posttoday

ผ่าโมเดลหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่แดนอิเหนา กับทางรอดในยุคดิจิทัล

26 ธันวาคม 2560

โลกเปลี่ยน สื่อต้องปรับ

 

การประกาศปิดตัวแผงของนิตยสารดิฉัน และคู่สร้างคู่สม ถือเป็นคลื่นลูกโตที่ซัดโครมเข้าใส่วงการสื่อบ้านเราเข้าอย่างจังอีกระลอก นี่ยังไม่รวมข่าวร้ายที่สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการสื่อบ้านเราสั่นคลอนแบบรายวัน

นับตั้งแต่การปรากฏตัวของสื่อออนไลน์ ได้สั่นคลอนสถานะของสื่อทั่วโลก บ้างล้มหายตายจากไปอย่างน่าเสียดาย อีกจำนวนไม่น้อยอาการสาหัสเข้าขั้นโคม่าได้แต่ตั้งตารอปาฏิหาริย์

ขณะที่สื่อหลายสำนักของบ้านเราเลือกใช้วิธีตัดสวัสดิการ เลย์ออฟพนักงาน ไปจนถึงการจ่ายยาแรงด้วยการประกาศปิดตัวรับวิกฤตสื่อ แต่สื่อยักษ์ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างหนังสือพิมพ์คอมพาส หนังสือรายวันเบอร์หนึ่งของอินโดนีเซีย กลับยังสวมหัวใจนักสู้ เดินหน้าปรับกระบวนทัพไม่ยอมแพ้ให้กับสงครามครั้งนี้

งัดโมเดลที่นิวยอร์กไทมส์ทำสำเร็จมาแล้วมาปรับใช้ ด้วยความเชื่อมั่นว่า “สื่อไม่มีวันตาย”

ผ่าโมเดลหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่แดนอิเหนา กับทางรอดในยุคดิจิทัล

โลกเปลี่ยน สื่อต้องปรับ

บูดิมาน ตานูเรอจอ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์คอมพาส หนังสือพิมพ์รายวันที่ได้ชื่อว่ามียอดพิมพ์สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อยู่ภายใต้การบริหารของเครือคอมพาส กรามีเดีย (Kompas Gramedia) ซึ่งมีธุรกิจในเครือมากมายทั้งโรงแรม โรงพิมพ์ ร้านหนังสือ ฯลฯ ยอมรับว่าสื่อในอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับความท้าทายไม่ต่างกับสื่อทั่วโลก

โชคดีที่คอมพาสถึงจะเป็นหนังสือเก่าแก่ แต่มีการปรับตัวรับกระแสยุคดิจิทัลค่อนข้างเร็ว คอมพาสได้ชื่อว่าเป็นสื่อแรกในอาเซียนที่มีการผลิตหนังสือพิมพ์ในรูปแบบดิจิทัล หลังจากมีการเปิดตัวไอแพด จากนั้นจึงมีการเปิดตัวเว็บไซต์ Kompas.com ในปี 2008

“ล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เรามีการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ Kompas.id เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยความแตกต่างระหว่างสองเว็บไซต์คือ Kompas.com ให้บริการฟรี เน้นนำเสนอข่าวสารและเหตุการณ์ที่รวดเร็ว มีไว้เพื่อรับมือเว็บไซต์ข่าวคู่แข่งอื่นๆ โดยเรามีกองบรรณาธิการเฉพาะสำหรับดูแลเนื้อหาบนเว็บไซต์

ขณะที่ Kompas.id เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของเราที่ผู้อ่านต้องสมัครสมาชิกถึงจะล็อกอินเข้ามาอ่านข่าวได้ ภายในเว็บไซต์นอกจากจะเผยแพร่ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์คอมพาส ยังมีการเพิ่มเติมภาพข่าว อินโฟกราฟฟิก และเนื้อหาพิเศษที่ทางกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จัดทำขึ้นทุกวัน”

นอกจากนี้ เพื่อให้ Kompas.id ตอบโจทย์ผู้อ่านชาวอินโดนีเซียที่อยู่ในต่างแดน หรือผู้อ่านยุคดิจิทัลที่ไม่อยากอ่านในรูปแบบหนังสือพิมพ์ ยังมีบริการที่ช่วยให้ชาวต่างชาติที่มาทำงานในอินโดนีเซีย แต่ไม่อยากพลาดทุกประเด็นเด็ดข่าวร้อน มีการเลือกข่าวที่เป็นประเด็นร้อนในหมวดการเมือง เศรษฐกิจ วันละ 7-8 ข่าว เพื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ

“เราไม่ได้มองว่า Kompas.id เป็นเพียงผู้สร้างคอนเทนต์ แต่เรายังเป็นเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาติดต่อซื้อภาพในคลังภาพของเราได้ด้วย หลังจากเปิดตัว Kompas.id ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้ทดลองอ่านฟรีได้ 7 วัน ส่วนผู้อ่านที่เป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ของเรา สามารถล็อกอินเข้ามาได้ฟรี ถือว่าได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาด โดยเราตั้งเป้าว่าภายใน 2 ปี ต้องมีผู้อ่านแตะหลักล้านให้ได้”

บูดิมาน ยังเสริมด้วยว่า โมเดลที่ Kompas.id กำลังทำให้เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในอินโดนีเซีย เป็นโมเดลธุรกิจที่ปรับใช้จากนิวยอร์กไทมส์ซึ่งประสบความสำเร็จจากกลยุทธ์นี้

สื่อเปลี่ยน แต่จิตวิญญาณคนข่าวยังเข้มข้น

นอกจากจะมีกลยุทธ์ใหม่เป็นอาวุธรับมือสื่อออนไลน์ ซึ่งไม่ต่างจากเพชฌฆาตของวงการสื่อแล้ว สิ่งที่ทำให้ บูดิมาน มั่นใจว่า “สื่อยังไม่มีวันตาย” คือความเชื่อมั่นในจิตวิญญาณและศักยภาพของคนข่าวที่เป็นขุนพลสำคัญขององค์กร

“ทุกปีเราจะส่งบรรณาธิการและนักข่าวไปเข้าร่วมการประชุมสื่อ ศึกษาดูงานสื่อในต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในแวดวงสื่อ พร้อมศึกษาโมเดลทางธุรกิจ และการปรับตัวของสื่อในตะวันตกที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาปรับใช้ นอกจาก Kompas.id ซึ่งเป็นไอเดียที่เราได้รับจากการไปดูงานที่นิวยอร์กไทมส์ ในปีหน้าเรายังมีแผนปรับเปลี่ยนห้องข่าวของเรา โดยบูรณาการกองบรรณาธิการโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์เข้าด้วยกัน ถามว่ายากมั้ย แน่นอน เพราะธรรมชาติของสื่อแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน แต่นั่นเป็นการบ้านของผมที่จะต้องทลายความต่างตรงนี้ลงให้ได้”

สำหรับเหตุผลที่ต้องมีการบูรณาการกองบรรณาธิการ บูดิมาน ยอมรับว่าส่วนหนึ่งเพื่อตัดลดต้นทุน แต่อีกเหตุผลที่สำคัญกว่าคือการพัฒนาศักยภาพของนักข่าว

“ในยุคที่สื่อต้องปรับตัว นักข่าวของเราต้องมีความรู้ ความสามารถที่รอบด้านมากขึ้น เราต้องพัฒนาศักยภาพของนักข่าวให้พร้อมตอบโจทย์ธุรกิจสื่ออย่างรอบด้าน ผมมั่นใจว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะยังอยู่รอด ด้วยจิตวิญญาณของคนข่าว การทำงานอย่างเข้มข้นของกองบรรณาธิการ ในแต่ละวันบรรณาธิการต้องร่วมประชุมเพื่อคัดกรองข่าวเป็นร้อยๆ ข่าวให้เหลือเพียง 4 ข่าวเท่านั้นที่จะได้ตีพิมพ์บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์”

ที่ผ่านมา บูดิมาน ยอมรับว่าอาจจะเห็นสื่อปิดตัวไปมากมาย ในอินโดนีเซียเองก็มีหนังสือพิมพ์ที่ปิดตัวไป เหตุผลไม่ใช่เพราะผลประกอบการไม่เข้าเป้า แต่เพราะปัญหาในการบริหารงานข้างใน คิดว่าโจทย์ใหญ่สำหรับสื่อวันนี้คือต้องปรับตัว จะทำอย่างไรให้ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์เติบโตและก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

“ผมยังเชื่อว่ากลไกหลักต้องมาจากคนข่าวที่มีคุณภาพ สื่อที่ดีต้องไม่ผลิต Noise (มลภาวะทางเสียง) แต่เรากำลังผลิต Voice (เสียงที่มีคุณภาพ)”

ขณะเดียวกันคอมพาสยังอาศัยช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม เป็นช่องทางในการเชื่อมโยงกับผู้อ่านบนโลกออนไลน์

“เรายังต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านนี้ แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้สื่อกระแสหลัก คือการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก เรารู้ว่าคนอ่านต้องการอะไร เราไม่ได้เสนอข่าวของเมื่อวาน แต่เรานำเสนอข่าวโดยอาศัยข้อมูลจากทีมข่าวคุณภาพ นำเสนอข่าวที่ถูกต้องเชื่อถือได้ ไม่ใช่แค่สะท้อนแต่ความจริง แต่เราทำให้ข้อมูลนั้นกระจ่าง และวิเคราะห์ไปถึงก้าวต่อไป”

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ตรี อากุง คริสตานโต รองบรรณาธิการอำนวยการ เผยถึงอีกหนึ่งจุดเด่นของหนังสือพิมพ์คอมพาส ในฐานะหนังสือพิมพ์คุณภาพที่เป็นกระบอกเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงว่า คอมพาสมีแผนกศูนย์ข้อมูลในการเก็บรวบรวมคลังข่าวและภาพ พร้อมแผนกวิจัยและพัฒนาทำหน้าที่จัดทำโพล เพื่อฟังเสียงของประชาชนในประเด็นต่างๆ โดยจะตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกสัปดาห์ ซึ่งแตกต่างจากเมืองไทยที่อาศัยการอ้างอิงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปจากสวนดุสิตโพลเท่านั้น

ผ่าโมเดลหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่แดนอิเหนา กับทางรอดในยุคดิจิทัล

“โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ทุกวันจันทร์ ถือเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนจากประชาชนที่รัฐบาลต้องฟัง และนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาเพื่อต่อยอดต่อไป แต่ก่อนเราเป็นสื่อเดียวที่มีแผนกนี้ แต่ตอนนี้เริ่มมีหนังสือพิมพ์บางฉบับหันมาทำตามบ้าง”

สื่อไม่ตาย แต่ต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์ม

ขณะที่คนในวงการสื่อยังย้ำหนักแน่นว่าสื่อไม่มีวันตาย แต่ในสายตาผู้อ่านกลับมองว่าถึงเวลาแล้วที่สื่อต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์ม

หนึ่งในนั้นคือ เฟอร์ดิ พนักงานอำนวยการบินของสายการบินแอร์เอเชีย สะท้อนภาพการเสพสื่อของชาวอินโดนีเซียว่า กลุ่มที่ยังคงอ่านหนังสือพิมพ์คือกลุ่มผู้ใหญ่ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ไม่ชินกับการอ่านข่าวบนโทรศัพท์ ขณะที่วัยรุ่นส่วนใหญ่หันมาเลือกเสพข่าวสารจากสื่อออนไลน์มากกว่า

“ส่วนใหญ่คนอินโดนีเซียจะเสพข่าวการเมืองและเศรษฐกิจในหนังสือพิมพ์ เพราะมองว่าเป็นแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าเป็นข่าวเบาๆ เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์จะเลือกอ่านจากเว็บไซต์ทั่วไปมากกว่า โดยเว็บไซต์ข่าวยอดนิยมของชาวอินโดนีเซียในเวลานี้คือเว็บไซต์ detik.com ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บข่าวออนไลน์ที่ข่าวค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือ ส่วนตัวผมมีความเชื่อว่าวันหนึ่งสื่อสิ่งพิมพ์จะตาย ที่ยังอยู่ได้คือสื่อกระแสหลักที่เปลี่ยนแพลตฟอร์มมาสู่ออนไลน์”

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ยานติ โอวินา คุณครูชาวอินโดนีเซีย ที่เดินทางมาสอนภาษาอินโดนีเซียในประเทศไทย ยอมรับว่าพฤติกรรมการเสพสื่อของชาวอินโดนีเซียเปลี่ยนไป หันมาอ่านข่าวออนไลน์มากขึ้น แต่เธอยังมีความเชื่อว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่รอด

ผ่าโมเดลหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่แดนอิเหนา กับทางรอดในยุคดิจิทัล

โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์คอมพาส ซึ่งเป็นสื่อใหญ่ในอินโดนีเซีย เพียงแต่ต้องปรับตัวไปสู่การทำออนไลน์ด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยากไม่ใช่น้อย เพราะสื่อออนไลน์อันดับ 1 ที่ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ใช้ชีวิตในกรุงจาการ์ตาคุ้นเคยที่สุดในเวลานี้คือเว็บไซต์ detik.com

“ฉันเองก็ยังอ่านข่าวจากเว็บไซต์นี้เป็นประจำ เพราะคุ้นเคยและวางใจว่าเป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลที่เชื่อถือได้ เหตุผลที่ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเว็บไซต์นี้มากกว่าเว็บไซต์คอมพาส เพราะถือกำเนิดมาในฐานะเว็บข่าวออนไลน์ตั้งแต่วันแรก ขณะที่คอมพาสเริ่มต้นจากการเป็นหนังสือพิมพ์ ทำให้คนยังติดภาพแบบเดิมๆ”