posttoday

ถอดรหัส ‘ท่าเตียน’ แปรเปลี่ยนสู่ฮิปส์วินเทจ

12 ธันวาคม 2560

ในอดีตท่าเตียนเป็นชุมชนการค้าที่ยิ่งใหญ่มาก่อน และการเป็นย่านหัวใจของการค้าที่ยังความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเมืองต่อมาอีกช้านาน

เรื่อง...พริบพันดาว

   ในอดีตท่าเตียนเป็นชุมชนการค้าที่ยิ่งใหญ่มาก่อน ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนท่าเตียนแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทั้งในเรื่องแนวคิดการใช้ที่ดิน อาคารประเภทต่างๆ และการขยายตัวของชุมชน ตามลำดับเวลาตั้งแต่สมัยธนบุรี ต้นรัตนโกสินทร์จนมาถึงปัจจุบัน ช่วยให้เข้าใจถึงวิวัฒนาการของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีพื้นที่ท่าเตียนเป็นพื้นที่ชุมชนสำคัญ

    ประวัติศาสตร์ของชุมชนท่าเตียนนับเป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ การขยายตัวของพื้นที่ราชการและวัง ทำให้มีแรงงาน ไพร่ ช่าง ฯลฯ ที่เข้ามารองรับเจ้านายและมูลนายในพื้นที่ ทำให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่สำคัญของเมืองทั้งในแง่การเป็นศูนย์กลางการปกครอง การเป็นพื้นที่ทางศาสนาที่สำคัญ และการเป็นย่านหัวใจของการค้าที่ยังความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเมืองต่อมาอีกช้านาน

ท่าเตียนย่านเก่า

    จากสูจิบัตร "ท่าเตียน : กรุงเทพฯ บทที่ 1" ของมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ให้ข้อมูลว่า ท่าเตียน สถานที่ที่ได้รับการกล่าวถึงตั้งแต่สมัยอยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์ และสืบเนื่องจนปัจจุบันถือเป็นชุมชนที่รุ่มรวยอันเกิดจากการหล่อหลอมของผู้คนและวัฒนธรรม 3 ส่วน คือ วัง วัด ตลาด

    การเป็นชุมทางการค้าและชุมทางการคมนาคมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องด้วยในครั้งอดีตท่าเตียนเป็นแหล่งรวมทั้งสินค้าชาวบ้านและสินค้าชาววัง เป็นย่านการค้าใหญ่ที่คับคั่งไปด้วยสินค้าหลากหลายชนิด และด้วยทำเลที่เป็น "เมืองน้ำ" ซึ่งเป็นรากฐานของวิถีชีวิตชาวบางกอก ตลาดท่าเตียน จึงผูกโยงกับการคมนาคมของแม่น้ำเจ้าพระยาและเครือข่ายแม่น้ำลำคลองทั้งจากฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร

    ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร นักจัดการความรู้อาวุโส สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติขยายภาพให้เห็นว่า

ถอดรหัส ‘ท่าเตียน’ แปรเปลี่ยนสู่ฮิปส์วินเทจ

    "โดยหลักความเป็นเมืองวัดจากอะไร ท่าเตียนมี ส่วนผสมที่สำคัญก็คือ วัด วัง แล้วก็ชุมชน โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทำให้เป็นเหมือนศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่งนำไปสู่การค้าอาจจะเรียกว่าท่าเตียนเป็น บขส. (บริการขนส่งมวลชน) แห่งแรกของไทยก็ว่าได้"

    เมื่อสังคมเจริญก้าวหน้ามากขึ้น การขยายเมืองทำให้บทบาทของท่าเตียนเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าย่านการค้าและชุมทางที่คึกคักได้ถูกกระจายตัวออกไป แต่บทบาท ของพื้นที่แห่งนี้ก็ไม่ได้ยุติลง บริเวณพื้นที่ท่าเตียน เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงย้ายพระบรมมหาราชวังจากกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาข้ามมาอยู่ฝั่งตะวันออก (คือพระบรมมหาราชวังปัจจุบัน) ซึ่งขณะนั้นเป็นย่านที่คนจีนและคนญวนอาศัยอย่างหนาแน่น

    หลังจากนั้นมีการก่อสร้างพระนครใหม่มีการรื้อกำแพงเมืองฝั่งธนบุรี ย้ายสถานที่ราชการมายังฝั่งพระนคร ขุดคลองรอบกรุงขึ้นใหม่ สร้างกำแพงเมืองและป้อมใหม่ 14 ป้อม นอกจากนี้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ สืบเนื่องจากที่พระเจ้าตากสินได้สถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยธนบุรี นอกเหนือจากการขยายเมือง การบูรณะวัดแล้ว ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ยังมีการสร้างวังอีกหลายวังในเขตท้ายวัดโพธิ์

    สมัยต้นรัตนโกสินทร์ถึงรัชกาลที่ 4 สังคมไทยยังคงเป็นสังคมชาวน้ำ บ้านเรือนราษฎรโดยมากอาศัย และประกอบกิจการค้าอยู่บนน้ำและริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บนบกส่วนใหญ่จะเป็นวัดวัง สถานที่ราชการและบ้านเสนาบดีขุนนางทั้งหลาย ตลาดที่สำคัญคือตลาดน้ำที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองตามจุดตัดบริเวณปากคลองต่างๆ ซึ่งมีทั้งขายปลีกและขายส่งของสินค้าอาหารสด-แห้ง

    มีทั้งลักษณะเรือเร่และเรือนแพในชุมชน เช่น ตลาดน้ำท่าเตียน ตลาดน้ำปากคลองตลาด ส่วนตลาดบกยังมีขนาดเล็ก รับซื้อสินค้าอาหารจากท่าน้ำสำคัญๆ มาขายให้แก่ชาวเมืองที่อยู่ในพระนคร หรือแปรสภาพมาจากตลาดน้ำโดยอาจเช่าที่จากเจ้านาย ขุนนาง หรือจากวัด แล้วทำเพิงค้าขายสินค้าประจำ เช่น ตลาดท้ายวัง เป็นต้น

    การตั้งหลักแหล่งชุมชนในกรุงเทพฯ ยุคนั้นจึงกระจายไปตามแม่น้ำ คลองสายหลักและคลองเล็กคลองน้อย โดยบ้านเรือนจะอยู่ริมฝั่ง หรือไม่ก็เข้าไปในผืนดินแต่ยังสามารถเชื่อมต่อกับแม่น้ำลำคลองได้สะดวก โดยที่พื้นที่บนบกริมฝั่งแม่น้ำมักเป็นพื้นที่ของวัดและพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับวัง เจ้าและบ้านขุนนาง เสนาบดีผู้ใหญ่ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้

ถอดรหัส ‘ท่าเตียน’ แปรเปลี่ยนสู่ฮิปส์วินเทจ

    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังสนธิสัญญา เบาว์ริ่ง สยามหันมาค้าขายกับชาวต่างชาติมากขึ้น รูปแบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการพัฒนาเมืองจากชุมชนชาวน้ำมาเป็นชีวิตเมืองแบบคนบกมากขึ้น

    ล่วงมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการตัดถนนหลายสาย ผู้คนย้ายจากน้ำมาอยู่บนบก ถนนจึงกลายเป็นเส้นทางแห่งการค้า มีการย้ายพระราชฐานที่ประทับออกไปรอบนอกและสร้างตึกแถวหันหน้าออกถนนให้ราษฎรเช่าทำการค้าขายบริเวณรอบๆ พระบรมมหาราชวัง แม้จะยังคงมีวังเจ้านายและบ้านขุนนางอยู่บ้าง แต่ก็ลดจำนวนลงมาก

    ในส่วนของตลาด ท่าเตียนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตลาดท่าเตียน เป็นตลาดที่อยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง มีพื้นที่ครอบคลุมถึงปากคลองคูเมืองเดิม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อยู่ตรงข้ามกับป้อมวิไชยประสิทธิ์พระราชวังเดิมฝั่งธนบุรี ตลาดนี้เรียกว่า ปากคลอง แต่ ภายหลังคนกลับเรียกว่าปากคลองตลาด

    ทั้งท่าเตียนและปากคลองตลาดเป็นที่ที่บรรดาสินค้าจากหัวเมืองทั้งหลาย รวมไปถึงสินค้าที่บรรทุกมาจากสำเภาเมืองจีน สินค้าจากทางเหนือและทางใต้จะต้องมาขนถ่ายกันที่ตลาดนี้ ในย่านท่าเตียนซึ่งทั้งพื้นที่พูดได้ว่าเป็นตลาดนั้น ยังมีตลาดอีกจุดหนึ่งซึ่งแม้ว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่นัก แต่ก็อยู่ในความทรงจำของพื้นที่ท่าเตียนนั่นคือ ตลาดมรกฎ

    ริมฝั่งเจ้าพระยาบนพื้นที่ "ท่าเตียน" มีชีวิตชีวามาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อมการค้าบนบกและ ทางน้ำ แม้ซบเซาลง แต่ยังคงความเป็นย่านวัฒนธรรม อีกบทบันทึกการค้าทางเรือที่ถอดเรื่องราวมาเป็นส่วนหนึ่ง ของนิทรรศการความรู้ โดยเชื่อมโยงศึกษาพื้นที่จริง ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายมิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ บอกว่า

    "การค้า การศึกษา วัฒนธรรมความเชื่อ มันเป็น สิ่งที่อยู่ในชีวิตของคนเรา ไม่เฉพาะคนไทยด้วย แต่เป็นคนทั่วโลกจึงถอดความเชื่อเหล่านั้นจากชุมชนมาเป็นบทเรียนหรือแบบฝึกหัดมาเป็นนิทรรศการ ท่าเตียนถือว่าเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่มีเนื้อหาที่หยิบยกมา"

ถอดรหัส ‘ท่าเตียน’ แปรเปลี่ยนสู่ฮิปส์วินเทจ

 ความเปลี่ยนแปลงของท่าเตียน จากเมืองท่าสู่เมืองเที่ยว

    แม้ในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงในรัชกาลที่ 4 และ 5 ซึ่งมีการค้าขายกับต่างชาติ มีการตัดถนน การใช้รถยนต์ รถราง เข้ามาแทนที่การคมนาคมทางน้ำ มีการพัฒนาตึกแถว ตลาดน้ำเปลี่ยนแปลงมาเป็นตลาดบก แต่พื้นที่บริเวณท่าเตียนยังคงรักษาความเป็นศูนย์กลางทางการค้า ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงไว้ได้จนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 และแปรเปลี่ยนมากลายเป็นย่านท่องเที่ยว วินเทจสุดฮิปส์ในรัชกาลที่ 10 หรือในปัจจุบัน

    กำแหง โตชัยกุล ชาวตลาดท่าเตียนอีกคน ให้สัมภาษณ์ในรายการพินิจนคร ตอน "ท่าเตียน" ว่าท่าเตียนเป็นท่าเรือที่นำไปพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท นครสวรรค์ ต้องมาขึ้นเรือที่นี่ทั้งนั้น มีเรือเขียวเรือแดง

    "ไปบางบัวทองสมัยก่อนก็ต้องมาขึ้นเรือที่นี่ เมื่อก่อนทางรถไม่สะดวก และเป็นตลาดที่คึกคักมาก เพราะขนส่งสินค้าไปตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อก่อนสำคัญมาก"

    ในวันวานท่าเตียนเคยเป็น 1 ใน 30 กว่าห้างร้านประกอบกิจการน้ำตาลปี๊บในท่าเตียน บอกเล่าผ่านความทรงจำของ อุ่นศักดิ์ ชินอิสระยศ เจ้าของกิจการน้ำตาลปี๊บในตลาดท่าเตียน ที่เก็บที่ใส่น้ำตาลปี๊บใบเก่า ตราประทับบางส่วนของงานทำน้ำตาลบรรจุปี๊บ ซึ่งปัจจุบันเปิดร้านขายของที่ระลึกและบริการที่พักกับนักท่องเที่ยว

    "ท่าเตียนที่ขายหลักๆ ก็จะมีน้ำตาล มะพร้าว สังกะสี ข้าวสาร เต้าฮวย ผักผลไม้ และของเบ็ดเตล็ดทุกอย่างจะอยู่ที่ท่าเตียนทั้งหมด แต่หลังจากท่าเตียนอิ่มตัวแล้วก็ย้ายมาที่ปากคลองตลาด"

    สุดสวาสดิ์ ศรีเพ็ญเบ็ญจ ชาวตลาดท่าเตียนอีกคน บอกว่าชุมชนแถวนี้จะเป็นพวกค้าขายเกี่ยวกับโชห่วย และขนส่งสินค้าทางน้ำแห่งแรกในกรุงเทพฯ

    "สินค้าจากต่างจังหวัดเข้ามากรุงเทพฯ ต้องมาขึ้นที่ท่านี้ พอต่อมาความเจริญเข้ามาชุมชนท่าเตียนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่ยุคสมัย พอมาถึงยุคนี้ก็ค้าขายทำมาหากินกับนักท่องเที่ยว"

ถอดรหัส ‘ท่าเตียน’ แปรเปลี่ยนสู่ฮิปส์วินเทจ

     จากย่านการค้าเก่าสู่ที่แฮงเอาต์กลางกรุง จากศูนย์กลางการค้า วัง วัด ตลาด ในอดีต ย่านเก่าท่าเตียนยังคงเสน่ห์ให้ชาวเมืองหลวงและนักเดินทางเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจตั้งแต่วันยังค่ำ ด้วยมุมมองของโค้งน้ำเจ้าพระยา ท่าเตียน คือมุมที่มองพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม มหาราชวรวิหารได้สวยงามที่สุดบนเกาะรัตนโกสินทร์

    นอกจากย่านท่าเตียนจะเป็นแหล่งรวมอาหารแห้งอาหารสดแล้ว ย่านนี้ยังมีร้านอาหารที่บรรจุเมนูทางเลือกให้นักชิมได้มาสัมผัส ทั้งอาหารสไตล์ยุโรป อาหารไทย และอาหารฟิวชั่น จุดเด่นอยู่ที่ร้านรวงต่างๆ เป็นอาหารในสไตล์โฮมเมด ที่ต้องมาสัมผัสรสและบรรยากาศที่ท่าเตียนเท่านั้น

    ไม่ว่าจะเป็น จักรพงษ์ วิลล่า บูติกโฮเทลแห่งแรก จากวังเก่าที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นตะวันตกเปลี่ยนเป็นบ้านพักรับรองเพื่อนผู้เป็นเจ้าของ กลายเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจโรงแรมของย่านท่าเตียนที่เปลี่ยนบ้านพักอาคารเก่าให้กลายเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนเก่าแก่ของท่าเตียน ตั้งแต่ซอยท่าเตียน ซอยประตูนกยูง ขนานตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา กระทั่งถึงซอยปานสุขและจักรพงษ์ วิลล่า

    ไม่ใช่เฉพาะนักเดินทางที่มีท่าเตียนเป็นจุดหมายแรกของการรู้จักพระนคร ท่าเตียนยังเป็นจุดหมายของ "นักดื่ม" ที่เข้ามาใช้เวลาทั้งการทำงานและการพักผ่อน คาเฟ่กว่า 10 แห่ง คือ แหล่งชิลในวันหยุดและเป็นออฟฟิศของมนุษย์ฟรีแลนซ์ในวันทำงาน สำหรับกลางคืนนักดื่มที่หลงใหลความผ่อนคลายจะพบกับเสียงเพลงและบรรยากาศแม่น้ำเจ้าพระยาที่ขนาบด้วยวัด วัง จากบาร์ชั้นดาดฟ้า

    ปัจจุบันท่าเตียน จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวย่านเก่าวินเทจสุดฮิปส์ไปเรียบร้อยแล้ว