posttoday

ค.คนในกรงขัง วิภาส ศรีทอง

06 สิงหาคม 2555

“จับชายสักคนหนึ่งมาขังในกรง”

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

“จับชายสักคนหนึ่งมาขังในกรง”

ประโยคเดียวอันถือเป็นจุดเริ่มเรื่องทั้งหมดในนิยายที่ชื่อว่า คนแคระ ของ วิภาส ศรีทอง สำนักพิมพ์สมมติ

หนึ่งใน 7 เล่มที่ทะลุผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2555

เรื่องของ เกริก ชายหนุ่มผู้เพียบพร้อมด้วยการศึกษา ฐานะ เงินทอง แต่กลับมีความคิดวิปลาสพิลึกพิลั่นอย่างมิอาจหาเหตุผลมาอธิบายได้ นั่นคือการลักพาตัวใครสักคนมาจองจำไว้ในกรงขัง

คนแคระ คือเหยื่อเคราะห์ร้ายคนนั้น สถานที่จองจำอยู่บนตึกร้างกลางทุ่ง

หลังสลบไสลด้วยฤทธิ์ยานานหลายชั่วโมง ชายแคระตื่นขึ้นมาในห้องที่ดูเหมือนถูกตกแต่งเสียหมดจด ไม่ว่าจะผนังห้องสีสะอาดตา โต๊ะ ตู้ เตียง ห้องน้ำ ครัว เฟอร์นิเจอร์ล้วนใหม่เอี่ยมและมีขนาดเล็กจิ๋ว ราวกับบ้านจำลองตุ๊กตา

ทุกอย่างรอบตัวชี้ชัดว่าถูกเตรียมการไว้แล้วอย่างดี

แต่ความผิดปกติที่มิอาจปกปิดได้ ตอกย้ำความจริงอันโหดร้าย ความรู้สึกอึดอัดทรมานจากการถูกกักขัง ความสิ้นหวังหลังถูกตัดขาดจากโลกภายนอก นั่นคือ ซี่กรงเหล็กหนาและหน้าต่างบานเล็กเพียงพอแค่รับแสงเดือนแสงตะวันสาดส่องเข้ามา ให้รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่บนโลกเท่านั้น

นิยายเล่มนี้พาผู้อ่านสำรวจลึกลงไปในจิตใจมนุษย์ ทั้งเกริก ชายหนุ่มผู้กระทำ และคนแคระ ผู้ถูกกระทำ ว่าการลักพาตัวใครสักคนมากักขัง แล้วนั่งมองเหมือนกำลังดูสารคดีชีวิตสัตว์ในกรง เพื่อสนองจินตนาการอันฟุ้งซ่านนั้น แท้จริงแล้วคือปมด้อยจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือเป็นความปรารถนาประหลาดพิกลของคนป่วยไข้กันแน่

“ผมกำลังอธิบายถึงอุดมคติของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และการต่อสู้กับความว่างเปล่าของแต่ละปัจเจก หรืออีกนัยหนึ่งคือสำนึกที่ต้องการชดเชยแข็งขืนเพื่อไม่ให้ชีวิตลงเอยในความว่างเปล่า มันเอ่ยถึงเสรีภาพ ความเสมอภาค แก่นของความเป็นมนุษย์ที่มีด้านมืด มันเตลิดไปได้อีกหลายประเด็น”

“บางคนก็บอกผมว่านิยายเรื่องนี้เล่นกับสัญลักษณ์อยู่พอสมควร ถึงอย่างไรผมคิดว่า สุดท้ายก็คงแล้วแต่มุมมองของคนอ่านที่จะเลือกตีความ” วิภาส พูดถึงผลงานตัวเอง

ตัวละครเอก คนแคระ ปรับแปลงจากประสบการณ์ที่ตัวเขาเองได้รู้จักคนแคระคนหนึ่งในชีวิตจริง

ค.คนในกรงขัง วิภาส ศรีทอง

การแสดงออกของคนแคระถึงอารมณ์แปรปรวนยามถูกลิดรอนเสรีภาพ ปลดปล่อยออกมาอย่างรุนแรง ทั้งความงุนงงสงสัย คลุ้มคลั่ง ด่าทอ สิ้นหวัง ร่ำไห้ หดหู่ ทั้งวิงวอนร้องขอ ทำร้ายตัวเองจนเกือบฆ่าตัวตาย และพยายามหลบหนีไปสู่อิสระ รวมถึงการปรากฏกายของตัวละครอีกสองตัว พิชิตกับนุช หนุ่มหัวอ่อนผู้ไม่มั่นใจในตัวเอง และสาวอารมณ์ศิลปิน ต่างเข้ามาร่วมมีบทบาทน่าตกตะลึงในเหตุการณ์ครั้งนี้

ช่างน่าหวาดหวั่น ระทึกขวัญ บีบคั้นหัวใจยิ่งนัก

ทั้งหมดสะท้อนด้านมืดของมนุษย์ที่มนุษย์กระทำต่อกันอย่างปราศจากคำอธิบาย ไร้ศีลธรรมจรรยาใดๆ มากำกับควบคุม มีเพียงจิตใต้สำนึกที่เป็นแรงผลักดันให้ทำสิ่งที่แม้แต่เจ้าตัวเองก็รู้ว่าเป็นอาชญากรรม

“ตอนลงมือเขียน ผมไม่เคยนึกถึงแก่นเรื่อง ผมแค่มีเรื่องหนึ่งที่อยากจะถ่ายทอดออกมาเป็นชุดความต่อเนื่องของเหตุการณ์ของกลุ่มคนหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นผ่านตอนกลางแล้วไปขมวดปมเข้าสู่จุดจบ

แก่นเรื่องอาจมีความจำเป็นสำหรับนักเขียนในช่วงก่อนลงมือจับดินสอปากกา มันเหมือนเป็นการสร้างเงื่อนไขหรือโจทย์ขึ้นมา แต่พอเขียนไปแล้ว คำว่าแก่นก็หมดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งผมก็ไม่คิดถึงมันอีก

นิยายเรื่องนี้ ผมเขียนโดยไม่นึกหน้าคนอ่าน ไม่นึกถึงใคร เขียนเหมือนกำลังบันทึกอนุทินให้ตัวเองอ่าน มันก็เลยออกมาในลักษณะแปลกๆ ยืดยาว ไดอะล็อกน้อยและหนาเป็นก้อนอิฐ”

ในโอกาสที่ผลงานทะลุเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ปีล่าสุด วิภาส สารภาพว่านิยายเรื่องนี้มันมาไกลเกินความคาดหวังมานานแล้ว

“ผมมองซีไรต์เหมือนรางวัลบุกเกอร์ไพรซ์ เพราะดูเหมือนโครงสร้างการคัดเลือก การมี ลอง ลิสต์ และ ชอร์ต ลิสต์ และความพ้องอย่างหนึ่งคือ เป็นรางวัลที่ให้กับหนังสือเล่มหนึ่ง ตัดสินว่าหนังสือเล่มนั้นดีที่สุดในรอบการประกวด ไม่ใช่รางวัลต่อตัวผู้เขียนเหมือนพวกไลฟ์ไทม์ อะชีฟเมนต์ อะวอร์ด

ผมคิดว่ารางวัลจะชื่ออะไรก็ดีทั้งนั้น ถ้าหากมันช่วยให้กระตุ้นการเขียนการอ่าน ผมชอบให้มีเวทีประกวด ให้มีการวิจารณ์งานกันเอิกเกริกกว่านี้ โดยเฉพาะประเด็นหลัง นักเขียนคงยากที่จะพัฒนาตัวเอง หากปราศจากการวิจารณ์”