผู้ที่ร่วมการทดลองไม่มีใครทานมังสวิรัต และมี 6 คนที่ทานปลาทะเล) ก่อนที่จะส่งอุจจาระของพวกเขาให้หน่วยงานได้วิเคราะห์

ผลที่ได้คือ ตรวจเจอไมโครพลาสติกจากอุจจาระของผู้ที่ร่วมการทดสอบทุกราย โดยไมโครพลาสติกที่พบมีตั้งแต่ พอลิเอทธิลีนเทเรฟธาเลท (ใช้ทำขวดน้ำดื่ม) โพลีพรอพีลีน (เช่น ถุงร้อนพลาสติกบรรจุอาหาร แก้วโยเกิร์ต ) ไปจนถึง โพลีไวนิลคลอไรด์ หรือ PVC (เช่น ฟิล์มห่ออาหาร) เฉลี่ยแล้วพบว่าในแต่ละ 10 กรัมของอุจจาระจะเจออนุภาคของไมโครพลาสติกจำนวน 20 ชิ้น

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า พบไมโครพลาสติกผสมอยู่ในเกลือ โดยเป็นผลการศึกษาร่วมระหว่างศาสตราจารย์ซึง-คยู คิม (Seung-Kyu Kim) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินชอน และกรีนพีซ เอเชียตะวันออก เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก (พลาสติกขนาดจิ๋ว) ในเกลือ พบไมโครพลาสติกในเกลือจากแบรนด์ต่างๆ จากทั่วโลก ผลวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ามลพิษขยะพลาสติกไม่ได้เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล เพียงอย่างเดียว แต่มลพิษขยะพลาสติกที่พวกเราสร้างขึ้นกำลังคุกคามเราอย่างเงียบๆ

'ไมโครพลาสติก' ภัยคุกคามห่วงโซ่อาหาร กระทบใครมากที่สุด?

ไมโครพลาสติกทำอะไรกับร่างกายเรา

เมื่อไมโครพลาสติกเหล่านี้หลุดรอดเข้าไปอยู่ในร่างกายของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวนั้น เราอาจเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่ตรวจสอบการหลุดรอดของไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกาย และข่าวร้ายก็คือพลาสติกเล็กจิ๋วพวกนี้มีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า BPA หรือบิสฟีนอลเอ สารตัวนี้จะไปรบกวนการทำงานของระบบในร่างกาย รบกวนการทำงานการปล่อยฮอร์โมนเอสโทรเจน

ด้วยระบบการจัดการขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ล้มเหลว เป็นสาเหตุหลักอีกประการที่ทำให้ขยะพลาสติกไปกองอยู่ในมหาสมุทร นอกเหนือจากปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน กิจกรรมต่างๆของมนุษย์ที่สร้างผลกระทบ มีความเข้าใจไม่เพียงพอถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากพฤติกรรมของเรา ช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล รวมทั้งขาดแหล่งเงินทุน

แม้ว่าในการประชุม Our Ocean (พ.ศ.2561) บริษัทผู้ผลิตอาหารและน้ำดื่มยักษ์ใหญ่ต่างออกมาให้คำมั่นจะปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลทั้งหมด 100% ภายในปี ค.ศ. 2020-2030 ซึ่งถ้ามองจากตัวเลขที่ขยะรีไซเคิลพลาสติกสามารถนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้จริงเพียง 9% ก็คงไม่ช่วย เพราะอีก 91% ก็จะไปสิ้นสุดที่หลุมฝังกลบ เตาเผาขยะ หรือมหาสมุทรของเรา

ไมโครพลาสติกจึงเป็นผลมาจากที่เกิดจากการใช้พลาสติก ซึ่งได้แฝงตัวอยู่รอบตัวเราโดยที่เราคาดไม่ถึง และเป็นภัยอันตรายกับสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมทั้งมนุษย์ซึ่งถือว่าอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ดังนั้น  เราควรตระหนักถึงการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีบางบริษัทที่มีการนำพลาสติกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือนำวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติมาใช้แทนพลาสติก แต่นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนยังมีราคาสูง หากทุกคนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการกระทำที่ช่วยในการลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) หรือแปรรูป (Recycle) พลาสติก อาจมีทางช่วยบรรเทาหรือแม้กระทั้งลดปัญหาได้ในอนาคต

 


ภาพ : Pixabay / Freepik / greenpeace.org / ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง