posttoday

บัณฑูร ล่ำซำ รักษ์น่านนานนาน

14 มิถุนายน 2557

เมื่อ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เหยียบผืนดิน จ.น่าน

เมื่อ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เหยียบผืนดิน จ.น่าน เมื่อหลายปีก่อน ก็หลงเสน่ห์ตรึงใจ

นันทบุรี หรือ “นันทบุรีศรีนครน่าน” ชื่อเก่าของ จ.น่าน ดินแดนประวัติศาสตร์ที่มีเจ้าปกครองนครในราชวงศ์ภูคา

“ผมรู้สึกผูกพันกับที่นี่อย่างประหลาด” เขากล่าว นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ “บัณฑูร” ปลูกบ้านขึ้นริมน้ำน่าน และย้ายทะเบียนบ้านไปเป็นประชากรของจังหวัดอย่างสมบูรณ์

เมื่อเจ้าของโรงแรมพูคา ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่สร้างจากไม้สักทองทั้งหลังประสบปัญหาธุรกิจประกาศขาย บัณฑูรจึงเสนอซื้อหมดทั้งอาคารและสิ่งของภายในทั้งหมด จากนั้นก็ปรับปรุงจนโรงแรมเปิดให้บริการได้ และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า โรงแรมพูคาน่านฟ้า

แรงบันดาลใจที่เกิดจากความรักในแผ่นดินแห่งนี้ บัณฑูรจึงตระเวนท่องเที่ยวไปทั่วจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีที่ไหนในน่านที่เขาไม่รู้จัก หนังสือประวัติศาสตร์เมืองน่าน แม้กระทั่งหนังสือโบราณ ก็ผ่านการอ่านและศึกษามาจนรู้ลึกซึ้งและประทับใจในประวัติศาสตร์ลานนา จนทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนจินตนิยาย อิงตำนานลานนาตะวันออก “สิเนหามนตาแห่งลานนา”

บัณฑูร ล่ำซำ รักษ์น่านนานนาน

 

จินตนิยายเรื่องนี้ เนื้อเรื่องเกิดในเมืองน่าน ทั้งในอดีตและภาคปัจจุบันมีส่วนที่อิงประวัติศาสตร์ผนวกกับข้อมูลอีกหลากหลายแห่ง ถือเป็นนวนิยายที่มีความถูกต้องเต็มที่ทางวิชาการ ประวัติศาสตร์ ทั้งในตัวบุคคล สถานที่ ภาษา และสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้เขียนอย่างชัดเจน

“บัณฑูร” ยังมีความรักในศิลปวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ชาวบ้านยังใช้วิถีชีวิตแบบเดิม ไม่มีแสงสีจากไนต์คลับหรือบาร์เหมือนเมืองอื่นๆ

เป็นเมืองเล็กที่สงบและสวยงาม เมืองน่านยังบริสุทธิ์ จนบัณฑูรเห็นว่ามีศักยภาพที่จะได้รับการยกให้เป็นเมืองมรดกโลก เหมือนหลวงพระบาง ซึ่งเป็นบ้านพี่เมืองน้องได้

“ถ้าเมืองน่านได้เป็นเมืองมรดกโลก จะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สวยงาม” บัณฑูร กล่าว

บัณฑูร ล่ำซำ รักษ์น่านนานนาน

 

เขาจึงทำเรื่องไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อของบประมาณนำสายไฟฟ้าเมืองน่านลงใต้ดิน ซึ่งจะทำให้ความงามของตึกรามบ้านช่องเก่าของเมืองน่านอวดความงามอันเป็นเอกลักษณ์ได้เต็มที่ ซึ่งเขาตั้งใจว่าค่อยทำไป หากงบประมาณมีจำกัดเท่าไหร่ก็ทำไปตามที่งบเอื้ออำนวย เพราะการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินนั้นใช้งบประมาณสูง

ด้วยความเป็นคนที่ตั้งใจทำอะไร ต้องรู้แจ้งเห็นจริง บัณฑูรจึงตระเวนท่องเที่ยวไปทั่วจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีที่ไหนในนันทบุรีที่เขาไม่รู้จัก และเมื่อเดินทางไปจนทั่ว ทำให้พบว่า จ.น่าน กำลังประสบกับปัญหาใหญ่จากการกระทำของคนพื้นถิ่นเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนตัดต้นไม้ถางป่าเพื่อนำพื้นที่โล่งไปปลูกข้าวโพดและยางพารา ซึ่งมีนายทุนมารับซื้อถึงที่อย่างไม่จำกัด

บัณฑูร ล่ำซำ รักษ์น่านนานนาน

 

ดังนั้น ป่าต้นน้ำน่านถูกตัดจนเหลือไม่มาก และน่าเป็นห่วง เพราะแม่น้ำน่านเป็น 1 ใน 4 แม่น้ำ ปิง วัง ยม และน่าน ที่ไหลผ่านหลายจังหวัดทางภาคเหนือมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ รวมตัวกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา

“หากป่าต้นน้ำถูกทำลายไม่มีแหล่งซับน้ำ สายน้ำจะเหือดแห้ง สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบก็คือคนในท้องถิ่น และคนอีกหลายจังหวัดที่แม่น้ำไหลผ่าน และปลายน้ำที่ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาคือ กทม.”

สิ่งที่นายแบงก์ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลเป็นห่วง ไม่ได้เกินจริง จากตัวเลขพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของ จ.น่าน ใน 15 อำเภอ ในปี 2556 มีพื้นที่ 6.43 ล้านไร่ ถูกถางพื้นที่ในป่าสงวนแห่งชาติเพื่อปลูกพืชไร่ 1.54 ล้านไร่ เหลือพื้นที่ป่าไม้ 4.89 ล้านไร่ ซึ่งเป็นการลดลงในเวลาอันรวดเร็ว จากเมื่อครั้งที่บัณฑูรมาเยือนเมืองน่านใหม่ๆ เห็นทิวเขาเขียวชอุ่มเป็นป่าสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันสภาพทิวเขากลายเป็นภูเขาหัวโล้นเป็นระยะ

“หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายเมืองน่านจะกลายเป็นเมืองแห้งแล้งมีแต่ภูเขาหัวโล้น และเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับสั่งให้ทำโครงการในพระราชดำริ คือ โครงการอนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดน่าน” บัณฑูร กล่าว

บัณฑูร ล่ำซำ รักษ์น่านนานนาน

 

สมเด็จพระเทพฯ มีรับสั่งว่า ป่าไม้ของ จ.น่าน ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วมาก จากที่เคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น่านยังมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่ไม่กี่ปีมานี่มีแต่ภูเขาหัวโล้น จึงทรงรับสั่งให้รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของ จ.น่าน เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของป่าไม้อย่างยั่งยืน หากตัดต้นไม้ใหญ่และปลูกต้นไม้ทดแทนก็ไม่สามารถที่จะโตได้ทัน เพราะกว่าต้นไม้จะโตกลับมามีระบบนิเวศเหมือนเดิมใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30-40 ปี

แผนการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน สมเด็จพระเทพฯ ทรงดำเนินโครงการพระราชดำริผ่านหน่วยงานหลัก คือ ธนาคารกสิกรไทย กองทัพบก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทุกหน่วยงานจะร่วมมือกันดำเนินโครงการตามพระราชดำริให้ประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ มีการแบ่งการฟื้นฟูออกเป็น 2 กลุ่ม โดยพัฒนาจากเด็กและเยาวชนให้มีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้ สามารถสร้างสรรค์แนวทางและวิธีการในการรักษาปกป้องการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งจะมีการติดตามการดำเนินงานและประเมินผล

ส่วนอีกกลุ่มคือ งานการรักษาและการบริหารจัดการการใช้พื้นที่ป่า ที่จะต้องเสริมสร้างความรู้ให้ชุมชน ที่จะรักษาป่าไม้ให้ประสบความสำเร็จ จัดการใช้พื้นที่ป่าเพาะปลูกโดยไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม

สำหรับธนาคารกสิกรไทย บัณฑูรแยกโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่านออกจากโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคาร โดยตั้งงบประมาณเฉพาะเพื่อที่จะฟื้นฟูผืนป่า

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คนรักษากับคนทำลายจะมองปัญหาเหมือนกัน คนทำลายตัดต้นไม้หลายไร่เพื่อแลกรถมอเตอร์ไซค์คันเดียว แต่ทำลายธรรมชาติอย่างมหาศาล

“โจทย์ที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ที่จะให้ชาวบ้านเลิกบุกรุกป่าก็คือการหาอาชีพให้ ซึ่งจะต้องเข้ามาช่วยชาวบ้านพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้มีมูลค่าเพิ่ม ส่งไปจำหน่ายในแหล่งท่องเที่ยว หรือส่งออกไปขายต่างประเทศเลย ซึ่งการแก้ไขต้องทำให้เป็นระบบ” บัณฑูร กล่าว

เขายอมรับว่างานนี้ยากแต่ท้าทาย และคงไม่เกินความสามารถที่จะทำให้สำเร็จหากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ

นายแบงก์หัวใจศิลปินผู้นี้ กล่าวว่า ตลอดชีวิตไม่เคยอยากมีอาชีพเป็นนายแบงก์ แต่ต้องทำเพราะพ่อให้ทำ แต่ขณะนี้สูงวัยขึ้น งานประจำลดลง เมื่อเจอโจทย์ที่ท้าทายต้องนำความรู้เข้าไปช่วยแก้ไข ต้องนำวิทยาศาสตร์ของการเกษตรเข้ามาช่วย และต้องไปหาพืชที่ได้มูลค่าสูงสุด ช่วยเหลือปากท้องของชาวบ้าน

การรักษ์ป่าน่าน เป็นงานที่บัณฑูรทำด้วยความรักและทุ่มเท อยากเห็นเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมายนี้ เป็นเมืองมรดกโลกในช่วงชีวิตนี้

“ผมเป็นคนน่านไปแล้ว อยู่ที่นี่มีชีวิตเรียบง่าย ไม่ต้องใส่สูท ใส่ชุดพื้นเมืองเดินไม่ต้องกลัวว่าจะเสียภาพนายแบงก์”

นี่คือความสุขที่แท้จริงในชีวิตที่นายแบงก์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งนี้ปรารถนา