posttoday

ธวัชชัย สมคง ความสุขของผู้อยู่เบื้องหลัง งานศิลปะระดับประเทศ

04 สิงหาคม 2561

“หน่อง” ธวัชชัย สมคง วัย 53 ปี เขาเป็นศิลปินที่มีผลงานยอดเยี่ยมและเป็นผู้ปิดทองหลังพระและอยู่เบื้องหลังนิทรรศการสำคัญมากมาย

โดย วราภรณ์ ผูกพันธ์ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

“หน่อง” ธวัชชัย สมคง วัย 53 ปี เขาเป็นศิลปินที่มีผลงานยอดเยี่ยมและเป็นผู้ปิดทองหลังพระและอยู่เบื้องหลังนิทรรศการสำคัญมากมาย อาทิ พระราชาในดวงใจ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรภาครัฐ รวมถึงรับหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินในงานศิลปกรรมต่างๆ มากมาย เขามีผลงานจิตรกรรมที่โดดเด่นคือแนว “นามธรรม” โดยเฉพาะในเทคนิคสีน้ำที่ให้รายละเอียดคมชัด และผลงานในช่วงหลังของเขาเป็นการกลับมาให้ความสำคัญกับจิตรกรรมแบบ Photorealism ที่เคยแพร่หลายในอเมริกันยุค’60

พี่หน่องของน้องๆ ในแวดวงศิลปะ เป็นคน จ.แม่ฮ่องสอน การศึกษาสูงสุด Post-Diphoma จิตรกรรม มหาวิทยาลัยวิศวะบารติศานตินิเกตัน อินเดีย ปี 2549 เขาได้เริ่มก่อตั้ง Fine Art นิตยสารศิลปะร่วมสมัยที่เผยแพร่มากกว่า 13 ปี ภายใต้แนวคิดที่ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนิตยสารศิลปะเพื่อจรรโลงสังคม

ในฐานะจิตรกร ธวัชชัยเริ่มจัดแสดงผลงานเดี่ยวเป็นครั้งแรกในปี 2541 ภายใต้นิทรรศการ Ectasy Land ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ฯลฯ ที่สำคัญเขายังเป็นคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป และยังได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง

ความฝันที่อยากสานต่อ

ธวัชชัย สมคง ความสุขของผู้อยู่เบื้องหลัง งานศิลปะระดับประเทศ

ในฐานะที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการศิลปะมาหลายสิบปี สิ่งที่ธวัชชัยอยากผลักดันเผยแพร่ความคิด คืออยากผลักดันศิลปะให้สังคมในวงการได้รู้จัก ทำความเข้าใจกับผลงานศิลปะต่างๆ ดังเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว

“คนกลุ่มหนึ่งอาจมองว่า เราอยากพัฒนาประเทศด้วยการค้าขาย ส่งออก แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้วศิลปะสามารถเปลี่ยนแปลงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น เมื่อศิลปะเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ก็สามารถสร้างสรรค์หีบห่อขนมได้สวยงาม ผมคิดว่าศิลปะในชีวิตประจำวันสำคัญมากๆ หากเราสามารถนำงานดีไซน์มาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยได้ จะดีมาก

ผมอยากให้รัฐบาลรู้ว่า หากเขาพัฒนาศิลปะจะช่วยพัฒนามูลค่าได้เยอะ เพราะประเทศไทยมีทุกอย่างดีแล้ว แต่เรามองศิลปะในมุมแค่การเสพงานศิลป์ เสพภาพวาด แต่หากรัฐนำศิลปะไปจัดการ เอาศิลปะไปอยู่ในสินค้าโอท็อปจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มาก ตอนนี้คนให้ศิลปะอยู่ในหมวดท้ายๆ ในการใช้ชีวิต แต่จริงๆ แล้วศิลปะสามารถให้เกิดมิติของความสุขโดยที่เราไม่ต้องใช้เงินมาก”

รวมทั้งถ้าประเทศให้ความสำคัญเราจะเปลี่ยนไปเหมือนญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จแล้ว อานุภาพของศิลปะ คือ สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศให้น่าอยู่ได้ ศิลปะไม่ใช่แค่มิติทางวัฒนธรรม แต่ศิลปะสร้างมูลค่าทางวัฒนธรรม ธวัชชัยยกตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ที่มีศิลปะทางภาพยนตร์สร้างสรรค์จนเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลได้

“ดังนั้น เมืองไทยต้องตีความของศิลปะให้ดี หากทุกคนในประเทศเข้าใจและเห็นมิติของศิลปะตรงกัน ประเทศจะพัฒนาได้เร็วขึ้น หีบห่อสินค้าเราดีแล้ว แต่ยังไม่ดีมากพอ หลายเคสของคนไทยมีหลายกลุ่มที่เอางานศิลป์มาใช้ แต่อยู่ในกลุ่มเล็กๆ ยังไม่เห็นเด่นชัด ยังตีความแค่ ทัศนศิลป์ คือ จิตรกรรม ประติมากรรม

เราน่าจะส่งเสริมไปในด้านสถาปัตยกรรมต่างๆ ด้วย เราควรดูแลไปทุกๆ สาขา ตอนนี้กระทรวงวัฒนธรรมดูแลศิลปะทั้ง 9 สาขาแล้ว แต่เราจะทำแค่นั้นไม่ได้ ดังนั้นเราต้องช่วยกัน ยุคปัจจุบันเด็กเรียนวิชาวาดเขียนไปทำไม เขาไม่ได้เรียนเพื่อเป็นศิลปิน วิชาศิลปะควรให้อะไรกับเขา เช่น เมื่อเรียนรู้ทฤษฎีแล้ว ก็นำความรู้ไปแต่งตัว จัดห้องให้ชีวิตเป็นสุข ไม่ต้องคาดหวังว่าเขาต้องวาดรูปเก่ง ไม่ต้องเน้นให้วาดภาพควรเน้นเรื่องการเรียนอะไรในงานศิลปะ ตัวแรกที่เขาควรเรียนสุนทรียภาพ ศิลปะทำให้เราเข้าใจว่าอะไรคือศิลปะ และจะนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ แล้วตีความอย่างไร”

ความรู้ศิลปะของคนไทยอย่าเป็นแค่ที่ “เปลือก”

ในมุมมองของ ธวัชชัย เขารู้สึกว่า ทุกคนเสมือนมีความรู้เรื่องศิลปะเป็นอย่างดี แต่เอาเข้าจริงๆ มีความรู้แค่เพียงเปลือก หรือเราเคยเกิดคำถามว่า เรารู้จักศิลปินระดับโลกสัก 10 คนหรือไม่ แต่หากเราไม่รู้ก็ไม่เป็นไร หรือคุณรู้จักเพลงคลาสสิกระดับโลกไหม คุณไม่รู้ แม้คุณไม่รู้ก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นเรื่องที่ไกลตัว

ในทางกลับกัน เรารู้จักกูรูด้านดนตรีไทยสัก 10 คน หรือคุณเคยอ่านวรรณกรรมของไทยสัก 10 เรื่องหรือไม่ ร้อยทั้งร้อยอาจให้คำตอบว่า ไม่เคย ซึ่งเป็นเรื่องของไทยเราแท้ๆ เรายังไม่รู้ หรือแม้เราคิดว่าเรารู้แล้ว แต่เราศึกษาอย่างถ่องแท้หรือยัง ในฐานะคนเรียนศิลปะเราควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลป์ให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ๆ ดังเช่น ชนชาวเกาหลีใต้ยุคทหารปกครองประเทศราวๆ ปี 1960 เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ยากจนเป็นอับดับ 2 ของโลก คำถามคือ แล้วเกาหลีใต้กลับมาร่ำรวยได้อย่างไร คำตอบคือ ผู้นำเกาหลีใต้ในสมัยนั้นมองว่าการศึกษาแตกต่างจากประเทศไทย

“เกาหลีใต้บอกว่าเด็กควรอ่านเล่มวรรณกรรมคลาสสิกอะไรบ้าง เด็กได้เข้าไปดูหอศิลป์ ได้อ่านหนังสือเล่มสำคัญของโลก ฟังเพลงแจ๊ซ เวลาผ่านไปเกิดศิลปินยอดเยี่ยมเป็นคนเกาหลี สิ่งเหล่านี้ต้องบ่มเพาะ เพราะตอนเขาเด็กๆ เขาได้อ่านวรรณกรรมชิ้นสำคัญของโลก เขาจึงมีนักอ่านที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพมาก ดังนั้นนักเขียนของเกาหลีจะเขียนอะไรส่งเดชไม่ได้ เพราะนักอ่านเกาหลีอ่านงานระดับโลกมาเยอะ ส่งผลให้บทละครของเกาหลีเขียนอย่างมีมาตรฐาน

เราจะเป็นแบบเกาหลีได้ รัฐบาลของเราอยากให้เยาวชนเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความเข้าใจในมิติไหน เพราะความรู้ของผู้นำโลกมีหลากมิติ ดังนั้นจะให้เด็กไทยเก่งแต่ฟิสิกส์ หรือเลขเท่านั้นไม่ได้ อีกทั้งเด็กๆ ต้องเข้าใจวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง เราจะพัฒนาประเทศแบบไหน ตอนนี้เราพยายามเผยแพร่ความคิดนี้ไปสู่บุคคลสำคัญ ถ้าเรายึดแนวทางว่าเด็กควรศึกษาอะไร เราอยากให้อะไรกับเด็ก อย่าให้เด็กท่องจำเยอะ เราควรให้เด็กเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับการฟังเพลง เด็กๆ ควรมีทางออกชีวิตที่มากกว่า ไม่ต้องไปเดินแต่ห้างสรรพสินค้า ส่งเสริมให้เขาเป็นนักอ่านตัวยง แล้วเขาจะกลายเป็นนักเขียนที่ดี ดังนั้นเราต้องหว่านเมล็ดพืชในวงการศึกษาของเรา”

รัฐบาลต้องสร้างแกลเลอรี่ที่มีราคาย่อมเยา

ธวัชชัย สมคง ความสุขของผู้อยู่เบื้องหลัง งานศิลปะระดับประเทศ

เขามองวงการศิลปะร่วมสมัยไทยมีภาพรวมจากอดีตถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร ธวัชชัย กล่าวว่า วงการศิลปะไทยมีผลงานศิลปะดีๆ มากระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ทันใจใครหลายๆ คน ดีในแง่ผู้สร้างสรรค์ ศิลปินสร้างงานได้ดีมาก และไปได้ไกล

ในทางกลับกัน นักสะสมเองยังมีแนวคิดตามศิลปินรุ่นใหม่ไม่ทัน ทำให้ศิลปินที่อยู่ในยุคปัจจุบันไม่สามารถขายผลงานได้มาก ประกอบกับระบบแกลเลอรี่ทำให้วงการศิลปะเข้มแข็งไม่ได้ หลายประเทศประสบปัญหาเดียวกับเรา

“ในหลายๆ ประเทศ คนทำและคนเช่าแกลเลอรี่ไม่ได้รวยมาก เมื่อจัดนิทรรศการก็ต้องการขายงานให้ได้เป็นล้านเพื่อให้เสมอทุน อย่างประเทศจีนให้เช่าแกลเลอรี่ถูก เพราะมีรัฐบาลช่วยเหลือ ศิลปินจึงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้สบายขึ้น ในไทยคนเปิดแกลเลอรี่ใหม่ๆ เยอะ แต่เปิดแป๊บเดียวก็ปิด เพราะขาดทุน

รัฐบาลไทยจึงควรทำให้แกลเลอรี่มีความแข็งแกร่ง ธวัชชัย ชี้ว่า วงการศิลปะไทยจะได้ไปได้สวยในแง่เศรษฐกิจ เพราะแกลเลอรี่ต้องจ่ายภาษีให้ภาครัฐอยู่แล้ว ถือเป็นช่องทางที่ให้ศิลปินมีเวทีเผยแพร่แนวความคิดตัวเองสู่สังคม

“แม้เรามีเฟซบุ๊กแต่ไม่เป็นทางการเพื่อเผยแพร่ศิลปะ เพราะงานศิลปะต้องเข้ามาดูของจริงๆ งานศิลปะจึงต้องการพื้นที่ ต้องทำให้แกลเลอรี่มีค่าเช่าที่ถูกลง แม้เราส่งเสริมแต่ยังไม่พอ ต้องเป็นแกลเลอรี่เชิงค้าขายเลย

รัฐบาลเองควรให้อาคารเก่าๆ หรือไม่ได้ใช้ แล้วให้แกลเลอรี่เอกชนไปอยู่ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ด้วย หรือจะให้แกลเลอรี่ไปเช่าพื้นที่ในห้างก็จ่ายเงินไม่ไหว ปัญหาเรื่องพื้นที่สำคัญ ตัวศิลปินเอง เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลาดกระบังผลิตผลงานศิลปะเยอะมาก แต่มีเวทีให้เขาเผยแพร่งานน้อยมาก เพราะค่าเช่าแพง คนมีความฝันจึงอยู่ไม่ได้

รัฐบาลต้องผลิตศิลปินแล้วต้องสร้างทั้งพื้นที่และสร้างชิ้นงานด้วย แกลเลอรี่เป็นเวทีมีนักบริหารพื้นที่เป็นสิ่งที่ศิลปินต้องการมากๆ หลายประเทศต้องทำแล้ว อย่างสิงคโปร์ทำแล้ว เขานำค่ายทหารเก่ามาทำเป็นแกลเลอรี่แล้ว กรุงปักกิ่งของจีนก็ทำแล้ว สำหรับกระทรวงวัฒนธรรมของเราก็เพิ่งเกิด ทุกคนต่างทำงานหนัก ต้องให้เวลาเขา ผมเชื่อว่าทุกคนกำลังช่วยวงการศิลปะให้ดีที่สุด ต้องให้เวลากัน ผมเชื่อว่ามีต้นแบบในอีกหลายประเทศ เราก็ได้ศึกษา ช่วยกันผลักดัน สื่อคนทุกกลุ่มต้องช่วยกัน เพื่อทำให้ศิลปินมีพื้นที่โชว์ผลงานศิลปะ เพื่อก้าวขึ้นสู่มาตรฐานสากล”

สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัว

ในฐานะที่อีกภาคหนึ่งของ ธวัชชัย นอกจากเป็นผู้ลงทุนและทำสื่อศิลปะ เขามองสภาพการณ์สื่อศิลปะน่าชื่นใจ เพราะโลกเรามีเฟซบุ๊ก ทำให้ศิลปินได้เผยแพร่งานโดยไม่ต้องพึ่งพาใครมาก ในฐานะสื่อมวลชนเองต้องเรียนรู้ เพราะคนต้องการอะไรที่ง่ายๆ และรวดเร็ว ไม่มีเรื่องเงื่อนไขของเวลา เขาจะไม่รอว่า อยากรู้อยากเห็นต้องรู้ทันที

“ยุคนี้ทีวีจึงไม่ตอบโจทย์ หนังสือพิมพ์ก็ต้องหาซื้อ ในวันหน้ารูปแบบสื่อต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไปอีก เช่น ฮาร์ดก๊อบปี้สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เนื้อหาทั้งหมดต้องเปลี่ยนให้แตกต่างไปจากโซเชียล ไม่งั้นสื่อเหล่านี้ก็จะขายไม่ได้ หนังสือทั้งหลายไม่สามารถแข่งขันเรื่องความเร็วได้เลย ดังนั้นฮาร์ดก๊อบปี้จึงควรสังเคราะห์ว่า ออนไลน์ให้อะไรไม่ได้ แล้วไปตรงจุดนั้น

ผมเคยคุยกับสำนักพิมพ์ระดับโลก ยอดพิมพ์เขาเพิ่มขึ้นในหนังสือบางประเภท หนังสือที่เป็นองค์ความรู้ยังถูกผลิตอย่างต่อเนื่อง งานศิลปะดูงานจริงๆ กับดูในฮาร์ดก๊อบปี้ก็ต่างกัน ผมคิดว่าอีก 4 ปีข้างหน้า คนจะโหยหาบรรณาธิการ เพราะข้อมูลออนไลน์มันไม่กลั่นกรองเลย แล้วคนจะเบื่อ คนจะโหยหาฮาร์ดก๊อบปี้ที่มีกองบรรณาธิการ เพราะเขากลั่นกรองได้

ตอนนี้หนังสือปิดตัวหลายสื่อ สายส่งก็ไม่มีอะไรส่ง สายส่งอาจต้องขึ้นเปอร์เซ็นต์ อีกหน่อยสำนักพิมพ์จะเป็นคนขายเอง และอีกหน่อยอี-บุ๊กจะไม่ทำเงิน แม้ราคาถูกจริงแต่คนรุ่นเก่ายังตามไม่ทัน ปัญหาก็คือแมกกาซีนเมื่อก่อนเสิร์ชจากอินเทอร์เน็ต หนังสือบางเล่มนำเนื้อหามาแปลจากออนไลน์พวกนี้จะไปไม่รอด เพราะคนไปเสพในอินเทอร์เน็ตแล้ว

อีกหน่อยหนังสือจะผลิตเพื่อคนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และงานต้องมีคุณภาพมากขึ้น เช่น นักธุรกิจต้องมีคอนเทนต์อย่างไรให้ซัพพอร์ตให้เพียงพอ ยุคก่อนทำไม่ดีแค่มีแอดโฆษณาก็พอแล้ว แต่ตอนนี้ออนไลน์แอดถูกกว่า หนังสือพิมพ์จึงอยู่ไม่ได้ ต่อไปนี้บริษัทเล็กๆ ค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก จึงพอเป็นไปได้อยู่ได้”

ในวันข้างหน้า เราจะทำอย่างไรให้ศิลปินที่เก่งๆ ของเรายังสามารถทำงานศิลปะได้อย่างต่อเนื่อง ธวัชชัย ฝากว่า

“ถ้าเขาขายผลงานศิลปะของเขาไม่ได้เลย รัฐควรสนับสนุนอย่างไร ตอนนี้ศิลปินเสียสละทำงานยากลำบาก เราอยากให้คนรุ่นใหม่มีสิ่งแวดล้อม ศิลปินรุ่นใหม่ๆ รัฐเองก็ต้องสนับสนุน เพื่อให้ศิลปินมีความสามารถเลี้ยงชีพได้เพราะความสามารถของเขาเอง”

งานอดิเรก คือ เสพผลงานศิลปะ

ธวัชชัย สมคง ความสุขของผู้อยู่เบื้องหลัง งานศิลปะระดับประเทศ

ไลฟ์สไตล์ของธวัชชัย นอกจากชื่นชอบผลงานศิลปะแล้ว เขายังชื่นชอบการเสพของแอนทีค เสาร์-อาทิตย์เขาชอบไปดูของเก่าที่สวนจตุจักร เนื่องจากของแอนทีคดูมีเรื่องราว มีรูปทรงที่น่าสนใจ

“ของแอนทีคที่ผมซื้อมาส่วนใหญ่ ผมนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ต้องใช้งานได้ เมื่อก่อนผมสะสมกบเหลาดินสอ ซึ่งตอนนี้ไม่มีที่เก็บ ปัจจุบันจึงต้องซื้อแล้วใช้ได้ด้วย เช่น ผมเก็บกบเหลาดินสอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากได้มากๆ เช่น กบเหลาดินสอสเตทเลอร์
ของเยอรมนี ผมเก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมากไว้ที่ทำงาน จนตอนนี้จะเป็นร้านขายไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีกบเหลาดินสอของญี่ปุ่น ถือเป็นของเก็บสะสมที่เป็นความทรงจำในวัยเด็ก ตอนเด็กๆ ผมอยากเล่นดนตรี แต่แม่อยากให้เรียนมากกว่า เพราะผมชอบฟังเพลงตั้งแต่เด็กๆ เพลงร็อก เพลงสากล ตอนหลังฟังแจ๊ซในยุค 1950 ผมก็ชอบมากๆ เพราะนักดนตรี
ยุคนั้นฝีมือดีๆ และมีจำนวนเยอะ ผมเริ่มจากฟังเพลงในซีดีก่อน ถ้าชอบค่อยไปหาซื้อแผ่นเสียงมาฟัง เพื่อให้ได้มิติเสียงสมจริงมากกว่า ประกอบกับน้องชายของผมชอบสะสมแผ่นเสียง สำหรับผมเริ่มสะสมย้อนกลับไปไม่ถึง 10 ปี ซึ่งอรรถรสในการฟังแผ่นเสียงกับฟังเพลงในแผ่นซีดีให้ความไพเราะคนละเรื่อง”

ธวัชชัย ขยายความว่า อรรถรสการฟังแผ่นเสียงดีมากๆ แม้เก็บผ่านไป 60 ปี แล้วย้อนนำกลับมาฟังคุณภาพเสียงยังฟังได้ดี เพราะใช้ระบบบันทึก คือ โมโน ซึ่งให้เสียงที่ดี

“ระบบโมโนซึ่งแผ่นพวกนี้ราคาจะสูงเพราะอัดเสียงได้สมจริง ผมเริ่มซื้อนำมาฟังเริ่มเยอะ ศิลปินที่ผมชอบเป็นพิเศษ เช่น Jackie Mclean Lee Morgan ผมมีอัลบั้ม Cliff Craft Cliff Jordan Blue Note 1582 เป็นต้น”

นอกจากแผ่นเสียงซึ่งธวัชชัยมีเก็บสะสมไว้มากถึง 1,000 แผ่น เขายังสนับสนุนผลงานของศิลปินรุ่นใหม่

“ผมอยากให้งานของศิลปินรุ่นใหม่ๆ ดูมีพลัง 2 ปีที่แล้วผมเริ่มเก็บรูปรุ่นใหม่ที่ปั้นงาน ผลงานของศิลปินผมเก็บสะสมไว้มากกว่า 50 ชิ้น ซึ่งแผ่นเสียงเป็นสิ่งที่ผมโฟกัสในช่วง 10 ปีหลัง ผมมีแผ่นเสียงประมาณ 1,000 แผ่น แบ่งเป็นบันทึกด้วยระบบโมโน 200 แผ่น มูลค่าบางแผ่นน่าจะไปสูงถึงแสนกว่าบาท เพราะแผ่นเสียงดีๆ แผ่นหลักหมื่น เช่น แผ่นของศิลปินยุคแรกๆ เช่น ลี มอร์แกน ไมล์สเดวิส และอีกมาก ล้วนเป็นศิลปินยุค’50 ถึงยุค’60”