posttoday

Slow Life...แก่นจริงอยู่ที่ใจ

11 พฤศจิกายน 2558

เหตุเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของฉัน ...หนังสือเล่มนั้นคือ “ชีวิต(ไม่)โรแมนติกของเกษตรกรหนุ่มสาว”

โดย...ปูปรุง

เหตุเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของฉัน ...หนังสือเล่มนั้นคือ “ชีวิต(ไม่)โรแมนติกของเกษตรกรหนุ่มสาว” เขียนโดย วิทยากร โสวัตร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา เล่าเรื่องของคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่หันหลังให้กับสังคมเมือง เพื่อหวนคืนสู่วิถีชีวิตแบบที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วยอาชีพเกษตรกร แน่นอนว่าคนเมืองอีกหลายคนที่กำลังรู้สึกเบื่อๆ ชีวิตแออัดในเมือง เบื่อการต่อสู้แข่งขันและรีบเร่ง เมื่อมโน...ตามข้อความข้างต้นหลายคนคงปรารถนาชีวิตแบบนั้นเช่นกัน เพราะมันคือวิถีหนึ่งของนิยามการใช้ชีวิตแบบ Slow Life ที่ว่ากันว่า คนยุคนี้กำลังโหยหามันเหลือเกิน

ส่วนตัวขอสารภาพว่าไม่เคยคิดอยากจะไปเป็นเกษตรกรกับใครเขาหรอกค่ะ แค่เป็นเพียงคนคนหนึ่งที่ชอบอยู่กับธรรมชาติ และก็เข้าใจดีว่า “การไปเยือน” กับ “การไปอยู่” นั้น มีนัยที่แตกต่างกันมากมายเหลือเกินและคงเพราะความเข้าใจผิดๆ ที่อาจมีขึ้นแบบนี้กระมัง ที่ทำให้ฉันได้เห็นคนใกล้ตัวบางคนลงทุนหันหลังให้สังคมเมือง แล้วลองไปเป็นชาวนาปลูกข้าวจริงๆ แถบภาคเหนือ ใช้ชีวิต Slow Life ไม่ทันไร ก็ต้องหันหน้ากลับมาอีกครั้งสู่ความคุ้นเคยแบบเก่า ...กลับมาเป็นตัวเองที่ไม่ว่าใครๆ--ก็ฝืนมันไม่ได้นานหรอก

โลกนี้เหมือนมีเหรียญสองด้านให้มองเสมอ แม้ว่าการใช้ชีวิตที่ย้อนกลับไปสู่ความเรียบง่าย เบรกตัวเองจากความเร่งรีบ ถอยห่างจากระบบอุตสาหกรรมและโลกทุนนิยม แล้วหันกลับมาพึ่งพิงสิ่งใกล้ตัวจะเป็นสิ่งดี แต่ความรวดเร็วก็มิใช่ผู้ร้ายเสมอไป เพราะมันก็เป็นอีกด้านที่ทำให้โลกใช้จุดนี้ในการขับเคลื่อนและพัฒนาสู่ความก้าวหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่ง “ใจ” ของเราที่เปิดกว้างและมีความชัดเจนในตัวเองแล้วเท่านั้นที่จะมองเห็นโลกในมุมทั้งสองนี้ได้แล้วเลือกใช้ชีวิตแบบไม่สุดโต่งจนเกินไปทั้งสองด้าน

หากจะพูดถึงนิยามของความเป็น Slow Life เชื่อว่าคุณคงหาคำตอบได้ไม่ยาก เพราะมีผู้สันทัดกรณีบอกกล่าวถึงรูปแบบและวิถีของมันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันอยากพูดถึงก็คือ แก่นความเป็น SlowLife จริงๆ มันควรจะอยู่ที่ใจ และบางทีมันก็ไม่ใช่ความหมายของวิถีชีวิตแบบที่เราเห็นแชร์กันในสื่อโซเชียลทุกเช้าค่ำหรอก ใช่หรือไม่ชีวิตที่ช้า คือสปีดของการใช้ชีวิตที่ทำให้ทุกคนได้มีเวลาทำความรู้จักตัวเอง ได้สำรวจตรวจตราว่าสิ่งไหนที่ใช่และไม่ใช่ มากไปก็ตัดออกน้อยไปก็ปรับปรุง คือชีวิตที่มีความเป็นอิสระบนความรับผิดชอบที่ไม่บกพร่อง ที่สำคัญมองเห็นคุณค่าตนเอง เห็นคุณค่าผู้อื่น และมีความสุขใจมากกว่าความทุกข์ใจที่ได้ใช้ชีวิตแบบนั้น

คุณล่ะคะ? ชีวิตกำลังอยู่ในสถานะไหน คงไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องละทิ้งทุกสิ่ง หรือต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตแบบสิ้นเชิงเพื่อเกาะติดกระแสสังคม โดยขาดการไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งใช่มั้ยคะ มากกว่าความเชื่อ เช่นนั้นก็คือ เมื่อคุณปรับจนพบสมดุลชีวิตตัวเองเมื่อไหร่ เชื่อเถอะค่ะว่า คุณจะได้พบพื้นที่ที่สามารถมองเห็นว่า เวลาตัวเองอยู่ตรงนั้นแล้ว...ชีวิตก็ไม่ได้ฝืน ไม่ได้ง่ายและไม่ได้ชิลแบบเสแสร้งแกล้งประดิษฐ์ ตรงกันข้ามมันจะเท่มากกว่าเพราะคุณแยกแยะระหว่างความจริงกับอุดมคติได้ และนั่นมันก็คือ Slow Life ในแบบที่คุณเป็นแล้วล่ะค่ะ