posttoday

อดิศร วสุคุปต์ สิงห์สัจจะ คนข้ามชาติ

29 พฤศจิกายน 2557

ก่อนที่ไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

ก่อนที่ไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ได้มีปรากฏการณ์ที่ส่งสัญญาณว่าเราสามารถเป็นศูนย์กลางการระดมทุนในลุ่มแม่น้ำโขงได้แล้ว เมื่อมีพันธบัตรรัฐบาลลาวเข้ามาระดมทุนสกุลบาทเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2556 และได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น

จนกระทั่งเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว หรืออีดีแอล เจเนอเรชัน (อีดีแอล-เจน) บริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เอกชนรายใหญ่ในลาว เตรียมที่จะออกหุ้นกู้ตามมาทั้งหมดนี้เป็นผลงานของบริษัท ทวินไพน์ คอนซัลติ้งภายใต้การนำของ อดิศร วสุคุปต์ สิงห์สัจจะ กรรมการผู้จัดการ วัยกว่า 40 ปี ที่มีประสบการณ์ทำงานข้ามชาติมานานกว่า 15 ปีก่อนตั้งบริษัท

เรียกเขาว่า “คนข้ามชาติ” ตัวจริง เพราะนอกจากเป็นคนไทย สัญชาติอินเดีย เรียนที่ขอนแก่น และมัธยมที่อินเดียจบปริญญาโทจากต่างประเทศแล้ว ยังมีประสบการณ์ทำงานในบริษัทข้ามชาติในเมืองไทย มีสายสัมพันธ์ข้ามชาติมาตลอด ก่อนที่จะมาพบหุ้นส่วน “จิริเดชา พึ่งสุนทร” วัยกว่า 50 ปี เจ้าของบริษัท แอลเอส ฮอไรซัน สำนักงานกฎหมายธุรกิจ ที่ปรึกษา นำอีดีแอล-เจน รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่สุดของลาว เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว

“ผมกับคุณหลวง ((จิริเดชา)เคยอยู่เบเคอร์แม็คเคนซี่)รู้จักกันตอนผมอยู่ธนาคารอีเอฟจี (ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ในสิงคโปร์) เพราะลูกค้าของเราทำธุรกรรมกัน ก็ติดต่อกันมาตลอด จนกระทั่งมีแนวคิดตรงกันว่าที่จริงคนไทยก็มืออาชีพไม่แพ้ฝรั่ง ตอนนั้นเขาตั้งบริษัท แอลเอส ฮอไรซันแล้ว ถ้าเราออกมาทำบริษัทของเราเองได้ไหม เน้นเออีซีทำอย่างไรจะตอบโจทย์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางแถบนี้ คนไทยมีศักยภาพด้านการเงินที่จะเป็นศูนย์กลางประเทศแถบนี้หากรอให้พร้อมคงสู้เขาไม่ได้ เมื่อคิดตรงกันก็เริ่มลงทุนตั้งบริษัท ทวินไพน์ คอนซัลติ้ง เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินด้วยกันในปี 2554”

อดิศร วสุคุปต์ สิงห์สัจจะ คนข้ามชาติ

 

ตอนนั้น แอลเอส ฮอไรซัน ของจิริเดชา มีผลงานคือ นำอีดีแอล-เจน เข้าตลาดหลักทรัพย์ลาวอยู่แล้ว และมีสำนักงานในไทย ลาว พม่า และสิงคโปร์

อดิศร เล่าว่า เมื่อจัดตั้งบริษัทขึ้นมา ก็คิดกันว่าจะทำธุรกรรมในแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยเน้นไปที่ลาว ทั้งสองคนเข้าพบบริษัทผลิตไฟฟ้าลาว หรืออีดีแอล บริษัทแม่ของอีดีแอล-เจน โดยอีดีแอลนั้นมีสำนักบริหารหนี้นอก หรือกระทรวงการเงินของลาวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หารือกันไปมา มองว่าประเทศไทยน่าจะเข้าใจลาวที่สุด เพราะเคยตกอยู่ในสภาพที่ประเทศยังไม่มีการจัดอันดับเครดิต

“เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ไทยเคยออกพันธบัตรที่ญี่ปุ่น โดยไม่มีอันดับเครดิต ขอให้ญี่ปุ่นช่วย เราจึงตัดสินใจว่าจะให้ลาวเดินบทบาทนี้ในไทย โดยให้รัฐบาลลาวออกพันธบัตรนำร่องปี 2556 และได้รับการตอบรับท่วมท้น พันธบัตรอายุ 3 ปี 1,500 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4.5% ผลสำรวจการจองล้น 2.7 เท่า จึงมีล็อตต่อมา อีก 3 ปี 3,000 ล้านบาท เป็น 2,600 ล้านบาท 5 ปี 5.2% และอีก400 กว่าล้านบาท 3 ปี 4.7% ล่าสุด ต.ค. 2557 ที่ 4,500 ล้านบาทและเพิ่มอีก 590 ล้านบาท เป็น 5,090 ล้านบาท ในอายุ 3 ปี 4.76% 5 ปี 5.2% และ 7 ปี 5.5%”

อดิศร วสุคุปต์ สิงห์สัจจะ คนข้ามชาติ

 

เมื่อพันธบัตรรัฐบาลนำร่อง ออกหุ้นกู้สกุลบาทในไทย ทำให้มีดอกเบี้ยอ้างอิง จึงมีการออกหุ้นกู้สกุลบาทของเอกชนลาวตามมาคือ อีดีแอล-เจน อีก 6,500 ล้านบาท อายุ 5-10 ปี ที่จะออกเดือน ธ.ค.นี้ ดอกเบี้ยประมาณกว่า 5% เป็นเอกชนรายแรกของลาวที่ออกหุ้นกู้ในไทย โดยได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริส เรทติ้ง ที่ BBB+ นับว่าเป็นดอกเบี้ยที่สูงถ้านับพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ประมาณ 2.6% และหุ้นกู้บริษัท ปตท. 6 ปี ที่ 4%

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้คงไม่ง่ายนักในการทำธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินแถบลุ่มแม่น้ำโขง เพราะกว่าจะหาโมเดลในการระดมทุนเจอ อดิศร ต้องศึกษาประวัติศาสตร์การทำธุรกรรมออกพันธบัตรและหุ้นกู้ของไทยในอดีต ผนวกกับประสบการณ์ของตัวเองในบริษัทข้ามชาติที่ให้บริการลูกค้าข้ามประเทศที่วัฒนธรรมแตกต่างกันนำมาผสมผสานออกมาเป็นโมเดลที่ตัวเองทำธุรกรรม แน่นอนว่า ต้องศึกษาทั้งด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และการเงินระหว่างประเทศที่เป็นความเชี่ยวชาญของหุ้นส่วนทั้งสองคนประกอบกันด้วย

“พันธบัตรล็อตแรก หืดขึ้นคอ เราตั้งบริษัทเองเพราะมีอุดมการณ์ และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันกับพี่หลวง ทำให้เป็นจริง 2 ปีแรกของการตั้งบริษัทไม่มีกำไรอะไรเลย เริ่มจากหุ้นส่วนสองคน ถ้ามีงานจึงจะจ้างมืออาชีพข้างนอก ไม่หวังว่าจะกำไรทันที คิดแต่ว่าจะทำให้ได้ ผมมีธุรกิจอื่นที่ทำให้อยู่ได้ แต่ตอนนี้เพิ่มทีมเป็น 8 คนแล้ว”

พันธบัตรล็อตแรกของรัฐบาลลาวที่ออกมากว่าจะขายได้ต้องเดินสายไปคุยกับฝ่ายวาณิชธนกิจของหลายธนาคารให้ช่วยทำ แต่ไม่มีใครร่วมมือด้วย จนในที่สุดได้คุยกับฝ่ายวาณิชธนกิจของธนาคารทหารไทย ซึ่งก่อนหน้าที่จะย้ายมาทำงานที่ทหารไทย เคยมีแนวคิดจะทำธุรกรรมข้ามชาตินี้ แต่ยังไม่ทันประสบความสำเร็จ มีเหตุต้องย้ายธนาคารก่อน จึงร่วมมือกัน โดยได้รับความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการนำร่องซื้อเป็นเจ้าแรก ทำให้บริษัทในตลาดทุนมั่นใจซื้อตาม

เมื่อล็อตแรกท่วมท้น งานของที่ปรึกษาทางการเงินอย่างทวินไพน์ฯ ก็ฉลุยแล้ว ปัจจุบันทวินไพน์ฯ ยังเข้าไปเจรจากับพม่า กัมพูชา ที่ต้องการระดมทุน โดยโมเดลคงไม่ต่างไปจากลาว คือ ให้รัฐบาลนำร่อง โดยการออกพันธบัตรเปิดตลาดให้เอกชนเพื่อมีดอกเบี้ยอ้างอิง ในการระดมทุน อดิศร ยังมีแนวคิดที่จะเป็นที่ปรึกษาในการระดมทุนข้ามชาติด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนสองตลาด ทั้งตามกฎดูโอ ลิสติ้ง และ
เซเกนดารี ลิสติ้ง นอกจากนั้นกำลังจะร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศเปิดบริษัทในไทยเพื่อร่วมทุนกับลาวตั้งบริษัทด้านพลังงานในลาว

คนที่จะเติบโตได้ดีในยุคเออีซี ต้องเป็นคนที่มีความหลากหลายในแนวคิดแบบนี้เท่านั้น