posttoday

Braveheart HR สวมหัวใจเสือเพิ้อเป็นผู้นำ

21 กันยายน 2552

โดย...รศ. ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย...รศ. ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เคยชมภาพยนตร์เรื่อง Braveheart ที่นำแสดงโดยพระเอก (ที่เคย) รูปหล่อนาม Mel Gibson ไหมคะ? หากยังไม่เคยชม ขอแนะนำให้เช่าดีวีดีมาดูเสียหน่อย เพราะถึงแม้จะเป็นหนังเก่าแต่ก็มีเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาวสกอตในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่ลุกขึ้นมาก่อกบฏในการปฏิวัติเพื่อต่อต้านผู้ปกครองชนชาติอังกฤษภายใต้ราชบัลลังก์ของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ด เดอะ ลองแชงก์ ผู้โหดร้ายและต้องการแผ่อำนาจเป็นกษัตริย์ของสกอตแลนด์ด้วย ชาวสกอตถูกกดขี่ข่มเหงรีดนาทาเร้นโดยขุนนางและทหารอังกฤษที่กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดส่งไปเก็บภาษีและสอดส่องดูแลมิให้กระด้างกระเดื่องคิดแข็งเมืองกับอังกฤษ การที่ต้องทนดูชาวบ้านสกอตถูกข่มเหงรังแกอย่างไม่เป็นธรรมจากชนชาวอังกฤษทำให้ William Wallace ชาวสกอตคนหนึ่งที่บิดาของเขาเสียชีวิตจากน้ำมือทหารอังกฤษลุกขึ้นมาก่อการกบฏเพื่อหวังปลดปล่อยชาติสกอตแลนด์ให้พ้นจากเงื้อมมืออังกฤษ

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีไฮไลต์อยู่ตรงบทบาทผู้นำของ William ที่ประสบความยากลำบากในการปลุกใจและรวบรวมพี่น้องชาวสกอตที่แตกแยกกันเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยให้ร่วมใจกันจับอาวุธเท่าที่มีไม่ว่าจะเป็นมีดพร้ากระท้าขวาน ให้มาต่อสู้กับกองทหารอังกฤษที่มีกำลังนับพันนับหมื่นและมีอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครัน ผู้เขียนรู้สึกประทับใจกับฉากภาพยนตร์ในตอนที่ William พูดปลุกใจชาวบ้านสกอตที่เริ่มลังเลหวาดกลัวอยากวิ่งหนีกลับบ้านเมื่อมองเห็นกองทหารอังกฤษที่มีรี้พลมากมายตั้งทัพตระหง่านอยู่ตรงหน้า คำพูดที่ William กล่าวกับชาวสกอตคือ

“Fight and you may die.
Run and you’ll live. At least a while.
And dying in your beds, many years from now,
Would you be willing to trade all the days
From this day to that for one chance, just one chance,
to come back here and tell our enemies
that they may take our lives,
but they’ll never take our freedom!”

ขออนุญาตแปลเป็นไทยสำหรับท่านที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษว่า

“ต่อสู้ในวันนี้แล้วเจ้าก็อาจจะตาย
วิ่งหนีแล้วก็อาจจะมีชีวิตอยู่รอด อย่างน้อยก็สักระยะหนึ่ง
และได้นอนตายบนเตียงหลายปีจากนี้
เจ้าจะนึกอยากไหม ที่จะแลกวันเวลาจากวันนี้ถึงวันนั้น (ที่เจ้ามีชีวิตอยู่จนได้นอนตายบนเตียง) กับโอกาสเดียว โอกาสเดียวเท่านั้น ที่จะได้กลับมาสมรภูมินี้และบอกกับศัตรูของพวกเราว่ามันอาจเอาชีวิตของเราไปได้
แต่มันจะไม่มีวันที่เอาอิสรภาพของเราไป!”

คำพูดที่กินใจแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะในสกอตแลนด์ แต่ประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยของทุกประเทศย่อมมีผู้นำที่กล่าวกับพี่น้องร่วมชาติของเขาเช่นนี้มาแล้ว อย่างในบ้านเราก็มีตัวอย่างของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ให้ไพร่พลทุบหม้อข้าวหม้อแกงแล้วบุกไปตีเมืองจันทบุรีให้ได้ มิฉะนั้นก็ยอมอดข้าว หรือเรื่องของชาวบ้านบางระจันที่มีกำลังเพียงน้อยนิดแต่ก็สู้สุดใจขาดดิ้นเพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้

Jason Lauritsen ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR คนหนึ่งได้เขียนบทความในอินเทอร์เน็ตปลุกใจชาว HR ให้สวมวิญญาณ William ที่มีพลังขับดันและมีใจรักในงาน HR อย่างมุ่งมั่น (Passion) เพราะ Passion ที่เด็ดเดี่ยวนี่แหละจะเป็นกุญแจที่ไขประตูให้ HR ก้าวจากการทำงานแบบผู้จัดการที่ทำงานตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด หมกมุ่นวุ่นวายจนโงหัวไม่ขึ้นกับงานประจำวันจนลืมมองไปข้างหน้ามาเป็นผู้นำที่ทำงานอย่างมี Passion มีวิสัยทัศน์ และมีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจและจูงใจให้ CEO ผู้จัดการแผนกอื่นๆ และพนักงานในองค์กรรู้สึกประทับใจและเชื่อถือในเครดิตของ HR

Jason กล่าวว่า สถานการณ์โลกและสภาวะของธุรกิจในเวลานี้อยู่ในช่วงคับขัน และสงครามในการแย่งชิงทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถรวมถึงการรักษาคนเก่งให้อยู่ในองค์กร (War for Talent) ก็เป็นสงครามที่ยืดเยื้อมานานและยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ และยังจะดำเนินต่อไปอย่างดุเดือดยิ่งขึ้น สถานการณ์แบบนี้ที่ผลัก HR ให้มายืนตรงทางแยกที่ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะเดินไปทางไหน? จะทำงานแบบเดิมๆ? หรือจะสวมหัวใจหาญกล้าแบบ William ออกมายืนแถวหน้าแล้วพร้อมลุย? Jason มีความเห็นว่าเวลานี้เราต้องการผู้นำที่สามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายเพื่อนำทีมไปสู่ความสำเร็จ และแม้ว่าหนทางที่จะต้องก้าวไปจะเต็มไปด้วยขวากหนามและมองไม่เห็นชัยชนะ แต่ก็ต้องมีสปิริตและมีความเชื่อมั่นในอุดมการณ์อย่าง William

แน่นอนที่งานของ HR นั้นไม่ยากเย็นหรือต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเหมือนกับการรบในสมรภูมิ แต่ HR บางคนก็ยังมีความกลัว (Fear) เช่น กลัวล้มเหลว กลัว CEO ไม่สนับสนุน กลัวไม่ได้รับงบประมาณ กลัวเหนื่อยเปล่า กลัว... และกลัว... ฯลฯ Jason แนะนำให้ HR ขจัดเสียซึ่งความกลัว เพราะความกลัวและกังวลคิดแต่ทางล้มเหลวก่อนจะลงมือทำอะไร มักทำให้ในที่สุดไม่ได้ทำอะไรเลย ตัวผู้เขียนเองเคยใกล้ชิดพูดคุยกับผู้บริหารระดับ CEO อย่างคุณตัน ภาสกรนที และคุณศรัณย์ สมุทรโคจร ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความคิดสร้างสรรค์และเป็นนักบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ทั้งสองท่านนี้มีทัศนคติในการทำงานแบบ William คือ กล้าทำ กล้าลุย มุ่งหวังสูง และไม่ท้อถอย

ดังนั้น HR ต้องมี Passion และต้องแสดงให้ลูกค้าในองค์กรเห็นใน Passion ของ HR เพราะถ้า HR เองไม่มีความรัก ความเชื่อในอุดมการณ์และความสำคัญของงาน HR เองแล้ว ใครเล่าจะมาเชื่อ HR? แต่การมี Passion นั้นต้องมาจากใจจริง จะมาเสแสร้งแกล้งทำว่ามีไม่ได้ HR จึงต้องถามใจตัวเองก่อนว่าเรารักและชอบในงาน HR จริงหรือ? และเราเชื่ออย่างเต็มหัวใจหรือเปล่าว่าบุคลากร คือ สมบัติที่มีค่าที่สุดขององค์กรอย่างที่กูรูอย่างคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เชื่ออย่างนั้น

เพราะเมื่อคนเรามี Passion ในงาน HR แบบแฟนพันธุ์แท้แน่นอนแล้ว เชื่อเถิดว่าคนที่มี Passion แบบนี้จะมีพลังขับให้เดินหน้าฝ่าอุปสรรค หาหนทางทุกวิถีทางเท่าที่สามารถจนสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ได้ อย่างไรก็ตาม มีแต่ Passion โดยที่ไม่มีกลยุทธ์และระบบการทำงานที่ดีคงสร้างผลงานไม่ได้ Jason จึงแนะนำให้ HR เป็นผู้ที่อ่านมาก ศึกษามาก พูดคุยวิเคราะห์แลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการบริหารคนผ่าน Blog หรือ Twitter ให้มากๆ รวมถึงพยายามสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทำความรู้จักกับบุคคลในวงการต่างๆ ให้มากๆ เข้าไว้ ข้อมูลที่ได้จากการอ่าน วิเคราะห์ และการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านทางอินเทอร์เน็ตและช่องทางอื่นๆ นี้เป็นข่าวสารที่ HR ควรนำไปแบ่งปันพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ Jason ใช้คำว่า “HR should infect them with these ideas.” กล่าวคือ HR ต้องแพร่ข่าวไวเหมือนการแพร่เชื้อของเชื้อโรค (ยังงั้นเชียว!) ให้เพื่อนร่วมงานได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหาร HR เสมอๆ พวกเขาจะได้ทราบว่างาน HR นั้นต้องทำอะไรบ้าง เมื่อถึงเวลาที่ HR คิดอยากจะทำโครงการอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อนร่วมงานจะได้ตามทันและเข้าใจในความคิดของ HR การสื่อสารกับผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาว HR มักไม่ชอบทำ) จะทำให้ HR สร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีกับคนในองค์กรอันเป็นบันไดขั้นแรกที่จะทำให้ HR ก้าวสู่การสวมบทบาทผู้นำเรื่องการบริหารคนต่อไป

ส่วนบันไดขั้นต่อไปจะต้องทำอะไรอีกบ้างจะได้คุยให้ฟังต่อในสัปดาห์หน้า รวมทั้งจะได้นำเสนอบุคลิกลักษณะ (Attributes) ของ HR ในศตวรรษที่ 21 ให้ทราบด้วยเลย

สัปดาห์นี้แค่อุ่นเครื่องให้ใจฮึกเหิมมี Braveheart ก่อนนะคะ!