posttoday

รู้ทันอาการปวดหลัง

15 กรกฎาคม 2557

อาการปวดคอและปวดหลัง นับเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยในระยะยาว และบั่นทอนศักยภาพในการดำเนินชีวิตประจำวัน

โดย...มัลลิกา

โรงพยาบาลเซนต์ แอนนา แห่งเยอรมนี ร่วมกับสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกอบรมการผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปทุกปี ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าว ได้จัดขึ้นในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยมีศัลยแพทย์ผู้สนใจเข้าร่วมจากทั่วโลก บ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาของโรคนี้ที่ยังมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น นั่นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ระวังตัวในการป้องกันตัวเองจากโรค และรักษาอาการไม่ถูกวิธี

อาการปวดคอและปวดหลัง นับเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยในระยะยาว และบั่นทอนศักยภาพในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยทั่วไปพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงานที่ส่วนใหญ่นั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกลักษณะต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือจากการดำเนินชีวิตประจำวันซึ่งข้องเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ไอทีต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เพราะโดยมากผู้ใช้จะไม่ได้ใส่ใจกับการจัดวางท่านั่งให้ถูกต้อง จึงมักนั่งด้วยท่าทางหลังงอ ไหล่ห่อ หรือก้มคอเข้าหาจอ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น เช่น การยกของหนักด้วยการก้มหลัง ในทุกกรณีที่กล่าวล้วนทำให้น้ำหนักทั้งหมดส่งผ่านไปยังกระดูกสันหลังส่วนที่กำลังโค้งมากที่สุด

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการปวดหลังโดยตรง ได้แก่ การบาดเจ็บบริเวณหลังจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระแทกหรือปะทะอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น ทั้งนี้ยังมีโรคอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดอาการปวดร้าวไปที่หลังได้ เช่น โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก โรคหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้อง หรือมะเร็งที่กระจายมายังกระดูกสันหลัง

อาการที่บ่งชี้ว่ามีการปวดหลังจากการกดทับเส้นประสาท คือ การปวดร้าวที่ขาหรือสะโพก โดยอาการปวดขาจะปวดไปตามบริเวณซึ่งถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับนั้น ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีลักษณะการปวดแตกต่างกันไป บางรายอธิบายว่าอาการปวดมีลักษณะแหลมเหมือนโดนมีดแทง บางรายว่าปวดหน่วงและหนักที่ขา หรือบางรายอาจรู้สึกเพียงเหน็บชาคล้ายเมื่อนั่งทับขานานๆ

การดูแลรักษาตนเองที่ดีที่สุดสำหรับผู้มีอาการปวดหลัง คือ หลีกเลี่ยงกิจกรรมซึ่งอาจส่งผลให้อาการปวดหลังเกิดขึ้น เช่น จัดท่านั่งทำงานให้ถูกสุขลักษณะ คือ นั่งหลังตรง ไม่ก้มหรือเงยคอมากเกินไป ไม่ยกของที่ทำให้หลังต้องแบกรับน้ำหนักมากๆ และต้องหมั่นตรวจสอบสัญญาณเตือนของร่างกายว่าควรพบแพทย์หรือไม่ เพราะแม้ว่าอาการปวดหลังบางชนิดจะสามารถใช้เวลาเพื่อให้ทุเลาลงได้ แต่ก็มีอาการบางอย่างที่ผู้ป่วยไม่อาจมองข้าม และเป็นข้อบ่งชี้ว่าควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ได้แก่ อาการปวดหลังที่เรื้อรังต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน ปวดร้าวลงสะโพก ขา จนถึงบริเวณน่องหรือเท้า อาการปวดเฉียบพลันที่ไม่ทุเลาลงแม้ว่าได้พัก หรือปวดรุนแรงจนเคลื่อนไหวไม่ได้ อาการปวดหลังจากการได้รับบาดเจ็บหรือหกล้ม และอาการปวดหลังที่เกิดร่วมกับภาวะควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง ชาบริเวณขา เท้า หรือรอบทวารหนัก คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ หรือน้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

สิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยให้ห่างไกลจากอาการปวดหลัง หรือช่วยให้ผู้มีอาการปวดหลังซึ่งได้รับการรักษาแล้วไม่กลับมาเป็นอีก คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตที่จะไม่สร้างความกระทบกระเทือนต่อบริเวณหลัง รวมถึงมีการบริหารร่างกายเพื่อลดอาการเจ็บปวดและฟื้นฟูการเคลื่อนไหว โดยต้องคำนึงถึงหลักการที่ถูกต้องและข้อควรระวังต่างๆ อันเป็นสิ่งซึ่งควรได้รับการแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด