posttoday

3 ภารกิจเกียรติยศ 'กรมสรรพาวุธทหารบก'

10 กรกฎาคม 2560

หนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายภารกิจแห่งเกียรติยศ ในการเตรียมงานสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล และกรมสรรพาวุธทหารบก

หนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายภารกิจแห่งเกียรติยศ ในการเตรียมงานสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ กรมสรรพาวุธทหารบก ซึ่งรับผิดชอบใน 3 ภารกิจด้วยกัน ได้แก่ การบูรณะราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ เพื่ออัญเชิญพระโกศทองใหญ่จากพระบรมมหาราชวัง เข้าสู่พื้นที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ดำเนินการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในริ้วกระบวนที่ 3 ที่จะอัญเชิญพระโกศทองใหญ่จากพระมหาพิชัยราชรถ มาเวียนรอบพระเมรุมาศ โดยอุตราวัฏ 3 รอบ แล้วอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นสู่พระจิตกาธาน บนพระเมรุมาศ

สุดท้ายคือ รับผิดชอบในการจัดกำลังพลฉุดชักราชรถ ทั้งในส่วนของราชรถพระนำ และพระมหาพิชัยราชรถ ร่วมในขบวนพระราชอิสสริยศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงจัดชุดซ่อมฉุกเฉินอีกด้วย

พล.ท.อาวุธ เอมวงศ์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานในขณะนี้ว่า ในส่วนการบูรณะราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ ดำเนินการแล้วเสร็จ 90% ขณะนี้ช่างสิบหมู่ของกรมศิลปากรกำลังอยู่ในระหว่างการตกแต่งลวดลาย เมื่อตกแต่งเสร็จกรมสรรพาวุธจึงจะเข้าไปดำเนินการเก็บรายละเอียดอีกครั้ง

3 ภารกิจเกียรติยศ 'กรมสรรพาวุธทหารบก'

“ตอนนี้งานหลักๆ ที่เหลืออยู่ คือสร้างถาดรองพระบรมโกศใหม่ สร้างสะพานเกริน ส่วนราชรถปืนใหญ่ ซึ่งทางกรมสรรพาวุธทหารบกได้ดำเนินการบูรณะราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง และจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้า ได้ดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างทางวิศวกรรม ส่วนล้อและเพลา ส่วนเชื่อมต่อและระบบเบรก รวมถึงทำการทดสอบการสั่นสะเทือน อันเนื่องมาจากการเคลื่อนที่บนพื้นที่ปูด้วยแผ่นคอนกรีต ที่จะใช้ปูพื้นรอบพระเมรุมาศเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตกแต่งลวดลาย และจัดสร้างฐานบุษบก รองรับพระโกศทองใหญ่ โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรเช่นกัน”

ในส่วนของการฝึกพลฉุดชักราชรถ ทางกรมฯ ได้คัดเลือกพลฉุดชักราชรถที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์คือ เป็นนายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน ลูกจ้าง พนักงานราชการ รวมถึงพลทหาร ที่มีลักษณะท่าทางดี นํ้าหนัก ส่วนสูงเหมาะสม โดยเน้นความแข็งแรงของร่างกาย พร้อมที่จะปฏิบัติในพิธีเป็นเวลานาน โดยในการฝึกกําลังพลฉุดชักราชรถ ประกอบด้วย 7 ท่า ได้แก่ ท่าเบื้องต้น ท่าหยิบเชือก ท่าวางเชือก ท่าถวายบังคม ท่าเดินตามปกติ ท่าหยุดจากการเดิน และท่าเดินประกอบเพลงพญาโศกลอยลม

“สิ่งที่น่าภาคภูมิใจคือ หลังจากที่มีการประกาศรับสมัครออกไป ปรากฏว่ามีผู้สมัครจากทั่วประเทศมาเกินจำนวน เราจึงมีความจำเป็นต้องคัดเลือกเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์จริงๆ บางคนเพื่อที่จะผ่านเกณฑ์แต่ความสูงไม่ถึงที่เรากำหนด คือ 165-180 ซม. ลงทุนไปเสริมส้นรองเท้าก็มี สำหรับการฝึกซ้อมฉุดชักราชรถให้ทำหน้าที่ได้อย่างพร้อมเพรียงสมพระเกียรติ เราฝึกค่อนข้างหนัก เพราะด้วยน้ำหนักของราชรถที่ค่อนข้างมาก อย่างพระมหาพิชัยราชรถมีน้ำหนักถึง 14 ตัน ถึงจะใช้พลฉุดชักเป็นร้อย แต่ด้วยระยะทางที่ค่อนข้างไกล ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน เราจึงต้องฝึกให้พลฉุดชักมีความแข็งแรงและอดทนจริงๆ"

3 ภารกิจเกียรติยศ 'กรมสรรพาวุธทหารบก'

สำหรับความท้าทายในการทำงานเพื่อบรรลุภารกิจในครั้งนี้ เจ้ากรมสรรพาวุธเปิดใจว่าท้าทายในทุกขั้นตอน เพราะมุ่งหวังที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด จึงต้องลงรายละเอียดเพื่อหาข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด ขั้นตอนการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การตรวจสอบที่แม่นยำที่สุด

“แม้ว่ากรมสรรพาวุธทหารบกจะมีประสบการณ์ในการบูรณะราชรถ ราชยาน มาแล้วหลายโอกาส เราก็ยังคงหาแนวทางพัฒนารูปแบบการดำเนินการต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์เชิงวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันเข้ามาผสมผสานกับประสบการณ์ที่สั่งสมมา จนได้ขั้นตอนการปฏิบัติที่เหมาะสมกับการบูรณะราชรถราชยานมากที่สุด”

ที่ผ่านมา กรมสรรพาวุธทหารบกเคยปฏิบัติภารกิจนี้มาแล้ว 5 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2528 ครั้งที่ 2 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2539 ครั้งที่ 3 พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2551 ครั้งที่ 4 พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2555 และครั้งที่ 5 พิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2558

3 ภารกิจเกียรติยศ 'กรมสรรพาวุธทหารบก'

“ในการปฏิบัติ 4 ครั้งแรก กรมสรรพาวุธทหารบกรับผิดชอบในการบูรณะราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ และรับผิดชอบในการจัดกำลังพลฉุดชักราชรถ ทั้งในส่วนของราชรถพระนำและพระมหาพิชัยราชรถ ส่วนการปฏิบัติในครั้งที่ 5 นั้น กรมสรรพาวุธทหารบกรับผิดชอบในการบูรณะ เช่นเดียวกับ 4 ครั้งแรก แต่จัดกำลังพลฉุดชักราชรถ ในส่วนของราชรถพระนำและราชรถน้อย เนื่องจากในพิธีมิได้ใช้ พระมหาพิชัยราชรถเหมือนดังเช่นงานพระราชพิธีของพระบรมวงศานุวงศ์”

นอกจากการบูรณะราชรถราชยานประกอบพระราชพิธีในครั้งนี้แล้ว อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญที่กรมสรรพาวุธทหารบกได้รับมอบหมาย นั่นก็คือการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ ประกอบริ้วกระบวนที่ 3 ซึ่งในการจัดสร้าง กรมสรรพาวุธทหารบกต้องร่วมมือกับหลายฝ่ายในการค้นคว้าหาข้อมูลประกอบ เพื่อให้ได้แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีมากที่สุด จากนั้นจึงมอบหมายให้กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือและบุคลากรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ โดยให้มีรูปแบบเป็นไปตามราชรถปืนใหญ่ที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8 จำนวน 3 องค์ ได้แก่ องค์ต้นแบบ องค์จริง และองค์สำรอง

"จากการตรวจสอบ กรมสรรพาวุธพบว่า ราชรถปืนใหญ่ส่วนหลังในสมัยรัชกาลที่ 8 นั้น มีมิติและขนาดเทียบเคียงได้กับปืนใหญ่ภูเขาแบบ 51 ที่ตั้งแสดงอยู่หน้ากองบัญชาการศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก จึงได้ขออนุมัติเพื่อนำไปถอดแยกและซ่อมบำรุง เพื่อจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง สำหรับราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้านั้น กรมสรรพาวุธทหารบกได้ขอรับการสนับสนุนรถหีบกระสุนใหญ่ แบบ 51 จากศูนย์การทหารปืนใหญ่จำนวน 3 คัน เพื่อดำเนินการสร้างต้นแบบราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้าต่อไป"

3 ภารกิจเกียรติยศ 'กรมสรรพาวุธทหารบก' พล.ท.อาวุธ เอมวงศ์

นอกจากอาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบที่ถูกต้องแล้ว กรมสรรพาวุธยังใช้หลักทางวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างของราชรถปืนใหญ่ ให้มีความแข็งแรงและปลอดภัยมากที่สุดอีกด้วย

สุดท้ายนี้ ในฐานะตัวแทนกำลังพลของกรมสรรพาวุธทหารบก ที่ได้มีโอกาสทำงานถวายพระเกียรติสูงสุดให้กับพระมหากษัติรย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของคนไทยทั้งประเทศ พล.ท.อาวุธ กล่าวแทนความรู้สึกของคนไทยทั้งชาติว่า ไม่มีใครอยากให้มีพระราชพิธีนี้เกิดขึ้นก็จริง หากพระราชพิธีถวายพระเพลิงในครั้งนี้นับว่าสำคัญที่สุด

"ผมและกำลังพลของกรมสรรพาวุธทุกนายจะทุ่มเทกำลังกายและสติปัญญา ทำภารกิจที่ได้รับมอบครั้งนี้ อย่างเต็มกำลังขีดความสามารถ และคือเป็นความภาคภูมิและเกียรติยศอย่างสูงยิ่งต่อตัวเองและวงศ์ตระกูล”