posttoday

ทุ่งพระเมรุ

21 ตุลาคม 2560

“สนามหลวง” เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล 

 “สนามหลวง” เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธ.ค. พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา

 ท้องสนามหลวงกำลังมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อันเป็นที่รักยิ่งอย่างหาเสมอเหมือนของปวงชนชาวไทย

 ท้องสนามหลวง หรือ สนามหลวง เป็นสนามขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล กรุงเทพมหานคร

ทุ่งพระเมรุ

 ท้องสนามหลวง เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อปี 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า

 “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’”

 จากเดิมทีที่เรียกกันว่า “ทุ่งนาวัดมหาธาตุ” ในรัชกาลที่ 3 มีการทำนาที่นี่เป็นทางการ หรือในสมัยนั้นเรียกว่า “เป็นการหลวง” ประสงค์จะให้ปรากฏไปถึงนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะญวน ซึ่งมักมีเหตุบาดหมางกันเรื่อยๆ  เพื่อให้รู้ว่าเมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นา แม้กระทั่งใกล้ๆ พระราชวัง เนื่องจากไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เพื่อไม่ประมาท จนกระทั่งมาถึงรัชกาลที่ 4 จึงเลิกทำนา

 เพราะฉะนั้นก่อนจะกลายเป็น “สนามหลวง” นอกจากเรียก “ทุ่งนาวัดมหาธาตุ” แล้ว ยังมีชื่อเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” อีกชื่อหนึ่ง เพราะสถานที่แห่งนี้ใช้เป็นที่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดฯ ให้สร้างบริเวณสำหรับการพระราชพิธีพืชมงคล และพิธีพิรุณศาสตร์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ข้างในสร้างหอพระเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำหรับการพิธี มีพระพุทธคันธารราฐ เป็นต้นหลังหนึ่ง มีพลับพลาหลังหนึ่ง ข้างพลับพลาน้อย สร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรในเวลามีพระราชพิธีพืชมงคลหลังหนึ่ง และสร้างฉางไว้ข้าวนาหลวงในบริเวณนั้นด้วยอีกหลังหนึ่ง โปรดฯ ให้เรียกว่า “ท้องสนามหลวง” จึงพากันเรียกว่า “ท้องสนามหลวง” มาจนบัดนี้ แต่สิ่งก่อสร้างต่างๆ นั้นทรุดโทรม ถึงรัชกาลที่ 5 จึงโปรดฯ ให้รื้อเสีย

 โดยข้อมูลส่วนนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เขียนถึง “วิวัฒนาการของสนามหลวง” ไว้อย่างละเอียด และเพจชมรมประวัติศาสตร์สยาม นำมาเผยแพร่ ซึ่งมีการกล่าวถึงที่มาของการเปลี่ยนชื่อ “ทุ่งพระเมรุ” มาเป็น “ท้องสนามหลวง” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ว่า

ทุ่งพระเมรุ

 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงตัดสินพระราชหฤทัยย้ายพระนครมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ฝั่งเดียวนั้น ทรงตั้งกำหนดเขตพระบรมมหาราชวังขึ้นที่บางกอก โดยโปรดย้ายพวกจีนซึ่งตั้งรกรากอยู่เดิมร่นไปทางใต้ที่สำเพ็ง และให้รื้อกำแพงเมืองกรุงธนบุรีลงเหลือไว้แต่คลองคูเมืองเดิมล้อมรอบพระบรมมหาราชวังกับวังหน้า และก็ให้เว้นที่ดินระหว่างวังหลวงกับวังหน้าไว้เป็นท้องสนามหลวง มีพื้นที่เพียงครึ่งเดียวของสนามหลวงในปัจจุบัน เพราะพื้นที่อีกครึ่งหนึ่งด้านทิศเหนือเป็นวังหน้า

 ท้องสนามหลวงได้ใช้ประโยชน์ในครั้งแรกคืองานพระเมรุพระบรมอัฐิพระชนกแห่งรัชกาลที่ 1 ต่อจากนั้นได้ใช้เป็นสถานที่เพื่องานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่อยู่ตลอดมา จนประชาชนเรียกที่ดินตำบลนี้ว่า “ทุ่งพระเมรุ” ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญพระทัยนัก จึงได้ออกประกาศว่าด้วยท้องสนามหลวงและสนามชัย เมื่อ พ.ศ. 2398 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งเป็นการอัปมงคลมาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า “ทุ่งพระเมรุ” นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้เรียกว่า “ท้องสนามหลวง” เป็นอันได้ความว่า “ท้องสนามหลวง” นั้น ได้เรียกอย่างทางราชการเมื่อ พ.ศ. 2398

 สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีการจัดสร้างพระเมรุมาศ และพระเมรุ ทั้งหมด 4 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ในปี 2527 งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี 2538 งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี 2551 และงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปี 2554

 ปัจจุบันท้องสนามหลวงอยู่ในการกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร ตามที่ประกาศใน หน้า 4 เล่ม 129 ตอนพิเศษ 180 ง ราชกิจจานุเบกษา 26 พ.ย. 2555

 ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการใช้ การบำรุง และการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2555 โดยที่กรุงเทพมหานครเห็นว่า ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งใช้เป็นสถานที่สำหรับการจัดงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี และงานที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น ประกอบกับได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และตั้งอยู่ใกล้สถานที่สำคัญของชาติ คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง และศาลหลักเมือง จึงสมควรต้องมีระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการใช้ การบำรุงและการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวงไว้เป็นการเฉพาะ