posttoday

ฝันเอสเอ็มอีไทย ขยายไกลบุกตลาดโลก

26 มกราคม 2562

เรื่อง : อณุสรา ทองอุไร/วันวิสา เหมือนศรี

เรื่อง : อณุสรา ทองอุไร/วันวิสา เหมือนศรี


นโยบายของรัฐบาลที่มีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)-(Small-and Medium-size Enterprises, SME) ให้เติบโตและอยู่รอด เพราะโดยเฉลี่ยแล้วอายุเอสเอ็มอีจะอยู่รอดได้แค่ 3-5 ปีเท่านั้น เนื่องจากยังขาดแคลนด้านเงินทุน ความสามารถในการบริหารจัดการบุคลากร

สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะตลาดในอนาคตไม่ใช่แค่ 60 ล้านคนในประเทศอีกต่อไป แต่คือคนทั้งโลก การปรับตัวของเอสเอ็มอีในยุคปัจจุบัน รวมทั้งการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตนเอง สร้างนวัตกรรมเพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์ซ้ำกับสินค้าของรายอื่น การรวมกลุ่มกับผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง

ฝันเอสเอ็มอีไทย ขยายไกลบุกตลาดโลก

เศรษฐกิจดิจิทัลพาเอสเอ็มอีไทยบุกโลก

รายงานวิจัยในชื่อ “Global is the New Local : The Changing International Trade Patterns of Small Businesses in Asia Pacific” งานสำรวจและวิจัยนี้ถูกจัดทำขึ้นโดย Harris Interactive สนับสนุนโดยเฟดเอ็กซ์ เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสสำหรับการส่งออกในตลาดโลก และความท้าทายต่างๆ ที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องเผชิญ

ในปัจจุบันการส่งออกของธุรกิจเอสเอ็มอีสู่นอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 71% คิดเป็นอัตราการส่งออกข้ามภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 254% เมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ในภาคการส่งออกต่างลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ และใช้ประโยชน์จากรูปแบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ เอสเอ็มอีจำนวนมากต่างยอมรับและปรับใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 โดยคาดว่าจะมีผู้หันมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของประเทศไทย ผลสำรวจจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่า ในปี 2561 เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเติบโตขึ้นราว 20% และคาดว่าในปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกเป็น 24.6%

ฝันเอสเอ็มอีไทย ขยายไกลบุกตลาดโลก

พร้อมกันนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลและส่งเสริมกิจการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้จัดสรรงบประมาณจำนวนสูงถึง 1,200 ล้านบาท (37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2561 เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีให้มีความเติบโต ทั้งในส่วนของผู้ลงทุนและผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนผลักดันให้เกิดพัฒนาการด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ สสว.มีเป้าหมายที่จะยกระดับการตระหนักรู้ของเอสเอ็มอีในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล และการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และช่วยส่งมอบประสบการณ์โดยรวมที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า

รายงานข้อมูลเชิงลึกชิ้นนี้ ร่วมกับแรงขับเคลื่อนของรัฐบาลไทยในการสนับสนุนเอสเอ็มอี แสดงให้เห็นว่าการค้าออนไลน์กำลังจะพลิกโฉมหน้ารูปแบบการทำธุรกิจของโลกใบนี้ โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวผลักดันอยู่เบื้องหลัง ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นผู้นำระดับโลกในเรื่องอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแบบ B2C โดยมียอดการค้าในไตรมาสแรกของปี 2561 คิดเป็น 40% ของยอดขายอี-คอมเมิร์ซจากทั่วโลก

ฝันเอสเอ็มอีไทย ขยายไกลบุกตลาดโลก

ในประเทศไทย รายได้จากอี-คอมเมิร์ซในปี 2561 ทั้งสิ้นมีจำนวน 7,030 ล้านบาท และคาดว่าจะสูงขึ้นอีกโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (ปี 2561-2565) อยู่ที่ 13.2% ด้วยหลักการข้อหนึ่งของไทยแลนด์ 4.0 ที่ว่า “จะสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจผ่านระบบเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และการสร้างสรรค์ จึงทำให้เอสเอ็มอีไทยหลายรายเริ่มลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตต่อไปในต่างแดนได้

“Global Need” จับกลุ่มย่อยในตลาดโลกที่ใช่

ในปี 2562 นี้ สสว.ได้ร่วมมือกับสถาบันอาหาร และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาช่องทางการตลาด สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมุ่งเน้นสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์ของใช้ ของตกแต่ง ของขวัญและของที่ระลึก ในการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดและสร้างรายได้เพิ่ม

มีการจัดอบรมสัมมนาความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศและรับสมัครผู้ประกอบการ ตลอดจนจัดกิจกรรมขยายช่องทางการตลาดภายในและต่างประเทศ ซึ่งในปี 2562 นี้ จะคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติรวมทั้งสิ้น 8 งาน ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ส.ค. ได้แก่ มหกรรมการค้าสู่ตลาดโลก (Bloom Bazaar) งานเดียวที่เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีได้ขยายเวทีการค้าสู่ตลาดโลก จะคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมงานภายใต้โครงการนี้มากถึง 192 กิจการ ไปร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศต่างๆ รวมทั้งสิ้น 8 งาน คือ

1.งาน Ambiente Frankfurt ณ ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 8-12 ก.พ. 2562 จำนวนผู้ประกอบการ 10 กิจการ

2.งาน Thai fair 2018 ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เดือน มี.ค. 2562 จำนวนผู้ประกอบการ 30 กิจการ

3.งาน Malaysia International Halal Showcase ณ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 3-6 เม.ย. จำนวนผู้ประกอบการ 30 กิจการ

4.งาน HKTDC Hong Kong Gifts and Premium Fair 2019 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ระหว่างวันที่ 27-30 เม.ย. 2562 จำนวนผู้ประกอบการ 20 กิจการ

5.งาน Ambiente India ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 13-15 มิ.ย. 2562 จำนวนผู้ประกอบการ 22 กิจการ

6.Thai SME Festival Japan ณ ประเทศญี่ปุ่น (เมืองนางาซากิ และเมืองฟุกุอิ) เดือน ส.ค.และเดือน ก.ย.จำนวนผู้ประกอบการ 40 กิจการ

7.งาน Food Taipei 2019 ณ กรุงไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ระหว่างวันที่ 19-22 มิ.ย. 2563 จำนวนผู้ประกอบการ 20 กิจการ

8.งาน HKTDC Food EXPO 2019 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ระหว่างวันที่ 15-19 ส.ค. 2563 จำนวนผู้ประกอบการ 20 กิจการ

จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา สสว.ได้นำผู้ประกอบการไปร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติและทดสอบตลาดในต่างประเทศ โดยเน้นสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สปา และสินค้าของขวัญของชำร่วย ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงของเอสเอ็มอีไทย มีผู้ประกอบการสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 118 กิจการ เกิดการเจรจาธุรกิจถึง 1,400 คู่ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,500 ล้านบาท

ฝันเอสเอ็มอีไทย ขยายไกลบุกตลาดโลก

สำหรับโครงการพัฒนาช่องทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นการดำเนินโครงการตามแผนส่งเสริมเอสเอ็มอี ฉบับที่ 4 (SME 4.0) เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดในต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยเป็นโครงการที่เน้นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาเป็นผู้ส่งออก

การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้กลไกระบบการช่วยเหลือเงินสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ดำเนินการอย่างมีระบบ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจของประเทศ สร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการค้าและการตลาดในปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการได้กำหนดกลยุทธ์ต่างๆ สำหรับตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ผู้ประกอบการได้สร้างพันธมิตรและขยายความสัมพันธ์กับเครือข่ายทางการค้าทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพให้มีความเข้มแข็งอีกด้วย

สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. ได้เปิดเผยถึงแนวทางในการผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบตลาด และสนับสนุนการขยายฐานทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการ

ในปีนี้ สสว.มุ่งหวังที่จะทำให้เกิดมูลค่าการซื้อขายและยอดการเจรจาธุรกิจ ตลอดจนมูลค่าการสั่งซื้อจากการร่วมออกงานต่างๆ ตลอดทั้งโครงการ ไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท และเกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจอีกไม่น้อยกว่า 2,400 คู่ อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้ด้านการตลาดต่างประเทศอีกไม่น้อยกว่า 2,100 ราย นับว่าเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการ ได้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในเวทีการค้าระดับสากลอย่างแท้จริง เป็นการต่อยอดการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างยั่งยืน

ฝันเอสเอ็มอีไทย ขยายไกลบุกตลาดโลก

“เมื่อส่งเสริมแล้ว การวัดผลที่ดีที่สุด คือ เห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น และในทุกๆ กิจกรรมของ สสว.ที่ผ่านมาเราก็จะตบด้วยการตลาดหมด เพราะมันเป็นตัวบ่งชี้ พอปีนี้ก็เล่นเกมเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากว่าแผนแม่บทฉบับที่ 4 ของ สสว. เราต้องยกระดับส่งเสริมเอสเอ็มอีให้สู่สากล และการส่งเสริมสากลมันจะมีหลากหลายรูปแบบ ยกระดับมาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วก็การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็เป็นกลไก

แล้วเลยมองว่าเอสเอ็มอีโดยทั่วไปจะเป็นรายเล็ก เวลาที่แข่งขันกับตลาดใหญ่ๆ มันก็จะยาก เราเลยอยากจะให้มันเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เราใช้คีย์เวิร์ดว่า “Global Need” แปลว่าจับกลุ่มย่อยๆ ในตลาดที่ใช่ กลุ่มเป้าหมายที่ใช่ พัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ใช่ให้ตรงตามเป้าหมายเอสเอ็มอี ก็จะเติบโตอย่างเห็นได้ชัด จึงใช้กลไกนี้ทดลองในปีที่แล้ว ในหลากหลายกิจกรรม”

ปีนี้ ผู้อำนวยการสุวรรณชัย มองว่าต้องพลิกเกมทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยปีที่แล้วพาเอสเอ็มอีไทยไปนางาซากิ

“การทดลองของ สสว. เนื่องจากตลาดนางาซากิไม่ได้เป็นตลาดใหญ่ เป็นตลาดเมืองรอง เดินทางจากสนามบินอื่นไปเพราะไม่มีสนามบินลงในเมืองนั้น แต่ที่เรากล้าเพราะมองว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรเหมาะสมกับไซส์ธุรกิจเอสเอ็มอี มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวจำนวนมาก

ในการประกาศความเป็นไทยให้โลกได้รู้จัก ปักหมุดตรงนั้น คนญี่ปุ่นก็ซื้อคนต่างประเทศก็ซื้อ พอทดลองเสร็จก็เจอความต้องการที่มันใช่ พอพาผู้ประกอบการไปขาย 20 คนแล้วก็ได้ผลตอบรับที่ดี มองว่าเอสเอ็มอีไทยเหมาะกับเมืองรองที่มีความน่าสนใจเลยเป็นประเด็นให้เราเอาสินค้าที่ใช่ไปอยู่ในที่ที่ใช่

เอสเอ็มอีไทยต้องประสบความสำเร็จและไม่เกินขีดความสามารถของตัวเอง อันนี้ผู้ว่าเมืองฟูกุโอกะติดต่อเรามาเองเพราะต้องการแบบนี้ การเอาจริงเอาจังในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมาย แล้ววิน-วิน เท่ากันระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็เลยเป็นโมเดล ที่ทำให้ปีนี้เราออกแบบแพลตฟอร์มใหญ่ตั้งแต่ต้นปี กลไกแบบนี้ควรจะอยู่ที่ตลาดไหนบ้าง เอสเอ็มอีจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม”

อีกด้านที่ สสว.ทำในปีที่แล้ว ก็คือ สสว.ไม่ได้เป็นด่านแรกในการเลือกแต่เราเอาผู้ซื้อ (Bayer) ตัวจริงของตลาดนั้นๆ มาเป็นตัวเลือกสินค้าอะไรไปที่นั่น คือจะเดินทางมาที่เมืองไทยเพื่อคัดเลือกด้วยตัวเอง แผนงาน “ยกระดับ SME เพื่อชาติ” ผู้อำนวยการ สสว. บอกว่า แผนงานปีนี้มี 8 งาน ใน 8 เดือน ในต่างประเทศ

“เฉลี่ยคือนำผู้ประกอบการไปต่องานประมาณ 20 ราย เมื่อพาไปออกงานก็จะมีการติดตามผล ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานเรา Pre-sale จริงจังเลย เพื่อส่งให้เขาไปต่างประเทศจริงจัง วัดผลรายได้ยอดขายของเขาโตขึ้นไหม เป้าหมายสูงสุดของ สสว.ที่ผ่านมา คือ องค์ความรู้นั้นต้องอยู่ที่ผู้ประกอบการอย่างจริงจัง คือ ให้เขาทำเองให้เป็น เมื่อเขาเจอผู้ซื้อจริง เขาขายได้จริงเมื่อไหร่ เขาค่อยปล่อย เป็นการส่งสัญญาณว่าเอสเอ็มอีไทยต้องตื่นตัวในการยกระดับด้วยตัวเอง”

สุวรรณชัย ย้ำว่า เป็นภารกิจยกระดับเอสเอ็มอีเพื่อชาติ มันเป็นภารกิจหลักเลย สสว.มีหน้าที่ตั้งแต่กำหนดนโยบาย ส่งเสริม ดูแลการทำงานให้เกิดภาคปฏิบัติการ ติดตามประสานงานกับอีก 9 กระทรวง ให้ดูแลกิจกรรมด้านเอสเอ็มอี เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“ในการทำงานร่วมกันหมด เราต้องมีบูรณาการ สสว.จึงใช้เครื่องมือเชื่อมโยง 9 กระทรวง ผ่านแพลตฟอร์มที่เรียกว่า SMEONE www.SMEONE.info ติดต่อที่เดียวคอนเนกไปได้ทุกที่ ครบในที่เดียวผ่าน Digital platform กระทรวงใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ SME ขอให้บอก สสว.เราจะช่วยเป็นสะพานเชื่อมกลุ่มลูกค้าไปให้คุณสูงสุด ไม่ต้องวิ่งไปติดต่อหลายกระทรวงให้ยุ่งยากอีกต่อไป มาที่นี่เป็น One-Stop Service ซึ่ง SME ONE เปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา

ปัจจุบันมีมากกว่า 50 หน่วยงาน ได้เข้ามาเชื่อมโยงกับ สสว. ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เห็นการเติบโต งานหลักเชิงนโยบายที่ สสว.ต้องทำมี 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ Transformation การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน สอง คือ การทำการค้าสู่สากลหรือมาตรฐานสู่สากล สาม คือ สร้างเครือข่ายให้เติบโต เครือข่ายของผู้ประกอบการ เครือข่ายของที่ปรึกษา เครือข่ายของสถาบันพัฒนาต่างๆ”

สุดท้าย สุวรรณชัย สรุปถึงปี 2562 จะเป็นปีที่จะเพิ่มการยกระดับจากประสบการณ์ปีที่แล้วที่ค้นพบว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องเร่ง ว่าการไปสู่อนาคต อะไรคือสิ่งสำคัญ

“เราสานต่อจากสามสิ่งนี้ แต่เพิ่มกลยุทธ์ที่เรียกว่า SME one night station ผ่านสปีดโมเดล ที่ S มาจากคำว่า Smart ต้องทันโลกทันต่อเหตุการณ์ต้องอัพเดทตัวเอง Smart มันรวมถึงคาแรกเตอร์ด้วย อันที่สอง P คือ Proactive หมดยุคที่อยากรู้แล้วรอคนมาบอก เราต้องแสวงหา

สองข้อ S กับ P มันเป็นการปรับทัศนคติและลักษณะให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน E มาจาก Exchangies เพิ่มขีดความสามารถทางการค้า เพราะเอสเอ็มอีแข่งกับรายใหญ่ อย่างไรก็แพ้ เพราะรายใหญ่ถูกกว่า เอสเอ็มอีจึงต้องแตกต่าง โดดเด่นอย่างสร้างสรรค์ และตรงกลุ่มเป้าหมาย

และสุดท้าย D คือ Digital เพราะโลกตอนนี้มันเป็น Digital แล้ว เราจึงออกแพลตฟอร์มอีกหนึ่งอันคือ SME connext เป็นแอพพลิเคชั่นทั้งระบบ IOS และ Android ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายจะสามารถทราบข้อมูลของ สสว.ได้เกือบทั้งหมด ทั้งองค์ความรู้ โครงการ สิทธิประโยชน์”