posttoday

ศัตรูของกาลเวลา

05 กรกฎาคม 2558

การรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วเป็นเรื่องดีไหม? ตอบง่ายๆ ว่า อย่างน้อยการหมดเปลืองเวลาไปกับการทำงาน ก็สะท้อนได้ว่าวันนี้ยังมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงปากท้อง ไม่ต้องเตะฝุ่นอยู่ว่างๆ

โดย...ณศักต์ อัจจิมาธร

เมื่อเร็วๆ นี้ จีเอฟเค ผู้ให้บริการวิจัยการตลาดได้เปิดเผยผลวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า คนไทยใช้เวลาในการทำงานถึง 51 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งสูงสุดในบรรดาชาติเอเชีย ขณะที่ค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานทั่วโลกนั้นอยู่ที่สัปดาห์ละ 36.3 ชั่วโมง ฉะนั้นหากนับเฉพาะวันทำงานต่อสัปดาห์ที่ 5 วัน คนไทยก็จะใช้เวลาไปกับการทำงานถึงวันละ 10.2 ชั่วโมง

เมื่อรวมกับเวลาที่ต้องใช้ไปกับกิจวัตรประจำวันที่ “จำเป็น” ต้องทำอย่างการนอนประมาณ 5-7 ชั่วโมง การเดินทางอีกราว 1-3 ชั่วโมง รับประทานอาหาร 1-2 ชั่วโมง สุดท้ายเราก็จะพบว่าเวลาในแต่ละวันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว เดินเข้าออฟฟิศมาเช้าวันจันทร์ แป๊บเดียวเย็นวันศุกร์ก็หมุนมาถึงแบบไม่ทันตั้งตัว

การรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วเป็นเรื่องดีไหม? ตอบง่ายๆ ว่า อย่างน้อยการหมดเปลืองเวลาไปกับการทำงาน ก็สะท้อนได้ว่าวันนี้ยังมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงปากท้อง ไม่ต้องเตะฝุ่นอยู่ว่างๆ

แต่อีกด้านเวลาที่หมุนไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับชีวิตที่เวียนไปซ้ำๆ กันในแต่ละวันก็ทำให้เราติดกับความเคยชินเข้าโดยไม่รู้ตัว

ความเคยชินอาจฟังดูเฉยๆ ทว่าในโลกปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความสามารถในการปรับตัวที่ทันต่อความเปลี่ยนไปเป็นเรื่องจำเป็นนั้น ความเคยชินก็นับว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้เราไม่สามารถตั้งตัวได้ทันเมื่อต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง

เฮาเวิร์ด ไรต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม ระบุเอาไว้ในหนังสือ “100 Great Innovation ideas” ว่า การใช้ชีวิตเป็นกิจวัตรที่ซ้ำซากในแต่ละวันของผู้คน เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ขวางการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพราะแม้การใช้ชีวิตเป็นกิจวัตรของผู้คนจะมีประโยชน์ตรงที่ให้ความรู้สึกคุ้นชินและปลอดภัย ทว่าสุดท้ายเราก็มักจะเอาแต่หมกตัวอยู่ในพื้นที่ความปลอดภัยที่ตัวเองสร้างขึ้น โดยไม่คิดจะเปิดประตูทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม

เพราะมองว่ากิจวัตรประจำวันอันซ้ำซากเป็นศัตรูสำคัญที่ฉกฉวยเอาช่วงเวลาในชีวิตให้สูญหายไปมหาศาลอย่างรวดเร็ว หนุ่มอเมริกันรายหนึ่งจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองครั้งใหญ่

เจดิดิดาห์ เจนกินส์ (Jedidiah Jenkins) ชายหนุ่มวัย 30 ปี ที่มีวิถีชีวิตเฉกเช่นชายในวัยเดียวกัน นั่นคือใช้ชีวิตอยู่ในเมืองและหมดเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับชั่วโมงการทำงาน ทว่าวันหนึ่งเขาก็เกิดความรู้สึก “กลัวกิจวัตรประจำวัน” ของตัวเอง เนื่องจากเห็นว่ากิจวัตรเหล่านั้นสามารถทำให้เวลาในชีวิตผ่านไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว และเขาก็ไม่ต้องการที่จะปล่อยเวลา 10 ปีข้างหน้าในชีวิตให้ผ่านไปแบบไม่รู้ตัว

เจนกินส์ตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่ ก่อนจะแพ็กของขึ้นจักรยานเพื่อออกเดินทางจากรัฐออริกอน ซึ่งอยู่ตอนเหนือของสหรัฐลงไปสู่ปาตาโกเนีย ที่อยู่ปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้ เวลา 17 เดือนกับการรอนแรมบนระยะทาง 7,000 ไมล์ สุดท้ายเขาก็เดินทางถึงจุดหมาย

เพื่อนของเจนกินส์ที่ร่วมเดินทางไปพร้อมกับเขาได้บันทึกคลิปเรื่องราวในการเดินทางและนำมาเผยแพร่บนโลกอินเทอร์เน็ต ในคลิปนั้นเจนกินส์กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เมื่อคุณเป็นเด็กทุกอย่างจะดูใหม่และน่าสนใจเสมอ สมองของคุณจะตื่นตัวเพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ ทุกนาทีที่เปลี่ยนไปคุณจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา แต่เมื่อคุณอายุมากขึ้น คุณก็จะเริ่มรู้ว่าโลกนี้มีความเป็นไปอย่างไร รู้ว่าการเรียนจบเป็นอย่างไร รู้ว่าการทำงานเป็นอย่างไร รู้ว่าการจัดการสิ่งต่างๆ ในชีวิตต้องทำอย่างไร กิจวัตรประจำวันเหล่านี้ทำให้สมองของคุณหยุดและไม่ตื่นตัวอีกต่อไป"

“ผมตัดสินใจออกมาเดินทางเพื่อให้สมองตื่นตัวอีกครั้ง เพื่อให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ การได้เดินทางผ่านไปยังดินแดนใหม่ทำให้ผมรู้สึกตื่นตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ในทุกๆ นาทีของการใช้ชีวิต"

“เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการขี่จักรยาน แต่เป็นเรื่องของการออกนอกกิจวัตรประจำวัน ผมไม่ต้องการให้ปฏิทินมาเป็นเจ้านายผมอีกต่อไป...”

เมื่อใดที่รู้สึกว่าชีวิตอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและดำเนินไปตามกิจวัตรที่ควรจะเป็น เมื่อนั้นอาจถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองให้หลุดออกจากกรอบแห่ง “ความเคยชิน” ก็เป็นได้

ชมคลิปของเจนกินส์ได้ที่นี่ https://vimeo.com/120206922