posttoday

รู้สู้โรค 10 ภาวะภัยสุขภาพที่ต้องระวังหลังน้ำท่วม

03 กันยายน 2562

โพสต์ทูเดย์ ขอส่งกำลังใจให้ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม แถมความเป็นห่วงด้านสุขภาพ ด้วย 10 โรคและภัยที่ต้องเฝ้าระวังหลังปัญหาน้ำท่วม

โพสต์ทูเดย์ ขอส่งกำลังใจให้ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม แถมความเป็นห่วงด้านสุขภาพ ด้วย 10 โรคและภัยที่ต้องเฝ้าระวังหลังปัญหาน้ำท่วม

รู้สู้โรค 10 ภาวะภัยสุขภาพที่ต้องระวังหลังน้ำท่วม

1.โรคผิวหนังที่ต้องระวัง ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังของเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง 

สาเหตุ - เกิดจากการย่ำน้ำที่มีเชื้อโรค

อาการแสดง - มีอาการเท้าเปื่อย เป็นหนอง ต่อมาคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย

การป้องกันและรักษา

  • ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น ใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ ล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น
  • หลังย่ำน้ำใช้น้ำสะอาดใส่ถังพร้อมใส่เกลือแกง 1-2 ช้อนชา แช่เท้า 10 นาที เช็ดให้แห้ง
  • หากมีอาการเท้าเปื่อย คัน ให้ทายารักษาตามอาการ หากมีแผลควรเช็ดด้วยแอลกอฮอล์แล้วทายาฆ่าเชื้อ

2.โรคตาแดง

สาเหตุ - ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา หรือน้ำมูกของผู้ป่วย และจากการใช้สิ่งของร่วมกัน หรือจากแมลงวันแมลงหวี่ตอมตา

อาการแสดง - หลังได้รับเชื้อ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หลังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง โดยอาจเริ่มจากตาข้างหนึ่งก่อนแล้วลามไปตาอีกข้าง ผู้ป่วยมักหายเองใน 1-2 สัปดาห์ แต่อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ

การป้องกันและรักษา

  • การป้องกันเมื่อฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด
  • หมั่นล้างมือให้สะอาด ไม่ขยี้ตา ผู้ป่วยควรนอนแยกจากคนอื่น
  • หากอาการไม่ทุเลาภายใน1 สัปดาห์ ต้องรีบพบแพทย์ รักษาโดยการรับยาหยอดตาจากแพทย์ ทานยาแก้ปวดลดไข้ตามอาการ และหมั่นล้างมือบ่อยๆ

3.โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่

สาเหตุ - เกิดจากเชื้อไวรัส โดยแพร่กระจายในลมหายใจ เสมหะ น้ำลาย น้ำมูก และสิ่งของใช้ของผู้ป่วย

อาการแสดง - มักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวมาก มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จามเจ็บคอ เบื่ออาหารและอ่อนเพลีย

การป้องกันและรักษา

  • ผู้ป่วยควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม ป้องกันการแพร่เชื้อ เป็นไข้นานเกิน 7 วัน หรือมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์

4.โรคปอดบวม

สาเหตุ - เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด ทำให้ปอดอักเสบ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมหากมีการสำลักน้ำ หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอด มีโอกาสเป็นปอดบวม ซึ่งติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าไป หรือจากการคลุกคลีกับผู้ป่วย

อาการแสดง - มีอาการสงสัยว่าเป็นปอดบวม เช่น ไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว

การป้องกันและรักษา

  • ต้องรีบพบแพทย์ทันที หามีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว
  • ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น และรักษาร่างกายในอบอุ่นอยู่เสมอ

5.โรคหัด

สาเหตุและการติดต่อ - เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบบ่อยในเด็กเล็ก หากมีโรคแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้การติดต่อได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด

อาการแสดง - จะมีอาการหลังได้รับเชื้อ 8-12 วัน จะเริ่มมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ในช่วง 1-2 วันแรกไข้จะสูงขึ้น และจะสูงเต็มที่ในวันที่สี่เมื่อมีผื่นขึ้น ผื่น จะมีลักษณะนูนแดง ติดกัน เป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นในใบหน้าบริเวณชิดขอบผมแล้วแพร่กระจายไปตามลำตัว

การป้องกันและรักษา

  • ให้การรักษาตามอาการ แยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัด
  • ถ้ามีผื่นออกแล้วยังมีไข้สูง หรือไข้ลดสลับกับไข้สูงไอมาก หรือหอบ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที

รู้สู้โรค 10 ภาวะภัยสุขภาพที่ต้องระวังหลังน้ำท่วม

6.โรคมือ เท้า ปาก

พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

อาการแสดง - หลังได้รับเชื้อ 3-6 วัน จะเริ่มแสดงอาการป่วย มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลียอีก 1-2 วัน เจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้เพราะมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม พบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็กที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า อาการจะทะเลาและหายไปปกติภายใน 7-10 วัน แต่หากมีไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที

7.โรคอุจจาระร่วง

สาเหตุ - เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่นอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ แมลงวันตอม ทิ้งค้างคืน

อาการแสดง - ผู้ป่วยจะมีอาการอุจจาระเหลวอย่างน้อย 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นน้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมงหรือถ่ายมีมูกเลือดหรือมูกปนเลือด อาเจียน หากมีอาการรุนแรงจะถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว คราวละมากๆ

การป้องกันและรักษา

  • ดื่มน้ำ และเลือกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ
  • ล้างมือด้วยสบู่ก่อนเตรียมและปรุงอาหาร ก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย
  • ถ้าอาการไม่มากให้ดื่มผงเกลือแร่ผสมน้ำต้ม แต่ถ้าไม่มีผงเกลือแร่ ให้ดื่มน้ำโดยสามารถผสมเอง
  • ถ้ามีอาการมาก วิงเวียนศีรษะ มือเท้าเย็น มีไข้สูง ชักหรือซึมมาก ควรพบแพทย์ทันที

8.โรคฉี่หนู

สาเหตุ - เกิดจากเชื้อที่ปนมากับปัสสาวะสัตว์ ซึ่งมีหนูเป็นพาหะสำคัญ ปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง หรือพื้นดินชื้นแฉะ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายด้วยการไชเข้าทางบาดแผลหรือเข้าทางเยื่อบุอ่อนๆ เช่น ง่ามมือ ง่ามเท้า เยื่อบุตา ขณะที่แช่น้ำ กินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคฉี่หนู

อาการแสดง - มักมีอาการหลังได้รับเชื้อ 2-10 วัน มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา เจ็บคอ ท้องเดิน เยื่อบุตาแดง หรือมีเลือดออกที่ตาขาว หรือมีตาเหลืองเป็นดีซ่าน มีปัสสาวะออกน้อยหรือหอบ

การป้องกันและรักษา

  • ป้องกันโดยสวมรองเท้าบู๊ทหากต้องลุยน้ำ
  • เมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว รีบชำระร่างกายให้สะอาด
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกทันที และเก็บอาหารในที่มิดชิด
  • ไม่ควรหายามากินเอง ต้องไปพบแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำย่ำโคลนนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำต้องชำระร่างกายให้สะอาด ควรสวมรองเท้าบู๊ทและดูแลที่พักให้สะอาดไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนู

9.โรคไข้เลือดออก

สาเหตุ - มียุงลายเป็นพาหะ

อาการแสดง - จะมีไข้สูงตลอดทั้งวันประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะเริ่มลง ระยะนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หรือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ หรือไอปนเลือด อาจมีภาวะช็อก และเสียชีวิต

การป้องกันและรักษา

  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  • ระวังไม่ให้ยุงกัดในเวลากลางวัน โดยการนอนกางมุ้งหรือทายากันยุง
  • ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามใช้แอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
  • ให้เช็ดตัวจากนั้นรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์

10.โรคมาลาเรีย

สาเหตุ - มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ

อาการ - แสดงหลังได้รับเชื้อ 7-10 วัน จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด ในระยะแรกอาจมีไข้สูงตลอดได้ บางรายมีอาการหนาวสั่น หรือเป็นไข้ จับสั่น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค ในรายที่อาการรุนแรงอาจเสียชีวิต

การป้องกันและรักษา

  • ควรนอนกางมุ้ง ทายากันยุง
  • สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายให้มิดชิด
  • ถ้ามีอาการป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที