posttoday

45 ปีศูนย์เมอร์ซี่ กับความทรงจำของคุณพ่อโจเซฟ ไมเออร์

01 มกราคม 2560

เมื่อถูกขอให้มองย้อนกลับไป บาทหลวงโจเซฟ เอช ไมเออร์ หรือคุณพ่อโจเซฟแห่งเมอร์ซี่ เซ็นเตอร์

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ ศูนย์เมอร์ซี่, วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

เมื่อถูกขอให้มองย้อนกลับไป บาทหลวงโจเซฟ เอช ไมเออร์ หรือคุณพ่อโจเซฟแห่งเมอร์ซี่ เซ็นเตอร์ (มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล โครงการอุปถัมภ์เด็กบ้านเมอร์ซี่) ก็ทอดสายตาลงที่เบื้องหน้าพร้อมๆ กับผ่อนลมหายใจยาว ดวงตาฉายแววเมตตา ก่อนจะเล่าถึงคืนวันในอดีตของศูนย์เมอร์ซี่ บ้านพักสำหรับเด็กด้อยโอกาส สถานสงเคราะห์เยาวชนแห่งย่านชุมชนแออัดลือนาม “70 ไร่” หรือที่เรียกขานกันมาแต่เก่าว่า สลัมคลองเตย

45 ปีย้อนกลับไป ศูนย์เมอร์ซี่คือหนึ่งในสถานสงเคราะห์แห่งแรกๆ ในย่านที่ได้ชื่อว่าจนที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร สลัมคลองเตยที่รวบรวมไว้ซึ่งผู้คนและความทุกข์ยากทุกประเภทความแร้นแค้นและความยากจนทุกชนิด สลัมที่ได้ชื่อว่าหลังคาเกยกันไม่จบสิ้น ผู้คน ความแออัด ความคับข้อง ทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากน้อย หากสิ่งหนึ่งที่ยังคงเดิมคือความยากจน ความขาดแคลน กับปัญหามากมายที่สุมทับซับซ้อน

45 ปีศูนย์เมอร์ซี่ กับความทรงจำของคุณพ่อโจเซฟ ไมเออร์

 

“พ่อไม่เคยนึกถึงอดีตนะ พ่อมองไปข้างหน้า แต่ถ้าให้มองย้อนไปจริงๆ สิ่งที่พ่อเห็นคือสิ่งที่พ่อต้องขอบคุณ อันดับแรกคือคนไทย ขอบคุณคนไทยที่อนุญาตให้เราอยู่ในประเทศ ขอบคุณคนไทยที่อนุญาตให้พ่ออยู่ที่นี่”

ปัจจุบันคุณพ่อโจเซฟอายุ 77 ปีแล้ว ท่านเป็นบาทหลวงอเมริกันในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก มาอยู่เมืองไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน จำได้ว่าขณะนั้นอายุเพียง 25 ปี โดยคุณพ่อใช้คำว่า “อ้อ! เบญจเพสพอดีเลย” ในวัยครบเบญจเพสนี้หากเป็นคนไทยเก่าๆ หรือคนไทยโบราณ จะรู้ว่าเป็นวัยเข้าเคราะห์ มักเหตุอาเพศ แต่สำหรับคุณพ่อ เมื่อรู้ว่ากำลังจะถูกคณะสงฆ์ส่งตัวมาอยู่ที่ประเทศไทย คุณพ่อกลับดีใจ ดีใจที่จะได้มาทำงาน หวังใจว่าจะได้ช่วยเหลือผู้ต่ำต้อยหรือผู้ถูกทอดทิ้ง เพราะคุณพ่อเองสมัยที่เป็นเด็ก ก็เคยถูกทอดทิ้งมาก่อนเช่นกัน

45 ปีศูนย์เมอร์ซี่ กับความทรงจำของคุณพ่อโจเซฟ ไมเออร์

 

“โรงเรียนคอกหมู” คือ สถานที่แห่งแรกที่คุณพ่อเข้าไปดำเนินการให้เป็นโรงเรียนขึ้นมา จริงๆ แล้วคือโรงฆ่าสัตว์หรือโรงฆ่าหมูในย่านชุมชนชาวคริสต์ที่ขณะนั้นอาศัยหนาแน่นอยู่ในเขตสลัม เด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ มีการตั้งโรงเรียนวันละ 1 บาท สำหรับเด็กไทยพุทธและเด็กอิสลามที่ยากจน พ่อแม่จ่ายค่าเรียนค่าสอนให้ครูเป็นรายวันแค่วันละ 1 บาท กระนั้นก็ยังถือว่าแพงสำหรับสมัยเมื่อ 40 ปี

ไทยพุทธและไทยอิสลามมีโรงเรียนราคาถูกให้เด็กได้เข้ารับการสั่งสอนอบรม คุณพ่อโจเซฟจึงริเริ่มศูนย์เมอร์ซี่สำหรับเด็กๆ ขึ้นมาบ้าง สมัยนั้นบ้านของครูเองนั่นแหละที่เปิดสอนให้เด็กมาเรียน เช่น ที่บ้านของครูสุณีย์ บ้านของครูสุวเชาว์ บ้านของอิหม่ามที่มัสยิดนูรุ้ลฮิดายาติ้ล (ท่าเรือคลองเตย) สำหรับคุณพ่อโจเซฟใช้โรงฆ่าหมูเป็นห้องเรียน สอนหนังสือเด็กในคอกหมูที่ว่าง เรียกขานกันในตอนนั้นว่าโรงเรียนคอกหมู ต่อมาจึงได้แยกพื้นที่ของโรงเรียนออกจากพื้นที่ของโรงฆ่าสัตว์ เรียกว่า ศูนย์เด็กล็อก 6

“อิหม่ามแกสอนเด็กที่ในบ้าน เก็บวันละ 50 สตางค์บ้าง 1 บาทบ้าง ลูกสาวแกก็ยังมาช่วยสอนอยู่ที่นี่ ครูจำเนียรสอนที่หน้าบ้าน ครูประทีปเมื่อแรกก็สอนในบ้านก่อน การศึกษาของที่นี่คือแบบนี้ บางทีโรงเรียนของเด็กๆ ก็แค่ร่ม 1 อันกับเสื่อที่ปูให้เด็กนั่ง ครูถือร่มไว้”

45 ปีศูนย์เมอร์ซี่ กับความทรงจำของคุณพ่อโจเซฟ ไมเออร์

 

เด็กคริสต์จากเดิมที่ไม่มีสถานที่เรียน ก็เริ่มเรียนกันในคอกหมูก่อน จากนั้นไม่นานช้าก็ขยับขยายไปหาเช่าบ้าน ซึ่งบ้านเช่าที่พระหนุ่มในสมัยนั้นพอจะมีกำลังเช่าได้ก็อยู่ไม่ไกลจากเดิมเลย ก็คือบ้านเช่าที่อยู่บนคอกหมูนั่นเอง คุณพ่อยังจำได้ วันแรกมีนักเรียนมาเรียน 6 คน ฝนตกทีน้ำก็ท่วมคอกหมูที ก้มหน้าก้มตาเรียนกันไปไม่บ่น วันหนึ่งมีเด็กคนหนึ่งตะโกนขึ้นว่า คุณพ่อ! ผมเขียนชื่อตัวเองได้แล้ว

แค่เล่าถึงความหลัง คุณพ่อก็แอบหันหน้าหนีเพื่อซ่อนน้ำตาคลอ คงไม่ต้องนึกว่าในวันที่เด็กคนนั้นเปล่งเสียงตะโกนขึ้นมาจริงๆ จะสร้างความดีใจให้แก่คุณพ่อโจเซฟขนาดไหน คุณพ่อบอกว่า ในทั้งหมดนี้ให้เข้าใจชีวิต คุณพ่อไม่ใช่ฮีโร่ ถ้าเขียนถึงคุณพ่อแบบนี้ คุณพ่อจะหาเรื่องโพสต์ทูเดย์ทันทีเพราะมันไม่ใช่ความจริง หากความจริงก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นพลังที่มาจากตัวเด็กเอง มาจากชาวบ้าน มาจากชุมชน

“ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดคือพลังของสตรี พลังของช้างเท้าหลัง ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมด พ่อกำลังหมายถึงซิสเตอร์มาเรีย ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์เมอร์ซี่ จากอดีตถึงปัจจุบันคุณแม่คือหัวใจของเซ็นเตอร์ คือพลังที่ยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ ปัจจุบันคุณแม่มาเรียอายุ 86 ปีแล้ว ยังแข็งแรงและยังเดินไปด้วยกันในสลัม”

45 ปีศูนย์เมอร์ซี่ กับความทรงจำของคุณพ่อโจเซฟ ไมเออร์

 

คุณพ่อโจเซฟกล่าวต่อไปว่า หากในช่วงเริ่มต้นไม่มีคุณแม่มาเรีย หรือรองประธาน ซิสเตอร์มาลินี ฉันทวโรดม ศูนย์เมอร์ซี่คงเดินมาไม่ไกลถึงวันนี้ ได้พูดกับคุณแม่มาเรียในวันนั้นว่า “ผมทำคนเดียวไม่ได้ ซิสเตอร์จะช่วยกันมั้ย ถ้าที่นี่จะมีโรงเรียน” ชาวบ้านเชื่อคุณแม่ เชื่อคนไทยด้วยกัน ชาวบ้านสมัครใจที่จะเชื่อซิสเตอร์มาเรียมากกว่าบาทหลวงหนุ่มอ่อนหัด ชาวบ้านที่ไหนใครเขาจะมาเชื่อ เอ๊ะ พระฝรั่งนี่จะงี่เง่าหรือเปล่า จะเอาจริงหรือเปล่า จะทำร้ายพวกเขาหรือเปล่า

ปัจจุบันศูนย์เมอร์ซี่มีเด็กกินนอนที่ต้องดูแลใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์รวม 150 คน ดูแลเด็กที่พ่อแม่ติดเชื้อ เด็กขาดโอกาส เด็กที่พ่อแม่ติดคุก หมดโอกาสหนทาง เร่ร่อน การดูแลเด็กในเขตพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูงทั้งในเรื่องยาเสพติดและอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย หากคุณพ่อบอกว่า เราคือผู้รับใช้ วางใจไว้อย่างเป็นผู้รับใช้ วางใจไว้อย่างเป็นผู้ต่ำต้อย โดยหลักในเรื่องนี้ก็คือ เราไม่ใช่ตำรวจ แต่เราเป็นครู

เมื่อวางตัวเป็นครู ก็อยู่อย่างครู คิดอย่างครู ไม่ได้คิดอย่างตำรวจหรือสันติบาล เราต้องรู้ว่าเราอยู่ในชุมชน เราต้องถ่อมตัว และเราคือผู้รับใช้ เพราะฉะนั้นเห็นอะไรผิดหูผิดตาก็พึงคิดอย่างถ่อมตน คิดอย่างคนไทย ถ้าไม่ก้าวข้ามเส้นที่เราขีดไว้ เช่น ไม่มาขายยาให้เด็กของเรา ไม่มาขายยาให้เด็กๆ ในพื้นที่ เราก็อาจหลิ่วตาเสียหน่อยหนึ่งได้ ส่งคำเตือนไปบ้าง แต่ไม่ใช่ตรงเข้าฟ้องร้องหรือเข้าจับกุมแบบตำรวจแบบผู้มีอำนาจ

45 ปีศูนย์เมอร์ซี่ กับความทรงจำของคุณพ่อโจเซฟ ไมเออร์

 

“บางทีก็แม่เด็กเองที่เป็นคนขายยา บางทีเด็กก็ไม่ได้เสพแต่ถูกใช้เดินยา เขาให้ 20 บาทก็เอาแล้ว เพราะจะเอาให้ยายไปซื้อข้าว ไม่มีข้าวจะกินกัน เด็กเดินยาเพื่อจะเอาเงินแค่ 20-30 บาท ไปซื้อข้าวมากิน” คุณพ่อโจเซฟ เล่า

ที่เสียใจมากที่สุดในชีวิตการเป็นพระ คือครั้งหนึ่งที่มียายคนหนึ่ง เอาหลานให้ไปเรียนหนังสือบ้าง ไม่ไปเรียนหนังสือบ้าง เอาหลานไปขายพวงมาลัยบ้าง เอาหลานให้คนอื่นจูบเขาบ้าง คุณพ่อโกรธมาก ถึงขั้นลืมตัวด่าว่ายายด้วยถ้อยคำรุนแรงไปอย่างชนิดที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้หลายคำ แต่ต่อมาคือความจริงที่ปรากฏ ยายยากจนมาก สิ้นไร้ไม้ตอก หมดหนทางจะอยู่จะกิน อีกวันนั้นได้ไปขอโทษยาย ยายตอบเบาเหมือนไม่ตอบว่า ไม่เป็นไรหรอก เด็กหลานยายคนนั้นปัจจุบันได้มาอยู่ในความดูแลของเมอร์ซี่

แล้วในสลัมคลองเตยมีอภินิหารมั้ย คำตอบคือมี คุณพ่อย้อนถามคนสัมภาษณ์ว่า เห็นมั้ย? เราเข้าไปในสลัม เราอยู่ในสลัม มีบ้านกระต๊อบหลังเล็กๆ เป็นโรงเรียน รั้วไม่มี กำแพงไม่มี ฝาห้องก็แค่ผลักไปเบาๆ มีครูผู้หญิง 3-4 คนยืนสอนหนังสือเด็กเล็กๆ อยู่ในนั้น ผู้หญิงทุกคนคือความสวย คุณพ่อบอกว่าพ่อไม่ได้ทะลึ่งนะ แต่เล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่

45 ปีศูนย์เมอร์ซี่ กับความทรงจำของคุณพ่อโจเซฟ ไมเออร์

 

“ผู้หญิงทุกคนคือความสวย แต่ไม่ได้โดนข่มขืน ทำไมไม่โดนข่มขืน เพราะทุกคนช่วยป้องกันเรา ชาวบ้านช่วยดูแลเรา เพราะเราสอนลูกหลานของพวกเขาให้มีความรู้ ดูแลลูกหลานของพวกเขาให้มีอนาคต ไม่มีใครทำอะไรเรา อยู่ที่นี่มา 40 ปี ไม่เคยมีครูโดนข่มขืน นี่ล่ะ! ไม่ใช่พ่อ แต่คือชาวบ้าน อภินิหารคือชาวบ้าน”

กลุ้มใจแต่ไม่ใช่ตามยถากรรม การแก้ปัญหาคือการศึกษา มนต์ที่ท่องบ่นทุกคนของที่นี่ คือ “Go to School” ไปโรงเรียนๆๆๆๆๆ และไปโรงเรียน ทุกอย่างใช้การศึกษานำ ทุกอย่างใช้การศึกษาแก้ การศึกษาสำคัญ คุณพ่อมองตัวเองเป็นหน่วยของศาสนา ที่มีหน้าที่ต่อหน่วยของชาวชุมชน มีหน้าที่ต่อเด็กๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นมีทางแก้ทางเดียวคือไปโรงเรียน การศึกษาจะทำให้คนจนมีโอกาส ไม่มากก็น้อย ไม่น้อยก็น้อยที่สุด แต่ไม่ว่าจะน้อยแค่ไหน คุณพ่อก็ขอเสี่ยง เพื่อโอกาสที่น้อยยิ่งกว่าน้อยนั้น

“ไปโรงเรียนเพื่อโอกาสที่ดีขึ้น อ่านออกเขียนได้ ดูแลตัวเองได้ รับผิดชอบในสิทธิและหน้าที่ของตัว เมอร์ซี่ดูแลช่วงปฐมวัยเพราะถือว่าสำคัญ สำหรับคนจนและเด็กจนๆ ถ้าผ่านจุดนี้หรือวัยนี้ไป จะไม่ทันการณ์เพราะที่สุดแล้วเด็กจะถูกกันออกจากระบบ เด็กจะเลยออกไปจากระบบ จนไม่อาจกลับมาอีก กลายเป็นคนนอกที่ไม่มีโอกาส”

ปัจจุบัน เมอร์ซี่ เซ็นเตอร์ ช่วยเหลือเด็กและชุมชนแออัด ทั้งด้านการศึกษา การช่วยเหลือครอบครัว ด้านสุขอนามัยและชีวิตความเป็นอยู่ ด้านสิทธิเด็ก การปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้เยาว์ รวมถึงผู้ใหญ่และเด็กติดเชื้อ ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับเชื้อเอชไอวี มีการจัดบ้านพักสำหรับเด็กกำพร้า เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่มาจากการค้ามนุษย์ เด็กที่ถูกส่งตัวมาจากศาล ที่นี่ยังมีศูนย์เด็กปฐมวัยสำหรับเด็กเล็กและโรงเรียนยานุส คอร์ซัคแห่งเอเซียอาคเนย์สำหรับเด็กนอกระบบ ฝึกทักษะอาชีพและจัดการศึกษาแบบ กศน.

45 ปีศูนย์เมอร์ซี่ กับความทรงจำของคุณพ่อโจเซฟ ไมเออร์

 

ไม่เฉพาะเด็กยากจนใน กทม. ทั้งในชุมชน 70 ไร่ และในชุมชนแออัดอีกหลายแห่ง ความช่วยเหลือของศูนย์เมอร์ซี่ยังรวมไปถึงการอนุเคราะห์แก่เด็กเร่ร่อน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เด็กชาวมอแกน โครงการการศึกษาครอบคลุมถึงการให้การศึกษาแก่เด็กขาดโอกาสตามไซต์งานก่อสร้าง ปัจจุบันมีการสนับสนุนศูนย์เด็กแคมป์ก่อสร้างจำนวน 9 แห่ง โดยตลอดระยะเวลา 45 ปีจนปัจจุบัน ศูนย์เมอร์ซี่อนุเคราะห์และให้การช่วยเหลือเด็กไปแล้วจำนวนกว่า 5 หมื่นคน

สายลมพัดผ่านกองขยะ ความทุกข์ของคุณพ่อโจเซฟ เอช ไมเออร์ ถ้ามีก็มลายหายไปสิ้นด้วยรอยยิ้มของเด็กๆ ถ้ามีก็มลายหายไปได้ด้วยเสียงหัวเราะของเด็กๆ หายใจเข้าคือเกิด หายใจออกคือตาย ทุกศาสนาสอนเหมือนกันคือการเป็นผู้รับใช้ในคุณความดี “ไม่เป็นไร” เสียงของยายที่เอาหลานไปให้คนอื่นจูบลอยแว่วมาในสายลมและห้วงคำนึง ถามคุณพ่อว่า จบหรือยัง เรื่องเล่าจากเมอร์ซี่

คุณพ่อโจเซฟยิ้มน้อยๆ ก่อนจะบอกด้วยรอยยิ้มปรานี เรื่องเล่าจากเมอร์ซี่ไม่มีวันหมด และคุณพ่อเองก็ไม่มีวันจะจากไปไหน หากเบื้องบนยังอนุญาต หากคนไทยยังอนุญาต หากชาวชุมชนยังอนุญาต คุณพ่อก็จะขออนุญาตอยู่และทำงานที่ชุมชน 70 ไร่ ต่อไป ศูนย์เมอร์ซี่จะอยู่ที่สลัมคลองเตย...ตราบเท่าลมหายใจ...โจเซฟ เฮนรี ไมเออร์

มาช่วยกันสนับสนุนเด็กๆ ที่ศูนย์เมอร์ซี่

ธนาคารกสิกรไทย สาขาสุขุมวิท 57 บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 046-2-79042-2 ชื่อบัญชี มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล  

ธนาคารธนชาต สาขากล้วยน้ำไท บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 493-6-01998-5  ชื่อบัญชี มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล