posttoday

สตาร์ทอัพ เพื่อสังคม สานฝันแว่นเพื่อคนตาบอด

21 พฤษภาคม 2559

นวัตกรรมหลายอย่างถูกคิดค้นมาจากโปรเจกต์ของนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่บ่อยครั้งที่สิ่งเหล่านี้

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

นวัตกรรมหลายอย่างถูกคิดค้นมาจากโปรเจกต์ของนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่บ่อยครั้งที่สิ่งเหล่านี้ได้สูญหายไปพร้อมกับนักศึกษาที่เรียนจบไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่ได้นำมาต่อยอด หรือพัฒนาต่อ แต่มีนักศึกษาที่เห็นความสำคัญของโปรเจกต์ว่ามันสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ได้อีก จึงเป็นที่มาของการต่อยอดโปรเจกต์แว่นตาอัจฉริยะวิชั่นเนียร์

นันทิพัฒน์ นาคทอง และบุษภาณี พงษ์ศิริยาภรณ์ ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ของผู้ทำโครงการแว่นตาอัจฉริยะสำหรับผู้พิการทางสายตาเป็นโปรเจกต์ก่อนเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ขอเดินหน้าสานโปรเจกต์ให้เป็นจริงต่อแม้ว่าจะเรียนจบแล้ว โดยได้ร่วมมือกันทำสตาร์ทอัพ ชื่อว่า วิชั่นเนียร์(Visionear) ควบคู่ไปกับการศึกษาต่อปริญญาโท ซึ่งนันทิพัฒน์เลือกศึกษาต่อปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเช่นเดิม ส่วนบุษภาณีเลือกศึกษาปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเช่นกัน

นันทิพัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งวิชั่นเนียร์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับเพื่อนทำโครงการแว่นตาอัจฉริยะสำหรับผู้พิการทางสายตาเป็นโปรเจกต์เรียนจบ เมื่อครั้งศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ซึ่งเวลานั้นไม่ได้ทำโครงการนี้เป็นเชิงธุรกิจเลย กระทั่งเมื่อเรียนจบแล้วจึงเริ่มมองว่า หากปล่อยให้โครงการนี้เป็นแค่เพียงโครงการที่ทำให้เรียนจบ ไม่มีเงินทุน ก็คงไม่สามารถผลักดันให้แว่นตาอัจฉริยะถูกนำไปใช้จริงได้ จึงน่าจะต่อยอดโครงการแว่นตาอัจฉริยะให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (โซเชียลเอนเตอร์ไพรส์) ได้ เพราะธุรกิจเพื่อสังคมสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้

สตาร์ทอัพ เพื่อสังคม สานฝันแว่นเพื่อคนตาบอด

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรียนจบแล้วบางคนแยกย้ายไปทำงานประจำเรียบร้อยแล้วจึงเหลือกันอยู่ 2 คน ช่วยกันเดินหน้าโครงการนี้ต่อเพื่อให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม พร้อมดึงคนใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มเติม หลักๆ คือเรื่องการปรับปรุง การออกแบบแว่นตาอัจฉริยะ ซึ่งก็ได้ไปหารือกับ REDEX บริษัทด้านการออกแบบที่ทีมงานก็เป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่จบการศึกษาแล้วมาทำบริษัทเชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ก็มีหน่วยงานอื่นๆ ที่ทีมวิชั่นเนียร์ได้เข้าไปร่วมโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้นเข้ามาสนับสนุนธุรกิจด้วย ได้แก่ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมาจากการร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ได้คอยให้คำปรึกษาแนวทางเรื่องธุรกิจ และล่าสุดก็ได้เข้าร่วมอบรมในโครงการดีแทคแอคเซอเลอเรท ปีที่ 4 โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ และก็ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 11 ทีมที่มีโอกาสจะได้เงินทุนทีมละ 5 แสน-1.5 ล้านบาท พร้อมรับการสนับสนุนในเชิงพาณิชย์ โดยมี ทิวา ยอร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขายดีดอทคอม (Kaidee.com) เป็นผู้ให้คำแนะนำทีม ไม่เพียงเท่านี้ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเงินทุนแบบให้เปล่าช่วงที่ผ่านมา ประมาณ 1 ล้านบาท

นันทิพัฒน์ เล่าย้อนไปถึงช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะว่า จุดเริ่มต้นมาจากประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตามากถึง 3 แสนคน ในจำนวนนี้ครอบคลุมคนที่สายตาพร่ามัวและตาบอดสนิท ด้วยเหตุนี้จึงได้เข้าไปพูดคุยกับพี่ๆ ที่พิการทางสายตาในสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพื่อศึกษาว่าพี่ๆ เหล่านี้ยังมีปัญหาเรื่องอะไรที่เผชิญอยู่บ่อยๆ บ้าง เพราะเทคโนโลยีที่ช่วยในการนำทางให้ผู้พิการทางสายตาก็มีอยู่แล้ว โดยหลังพูดคุยก็ได้คำตอบมาว่าผู้พิการทางสายตาจะเจอปัญหาเรื่องไม่สามารถใช้วิธีการคลำแล้วแยกแยะสิ่งของหลายอย่างที่ต้องใช้หรือเจอในชีวิตประจำวันได้ เช่น ขวดซอสที่มีลักษณะเหมือนกันแต่ไม่รู้ว่าภายในเป็นซอสประเภทไหน หรือเสื้อผ้าที่สัมผัสก็จะไม่ทราบว่าเป็นสีอะไร

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเลือกทำแว่นตาที่สามารถถ่ายภาพสิ่งของที่อยู่ตรงหน้าแล้วอธิบายให้ผู้พิการทางสายตาที่สวมแว่นนั้นฟังได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ซึ่งก็จะเลือกเฉพาะสิ่งที่ผู้พิการทางสายตาคลำแล้วแยกไม่ออกเท่านั้นในการอธิบาย เช่น การแยกสี การอธิบายผลิตภัณฑ์จากบาร์โค้ด การแยกแยะชนิดธนบัตร และการแยกแยะเรื่องการเปิด-ปิดไฟ เป็นต้น

“พวกเราอยากทำแว่นตาอัจฉริยะให้คนตาบอดใช้ ซึ่งก็ใช้เวลาพัฒนากว่า 1 ปี โดยรูปแบบการใช้งานแว่นตาก็คือตัวแว่นจะมีกล้องถ่ายรูปอยู่ข้างหน้า ซึ่งผู้ที่ใช้งานจะชูผลิตภัณฑ์ที่ต้องการให้แยกแยะขึ้นในระยะไม่ไกลเกิน 1 ฟุตหน้าแว่นตา จากนั้นระบบในแว่นตาอัจฉริยะจะประมวลผลในเวลาเสี้ยววินาทีเพื่อระบุให้ผู้ใช้งานทราบ โดยปัจจุบันจัดทำให้สามารถอธิบายได้3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน และระบบประมวลผลอยู่ในแว่นตาเลย ไม่จำเป็นต้องต่ออินเทอร์เน็ตจึงจะประมวลผล” นันทิพัฒน์ กล่าว

สำหรับที่มาของหลักการชูของขึ้นมาด้านหน้าแว่นตาไม่เกิน 1 ฟุต ที่ให้แว่นอัจฉริยะประมวลผลนั้น นำมาจากวิธีการถ่ายภาพเซลฟี่ของผู้พิการทางสายตา ซึ่งจะเริ่มจากการนำโทรศัพท์มือถือมาแปะที่หน้าแล้วดึงออกมาด้านหน้าเพื่อถ่ายภาพ โดยทีมวิชั่นเนียร์เลือกระยะไม่เกิน 1 ฟุต เพราะหากไกลกว่านั้นอาจทำให้แยกแยะผลิตภัณฑ์ด้านหน้ายากเกินไป

ในกรณีที่ผู้พิการทางสายตาต้องการแยกแยะธนบัตรที่อยู่ตรงหน้าว่าเป็นธนบัตรชนิดราคาเท่าไหร่นั้น ปัจจุบันระบบประมวลผลของวิชั่นเนียร์ยังรองรับเฉพาะธนบัตรไทยเท่านั้น แต่อนาคตก็คงพัฒนาเพิ่มเติม ส่วนความสามารถที่แว่นตาอัจฉริยะบอกได้ว่า ไฟเปิดหรือปิดอยู่นั้นทำขึ้นเพราะว่าถึงแม้ผู้พิการทางสายตาจะไม่ได้ใช้ไฟในบ้านตัวเองหรือตามสถานที่ต่างๆ แต่เมื่อมีคนแวะเวียนมาหาที่บ้านหรือสถานที่นั้นๆ ก็อาจต้องเปิดไฟ ซึ่งหลายครั้งคนพิการทางสายตาอาจไม่ทราบว่าไฟยังเปิดอยู่ ทำให้ต้องเสียค่าไฟเพิ่มโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นแว่นอัจฉริยะก็จะช่วยบอกได้

นันทิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ตัวเองจะทำหน้าที่ในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่ใช้กับแว่นตาอัจฉริยะ ส่วนบุษภาณีจะทำหน้าที่คอยดูแลเรื่องการออกแบบตัวแว่นตา เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด โดยตั้งเป้าหมายกับแว่นตาอัจฉริยะไว้ว่า ภายในสิ้นปีนี้จะต้องเริ่มเปิดตัวและวางจำหน่ายแว่นตาอัจฉริยะได้จริง ประเมินไว้ว่าจะขายราคา 4,000-5,000 บาท ซึ่งแว่นตาอัจฉริยะจะต้องชาร์จแบตเตอรี่เหมือนกับโทรศัพท์มือถือและต้องอัพเดทระบบเหมือนกัน โดยมองไว้ว่าอาจนำแว่นตานั้นไปเชื่อมต่อไว-ไฟ หรือเชื่อมต่อสายยูเอสบีเพื่ออัพเดทระบบประมวลผล

ทั้งนี้ วิชั่นเนียร์ไม่ได้หยุดแค่การนำแว่นตาอัจฉริยะขายได้จริงภายในประเทศไทยเท่านั้น เพราะเป้าหมายต่อไปของวิชั่นเนียร์ก็คือ ต้องการต่อยอดนำแว่นตาอัจฉริยะขยายไปจำหน่ายในต่างประเทศด้วย โดยเริ่มต้นจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนก่อน ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้วิชั่นเนียร์จะต้องพัฒนาแว่นตาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับภาษาได้เพิ่มเติมในอนาคต

ปัจจุบันกำลังศึกษาความต้องการตลาดอยู่ว่าประเทศไหนมีความต้องการมากที่สุด เพื่อประกอบการพัฒนาแว่นตาจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผู้พิการทางสายตาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้พิการทางสายตาในภูมิภาคเอเชีย และหากดูทั่วทั้งเอเชียมีผู้พิการทางสายตาคิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้พิการทางสายตาทั่วโลกเลย

ท้ายนี้ นันทิพัฒน์ กล่าวว่า แว่นตาอัจฉริยะของไทยได้รับการตอบรับที่ดีจริงๆ ไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานในประเทศ เพื่อให้แว่นตานี้ถูกนำไปใช้ได้จริง ล่าสุดก็มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ติดต่อทางทีมวิชั่นเนียร์เข้ามา เพราะสนใจลงทุนในวิชั่นเนียร์ด้วยเช่นกัน

นี่เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นฝีมือพัฒนานวัตกรรมของเด็กไทยไม่ได้แพ้ชาติใดในโลกเลย