posttoday

พลังจิตอาสา ไร้ขีดจำกัด

02 พฤศจิกายน 2556

จิตอาสา คือ ผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละ

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

จิตอาสา คือ ผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละ สิ่งที่ตนเองมี แม้กระทั่งเวลา เพื่อเผื่อแผ่ให้กับส่วนรวม...อีกทั้งยังช่วยลด “อัตตา” หรือความเป็นตัว เป็นตน ของตนเองลงได้บ้าง

หนุ่มจิตอาสาใจเต็ม 100%

“อารีย์ โพธิ์ศรี” หรือก็อป หนุ่มอายุ 27 ปี เริ่มต้นเล่าเรื่องการก่อตั้ง กลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์สิ่งดีงาม เมื่อ 2 ปีที่แล้วเป็นการรวมกลุ่มเพื่อนๆ ในโลกสังคมโซเซียลเน็ตเวิร์ก ที่อาสาเข้ามาช่วยชาวบ้านในช่วงพิบัติภัยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และยังรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมกันต่อ

พลังจิตอาสา ไร้ขีดจำกัด

 

“อารีย์” เล่าว่า ปกติทำงานประจำช่วยงานที่บ้านทำธุรกิจเกี่ยวกับโลจิสติกส์และในช่วงเลิกงานประมาณ 15 ทุ่ม และวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ได้มาทำกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยปัจจุบันจิตอาสาแต่ละกลุ่มมีเครือข่ายที่จะส่งต่อข่าวสารการทำกิจกรรมดีๆ ซึ่งกันโดยมีเครือข่ายประมาณ 600 คน

อารีย์ บอกว่า การทำงานจิตอาสาทำให้ผมเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต มีการค้นพบตัวเอง ตอนแรกๆ มาทำงานจิตอาสาเพราะเห็นว่าสนุกดี ได้ช่วยเหลือคน แต่ในความเป็นจริงแล้วงานจิตอาสามีประโยชน์กับตัวผมเองด้วย รู้จักแบ่งเวลาและสร้างความสมดุลในชีวิตตัวเอง รวมทั้งพัฒนาจิตใจตัวเอง

งานอาสาที่กลุ่มผมทำนั้นจะเน้นการทำความสะอาดในที่สาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเราจะชักชวนเด็กวัยรุ่นมาทำความสะอาดป้ายรถเมล์ ตู้โทรศัพท์และเก็บขยะ บริเวณอนุสาวรีย์ประมาณ 2 เดือนครั้ง ซึ่งเป็นการขัดเกลาจิตใจตัวเอง และมีการจัดกิจกรรมไปทำความสะอาดในที่ต่างๆ ในต่างจังหวัดด้วย เพื่อไปบอกเล่าการทำความดีต่อไป

พลังจิตอาสา ไร้ขีดจำกัด

 

“ผมเลือกที่จะทำจิตอาสาด้านการทำความสะอาดเก็บขยะ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด แค่ขยะถ้าคุณไม่จัดเก็บหรือทำความสะอาดมันแล้วก็สกปรก เหมือนกับการเป็นขัดเกลาจิตใจไปด้วย และการทำความสะอาดในที่สาธารณะเหมือนกับการทำทาน ซึ่งเป็นมงคลแห่งชีวิต” อารีย์ กล่าว

แม้ว่าปัจจุบันในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยจะมีกิจกรรมจิตอาสา มีหลักสูตรให้เด็กต้องได้ทำกิจกรรมจิตอาสา แต่เมื่อกลุ่มเด็กๆ มาทำจิตอาสาแล้ว ก็เกิดการเปลี่ยนเข้าใจและทำงานจิตอาสาด้วยใจ มากกว่าที่จะทำเพื่อผลการ “เกรด” หรือคะแนนเท่านั้น บางกลุ่มก็ยังเข้ามาร่วมงานจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง มีการชักชวนเพื่อนๆ มาเข้าร่วมกิจการและบางครั้งก็ชวนมาร่วมงานจิตอาสากันทั้งครอบครัว

‘คุณย่า’ จิตอาสาไม่มีวันเกษียณ

จรูญศรี วงศ์เจริญรัตน์ อายุ 80 ปี เริ่มต้นทำงานจิตอาสาตั้งแต่เกษียณวัย 55 ปี นับมาถึงวันนี้ก็ทำงานจิตอาสามากว่า 25 ปีแล้ว

ตารางการทำงานจิตอาสาของ “คุณย่าจรูญศรี” เต็มเหยียดทั้งสัปดาห์เริ่มต้นวันจันทร์จะไปช่วยงานที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ขายของที่มีผู้นำมาบริจาคเพื่อหาเงินเข้ากองหารายได้ของโรงพยาบาลจุฬาฯ วันอังคารจะไปช่วยงานที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ เพื่อที่จะช่วยคัดกรองและกรอกเอกสารต่างๆ ให้กับผู้ป่วย ตามสิทธิการรักษาพยาบาลต่างๆ ส่วนวันพุธจะเป็นอาสาสมัครให้กรมคุมความพฤติ ศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อไปติดตามตรวจสอบความประพฤติของผู้ต้องหาที่เป็นคนที่กระทำความผิด และศาลมีคำสั่งให้คุมความประพฤติใน “โครงการคืนคนดีสู่สังคม”

พลังจิตอาสา ไร้ขีดจำกัด

 

ส่วนวันพฤหัสบดีในช่วงเช้าจะไปที่ตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อช่วยผู้ป่วยกรอกประวัติ และในช่วงบ่ายจะมาช่วยงานที่ศูนย์รับบริจาคเลือดที่สภากาชาดไทย สำหรับวันศุกร์จะเป็นวันส่วนตัวที่จะไปฟังธรรมะที่ตึกซีพีสีลม และเสาร์อาทิตย์จะไปฟังสัมมนาเพื่อเสริมความรู้ต่างๆ ที่สนใจ เช่น ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น และที่สำคัญช่วงเช้าทุกๆ วันจะต้องออกกำลังกายเต้นแอโรบิกและช่วงเย็นเล่นโยคะ

“ทำงานทุกวันไม่เคยเบื่อเพราะเราทำงานด้วยใจรัก และทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่ แม้ว่าไม่ได้เงินทองและเราจะต้องควักเงินเองทั้งค่าชุดเครื่องแบบ ค่าใช้จ่ายอาหารและการเดินทาง แต่เราก็มีความสุขดีกว่าไปช็อปปิ้งหรือนอนอยู่กับบ้านเฉยๆ สำหรับคนวัยเกษียณยิ่งจะทำให้เราเฉา สุขภาพไม่ดีและแก่เร็ว”

คุณย่าจรูญศรี บอกว่า การทำงานเป็นอาสาสมัครหรือจิตอาสานั้น ไม่จำเป็นต้องบริจาคเงินทองเสมอไป เราบริจาคแรงกาย บริจาคความรู้ เพื่อนำไปช่วยงานได้ และเชื่อว่าเป็นผลบุญจากการทำงานจิตอาสา ทำให้ทุกวันนี้สุขภาพแข็งแรงและเคยประกวดได้รางวัลผู้สูงอายุสุขภาพดี

ทุกๆ วัน “คุณย่าจรูญศรี” ยังมีพลังใจอย่างมหาศาลและเติมเต็มความสุขทุกๆ วันที่ออกไปทำงานจิตอาสา พร้อมกับชักชวนให้ทุกคนมาช่วยงานจิตอาสาจะทำอะไรได้ เพราะทุกวันนี้ยังมีพื้นที่ต้อนรับ “จิตอาสา”

ธนาคารจิตอาสา

“ธนาคารจิตอาสา” เป็นระบบสนับสนุนการทำงานอาสา ที่เข้าถึงได้ทาง Internet มีระบบคัดเลือกและแนะนำงาน (Matching) ให้ค้นหางานอาสาที่เหมาะกับตนเอง ตรงกับความสนใจ ความถนัด ทักษะ ความสามารถ หรือความสะดวก

พลังจิตอาสา ไร้ขีดจำกัด

 

ธีระ เต็มอุดม หรืออาจารย์หนุ่ม หัวหน้าโครงการธนาคารจิตอาสา กล่าวถึงประโยชน์การเป็นจิตอาสา คือทำให้เราเห็นตัวเอง เปิดตัวเองมากขึ้น ให้หลุดพ้นจากความเคยชิน เข้าไปเรียนรู้ในชีวิตจริงมากขึ้น โดยใช้ชีวิตเชื่อมโยงกับคนอื่นมากขึ้น และเชื่อมโยงกับสภาพสังคมใหม่ๆ

ปัจจุบัน “จิตอาสา” มีจำนวนมากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยสามารถรวมตัวกันทำงานจิตอาสาได้

สำหรับข้อแนะนำ “จิตอาสามือใหม่” เบื้องต้นต้องถามตัวเองก่อนว่าเราแคร์เรื่องไหนมากที่สุด เพราะงานจิตอาสาต้องเริ่มจากตัวเอง เช่น เราเป็นคนที่แคร์กับเรื่องของหมาและแมวเห็นถูกทำร้ายแล้วเกิดความสงสาร อยากจะเข้าไปช่วยเหลือก็เริ่มจากการเข้าไปช่วยเหลือสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

“คนโสด” จิตอาสา คนหนุ่มสาว หรือคนวัยทำงาน ซึ่งคนวัยนี้จะมีทั้งพลังงานและเวลา และพร้อมที่จะทำงานจิตอาสาอย่างเต็มที่ ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้เฟซบุ๊กในการสื่อสารและถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานและสามารถที่จะระดมเครือข่ายที่จะมาช่วยงานจิตอาสาได้อย่างรวดเร็ว

“เกษียณ จิตอาสา” คนวัยเกษียณจะมีเวลาว่างมากและมีประสบการณ์มากมาย ซึ่งงานจิตอาสาส่วนใหญ่จะเกิดจากการริเริ่มของท่านเอง เช่น การเย็บปักถักร้อย ถักที่ใส่บาตรพระ นำชายผ้าเหลืองมาเย็บเป็นกระเป๋าเพื่อใส่ซีดีและหนังสือธรรมะ เพื่อนำไปมอบให้กับญาติและผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือการถักหมวก หรือผ้าพันคอไหมพรมให้กับเด็กยากจนในต่างจังหวัด รวมทั้งการเข้าไปพูดคุยให้กำลังใจกับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย