posttoday

จักรยานโบราณของรัก เกษม ตูพานิช

08 กันยายน 2556

ของสะสมบางอย่างก็สะท้อนความรักความผูกพันระหว่างคนในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นได้ดี เช่นเดียวกับการเก็บสะสมจักรยานโบราณของ เกษม ตูพานิช วัย 35 ปี

โดย...วราภรณ์ ภาพ : ทวีชัย ธวัชปกรณ์

ของสะสมบางอย่างก็สะท้อนความรักความผูกพันระหว่างคนในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นได้ดี เช่นเดียวกับการเก็บสะสมจักรยานโบราณของ เกษม ตูพานิช วัย 35 ปี โฟร์แมนหนุ่มแห่งบริษัท 9 ดีไซน์ ดีกรีศึกษาจบคณะออกแบบ เอกศิลปะถ่ายภาพ โทตกแต่งภายใน วิทยาลัยเพาะช่าง ด้วยมีทุนคือรักงานศิลปะ เขาจึงรักในการเก็บสะสมจักรยานโบราณนาน 15 ปี มีไว้ในครอบครองราว 13 คัน คันที่อายุมากที่สุดกว่า 60 ปีแล้ว ได้แก่ จักรยานเฮอร์คิวลิส แบรนด์ยอดฮิตของอังกฤษ หรือจักรยานยี่ห้อราเลย์รุ่น 26 นิ้ว ทัวริ่ง ของอังกฤษ ผลิตเมื่อปี ค.ศ. 1951 ฯลฯ ไม่นับรวมกับของคุณพ่อ พ.อ.ประพันธ์ ที่คอเดียวกันเก็บสะสมคอลเลกชันเป็นคอลเลกชันส่วนตัวอีกจำนวนหนึ่ง

อาจกล่าวได้ว่าคุณพ่ออดีตนายทหารเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ลูกชายหันมาเก็บสะสมจักรยาน เนื่องจากทั้งคุณปู่และคุณพ่อเป็นชาวนครปฐม พาหนะยอดฮิตที่ขี่ไปซื้อของที่ตลาดก็คือจักรยานนั่นเอง

จักรยานโบราณของรัก เกษม ตูพานิช

 

“ความชอบจักรยานของผมเริ่มมาจากพ่อของผมเริ่มเก็บสะสมจักรยานตั้งแต่ 2530 ปีที่แล้ว ที่ผมและพ่อหลงใหลในจักรยานโบราณอาจเป็นเพราะความที่พ่อเป็นคนนครปฐม ตอนเด็กๆ เมื่อพ่อพาไปเยี่ยมคุณปู่ หรือพ่อเล่าให้ฟังก็คือ เวลาจักรยานของปู่ที่นครปฐมเสีย พ่อก็ต้องเอาล้อจากที่นั่นมาซ่อมที่ร้านซ่อมจักรยาน ตลาดน้อย จำได้ว่าตอนนั้นผมอายุ 5 ขวบ ต้องนั่งถือล้อจักรยานไปซ่อมให้ปู่ แล้วเอากลับไปให้ที่นครปฐม อยู่ต่างจังหวัดจักรยานจะฮิตมาก เพราะบ้านอยู่ติดแม่น้ำ ใช้เรือเป็นหลัก หลังจากนั้นปู่เสียตอนผมอายุ 11 ขวบ รถจักรยานคันเก่าของปู่พ่อเอามาบำรุงรักษา เก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งปัจจุบันอายุมากกว่า 60 ปีแล้ว

ตอนพ่อเก็บผมไม่สนใจ เราชอบมอเตอร์ไซค์มากกว่า จนประสบอุบัติเหตุขับมอเตอร์ไซค์แล้วเกิดไฟไหม้จึงเข็ด ก็ทิ้งมอเตอร์ไซค์แล้วหันมาเล่นและสะสมจักรยานโบราณตอนอายุ 25 ปี โดยได้เรียนรู้และศึกษาจากพ่อ เมื่อผมมาสะสมจักรยานทำให้เห็นถึงความคลาสสิก ปัจจุบันพ่อผมอายุ 60 ยังใช้จักรยานอยู่ คนสูงอายุมักมีปัญหาเรื่องหัวเข่า แต่การขี่จักรยานช่วยปัญหานี้ได้ดี ปัจจุบันพ่อผมยังแข็งแรงเพราะจักรยาน เมื่อก่อนผมกับพ่อไม่ค่อยถูกกัน เพราะผมไม่ยอมเป็นทหารเหมือนพ่อ และอยู่นอกกรอบตลอด แต่การสะสมจักรยานเหมือนกัน ทำให้เรามีโอกาสได้คุยยาวๆ ได้เดินตลาดเพื่อหาอะไหล่จักรยานด้วยกัน จักรยานจึงเป็นสื่อกลางของผมกับพ่อได้ดี”

จักรยานโบราณของรัก เกษม ตูพานิช

 

ความชอบจักรยานทวีมากขึ้นเมื่อได้ฟังเรื่องเล่าในวัยเด็กของพ่อ

“ตอนพ่อเก็บระยะแรกมีประมาณ 3 คัน เป็นของปู่ ของป้า ซึ่งปู่ซื้อให้ป้าขี่ไปตลาด พ่อเริ่มซื้อเพิ่ม เพราะพ่อรู้สึกผูกพันเมื่อตอนเด็กๆ ปู่ซื้อจักรยานเฮอร์คิวลิส แบรนด์จักรยานยอดฮิตของอังกฤษให้พ่อขี่ตอนเด็กๆ พ่อขี่จักรยานเล่นแถวหมู่บ้าน พอผมมีกำลังซื้อ ก็หาซื้อเฮอร์คิวลิส สีเดิม ล้อ 26 นิ้ว เบรกแข็ง ซึ่งเป็นจักรยานที่มีความสมบูรณ์ เพราะเก่าเก็บและใหม่มากๆ ไม่เคยใช้เลย พอนำไปให้พ่อ ผมรู้เลยว่าพ่อดีใจมาก เหมือนพ่อได้ของเล่นกลับคืนมา” จากนั้นเขาจึงเริ่มซื้อเก็บสะสมจักรยานคันแรก รุ่นราเลย์รุ่น 26 นิ้ว ทัวริ่ง ของอังกฤษ สีดำ สภาพสมบูรณ์

“คันยอดฮิตนี้ผมซื้อมาในราคา 1,500 บาท ซึ่งถือว่าถูกมาก ในท้องตลาดซื้อขายกันที่ 2 หมื่นบาท เพราะครั้งแรกที่รุ่นนี้ออกวางจำหน่ายราคา 400 บาทในปี ค.ศ.1951 ทำไมจักรยานสมัยก่อนแพง เพราะมันเป็นยานพาหนะของคนมีสตางค์ และ 60 ปีที่แล้ว สิ่งที่ไฮเทคก็คือ จักรยาน น้อยมากที่แต่ละบ้านจะมีรถขับ เพราะรถมีเมื่อ 40 ปีที่แล้วนี่เอง คนมีจักรยานคือคนมีฐานะ”

จักรยานโบราณของรัก เกษม ตูพานิช

 

คันต่อๆ มาของเกษมที่เขาเก็บสะสมเป็นคอลเลกชันส่วนตัว เช่น ยี่ห้อ Rudge ตัวถังเฟรมรุ่นโบราณ ประกอบปี 1950 เขาเริ่มสะสมจากอะไหล่ทีละชิ้น เพราะตอนที่เขาได้มาคือโครงเปล่าๆ และเขาค่อยๆ มาตามหาอะไหล่เมื่อครั้งที่เดินทางไปทำงานต่างจังหวัด เวลาว่างเขาก็เดินไปตามร้านอะไหล่จักรยานเก่า ค่อยๆ ซื้อทีละชิ้น นอตทีละตัว จึงประกอบได้ ใช้เวลา 2 ปีจึงประกอบเสร็จ ซึ่งในการประกอบร่างเกษมเปรียบเหมือนดังการประกอบจิ๊กซอว์ ต้องอาศัยความเพียรในการหา ต้องรู้ว่าใช้อะไร ด้วยการศึกษาผ่านหนังสือ จักรยานโบราณของ ทวีไทย บริบูรณ์ แห่งบ้านจักรยาน

เกษมแนะถึงแหล่งที่เขาไปตามหาอะไหล่จักรยานโบราณ อาทิ ตามร้านตัวแทนจักรยานโบราณสมัยก่อน ตามหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น สงขลา เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช นครปฐม อีสาน ได้แก่ อุบลฯ อุดรฯ โคราช เพราะเมืองใหญ่ๆ เหล่านี้เป็นตัวแทนจำหน่ายและมักมีอะไหล่ตกค้าง ซึ่งบางร้านปิดไป 20 ปีแล้ว แต่ยังมีอะไหล่จักรยานหลงเหลืออยู่

จักรยานโบราณของรัก เกษม ตูพานิช

 

“อย่างคันสีเขียว ได้จากร้านตัวแทนจำหน่ายที่ร้านที่นครศรีธรรมราช เมื่อก่อนเขาขายจักรยานโบราณ พอสมัยหนึ่งมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าเข้ามาในประเทศไทย เช่น ฮอนด้าหมู ซึ่งมีราคาถูก แต่จักรยานก็ยังแพงอยู่ เพราะมาไกล ค่าขนส่งถูกกว่า แต่ฮอนด้ามาจากญี่ปุ่น พอปี ค.ศ. 1960 คนจึงหันมาเล่นมอเตอร์ไซค์ ทำให้จักรยานขายไม่ได้เท่าเก่า ร้านเลิกสั่งเลิกขาย คนไม่นิยม ซึ่งร้านเหล่านี้เขาเก็บของเก่าๆ ไว้หลังร้านและหันไปขายอย่างอื่น พอเราไปเห็นของเก่าที่หลังร้านดีใจมาก เพราะเจออะไหล่จักรยานเยอะมาก เห็นโครง ตะเกียบ ที่หุ้มโซ่ ก็เลยเข้าไปรื้อ ไปเจอ Rudge ตัวถังเฟรมอยู่ข้างล่าง ไปเสาะหาชุดสี บังโคลน บังโซ่ จนได้ครบคัน ตามอะไหล่อีก 1 ปี จนเป็นคันที่สมบูรณ์ เอาไปประกวดที่งานจักรยาน เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ได้รางวัลที่หนึ่งของประเทศเมื่อปี 2551 เพราะมีความสมบูรณ์ ใหม่แกะห่อ อะไหล่ก็ใหม่”

เกษมมีความฝันอยากเปิดร้านจำหน่ายจักรยานโบราณ เพื่อใช้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยน เป็นแหล่งชื่นชม และให้ความรู้จักรยานโบราณแก่คนคอเดียวกัน

“ผมเดินทางหลายที่ เจอร้านจักรยานหลายรูปแบบ ยกเว้นจักรยานโบราณยังไม่มีใครทำร้านเป็นเรื่องเป็นราว ผมไม่อยากให้หายไปกับรุ่นเรา คิดแค่ว่าเรามีหน้าที่ดูแลรักษา ส่งต่อ และให้คนได้มาศึกษาประวัติศาสตร์ของจักรยาน ผมคิดว่าเสน่ห์จักรยานโบราณอยู่ตรงความทนทานของเหล็กในสมัยนั้น เขาทำมาให้คนใช้ในชีวิตประจำวันได้ มีเครื่องประดับเยอะ เช่น กระดิ่ง ไฟ ตะกร้า กระเป๋า เป็นยานพาหนะอเนกประสงค์ มีเครื่องประดับประกอบ แสดงถึงความช่างคิด จินตนาการของคนโบราณ มีที่ซ้อนเด็ก ตะแกรง บรรทุก ไฟส่องสว่างเวลาเดินทางกลางคืน ส่วนความงามด้านศิลปะ โครงสร้างของจักรยานโบราณอังกฤษ อังกฤษเป็นต้นกำเนิดของจักรยาน หรือรถมอเตอร์ไซค์ไทรอัมพ์ก็ของอังกฤษ จักรยานก็ต้องอังกฤษ มันทนทานเป็นประเทศที่คิดเหล็กสูตรไฮคาร์บอน 2030 ซึ่งเป็นสูตรผสมเหล็กที่แข็งแรงในสมัยโบราณ จึงได้อยู่ถึงปัจจุบัน”

จักรยานโบราณของรัก เกษม ตูพานิช

 

เกษมอยากฝากบอกไปถึงนักสะสม ทุกบ้านเคยมีจักรยานโบราณ ถ้ามีอยู่แล้ว ก็ให้เริ่มศึกษา เพราะยังทันที่จะเก็บสะสม

“ผมคิดว่าการสะสมจักรยานโบราณให้อะไรดีๆ กับชีวิตเยอะ ไม่เคยให้โทษเลย ทำให้ผมได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งความพยายามในการเสาะแสวงหาและซ่อมแซม ที่สำคัญที่สุดคือทำให้ผมได้ผูกพันกับพ่อ ได้รู้จักความอดทนในการรอคอย เมื่อสนใจก็ได้ความรู้ เป็นการใช้เวลาว่างในการศึกษาให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งได้ออกกำลัง ถือเป็นการลงทุนที่ไม่แพงเลยครับ”

วิธีรักษาคือ หลักๆ ถ้าไม่ใช้จักรยานต้องแขวน เพราะยางจะเสื่อม จะใช้เมื่อไหร่ค่อยยกลง จักรยานทำจากวัสดุเหล็ก ดังนั้นห้ามโดนน้ำ จะผุ พัง อย่าเก็บอย่างเดียว นำออกมาใช้บ้าง เพราะถ้าไม่ใช้อะไหล่จำพวกลูกปืน ของที่ต้องหมุน เช่น ล้อ เกียร์ แฮนด์จะเสีย ส่วนตัวถังแนะนำให้ใช้น้ำมันมะพร้าวหรือเบบี้ออยล์เช็ดทำความสะอาด ข้อดีของน้ำมันจะช่วยรักษาผิวสีไม่ให้ล่อน

ควรเก็บรักษาจักรยานโบราณเหล่านี้ไว้ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก หากอากาศร้อนมากๆ หรือเก็บโดนแดดยางจะเสีย คันไหนที่เสียควรหาซื้ออะไหล่ซ่อม การซ่อม ซ่อมเองโดยวิธีพื้นฐาน คือ ใช้มือทำ หากเจ้าของจักรยานซ่อมเองได้จะรู้สึกสนุก โดยใช้วิธีศึกษาจากตำรา แต่หากซ่อมเองไม่ได้ก็ต้องพึ่งนักสะสมด้วยกันค่อยๆ ช่วยกันทำ เพราะร้านที่เปิดซ่อมจักรยานเป็นเรื่องเป็นราวหาได้น้อยแล้วในปัจจุบัน ยิ่งอะไหล่แต่ละชิ้นของจักรยานโบราณยิ่งหายาก เพราะเลิกผลิตไปเมื่อ 30 ปีก่อน โรงงานอะไหล่ก็ปิดตัวไปแล้ว จึงไม่มีของที่ทำเลียนแบบ ต้องหาอะไหล่จากนักสะสมจริงๆ

จักรยานโบราณของรัก เกษม ตูพานิช

จักรยานโบราณของรัก เกษม ตูพานิช

จักรยานโบราณของรัก เกษม ตูพานิช

จักรยานโบราณของรัก เกษม ตูพานิช