posttoday

จับตาประมูลคลื่น รับยุค5จี

03 มกราคม 2562

ทิศทางการประมูลคลื่นความถี่ในปี2562 ส่อแวว กสทช.ย่อมต้องเหนื่อยไม่ต่างจากการประมูลในปีที่ผ่านมาหรืออาจมากกว่าเดิม

ทิศทางการประมูลคลื่นความถี่ในปี2562 ส่อแวว กสทช.ย่อมต้องเหนื่อยไม่ต่างจากการประมูลในปีที่ผ่านมาหรืออาจมากกว่าเดิม

*********************************

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

การจัดสรรคลื่นความถี่ เป็นภารกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งปี 2562 สำนักงาน กสทช. ยังคงเดินหน้าจัดประมูลคลื่นความถี่ต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเข้าสู่ยุค 5จี ที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นต้องถือครองคลื่นความถี่จำนวนมาก

สำหรับปี 2561 สำนักงาน กสทช.ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง โดยเป็นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นการจัดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

ทั้งนี้ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่จำนวน9 ใบอนุญาต ขนาดใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ โดยจัดประมูลขึ้นในวันที่ 19 ส.ค. 2561 มีผู้ชนะการประมูล 2 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ในเครือเอไอเอส และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต (DTN) ในเครือดีแทค ซึ่งคว้าใบอนุญาตรายละ 1 ใบ นับเป็นการประมูลที่ลุ้นจนตัวโก่งว่า จะมีผู้ให้บริการโทรคมนาคม (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมหรือไม่ เนื่องจากกว่าจะเกิดการประมูลในเดือน ส.ค. 2561 สำนักงาน กสทช. ต้องเลื่อนประมูลจากกำหนดการเดิมหลายครั้ง ด้วยเหตุไม่มีผู้ยื่นหนังสือเข้าประมูล กระทั่งใช้กลยุทธ์แบ่งใบอนุญาตออกเป็น 9 ใบเล็ก จึงมีโอเปอเรเตอร์สนใจเข้าประมูล

ด้านการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ต่างเหนื่อยไม่น้อยไปกว่าคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่กว่าจะจัดการประมูลขึ้นได้ในวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ต้องเลื่อนการประมูลจากกำหนดการเดิม 1 ครั้ง เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขการประมูลที่ให้ผู้ชนะการประมูลเป็นผู้จัดทำแนวป้องกันคลื่นความถี่รบกวนการเดินรถของรถไฟ เพราะสำนักงาน กสทช. ได้จัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับกระทรวงคมนาคมจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อใช้ในการเดินรถของรถไฟไทย-จีนไปด้วย สุดท้ายเมื่อสำนักงาน กสทช. ตัดสินใจเอาเงื่อนไขดังกล่าวออกไป ทำให้ดีแทคเข้าร่วมประมูล และคว้าใบอนุญาต ด้วยราคา 38,064 ล้านบาท ขนาดใบอนุญาตจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์

เห็นได้ว่าการประมูลในปี 2561 ไม่คึกคักเท่าการประมูล 2558-2559 ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด และจากปัจจัยราคาการประมูลที่สูงลิ่วในปี 2558-2559 ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนจนถึงทุกวันนี้ ทั้งต้องคิดหนักเมื่อจะเข้าร่วมการประมูลในครั้งต่อๆ ไป

แม้ว่าการเชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมการประมูลจะยากเพียงใด สำนักงาน กสทช.ยังคงเดินหน้าจัดการประมูลต่อเนื่องในปี 2562 ซึ่งเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่รองรับเทคโนโลยี 5จี ที่คาดการณ์ว่าจะทยอยเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ในปี 2563 โดยคลื่นความถี่ที่สำนักงาน กสทช.จะนำมาประมูลในปีหน้า ประกอบด้วยคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ใบอนุญาต ที่เหลือจากการประมูลครั้งก่อน ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้จัดตั้งคณะทำงานเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ และ 2600 เมกะเฮิรตซ์แล้ว เพื่อสามารถจัดการประมูลได้ทันในปี 2562

จับตาประมูลคลื่น รับยุค5จี

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช.มีมติแต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อเตรียมการสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า โดยขั้นตอนการประเมินมูลค่าคลื่น ได้กำหนดให้นักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาจาก กสทช. เป็นผู้ดำเนินการ และนำผลจากการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมของคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อเสนอต่อที่ประชุม กสทช. และนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หลังจากนั้นจะนำกลับเข้าที่ประชุม กสทช. อีกครั้ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวหากไม่มีเหตุขัดข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือน ก.พ.- ต้นเดือน มี.ค. 2562

ขณะที่เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2561 กสทช.มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะทำงานเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น” โดยมี พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งในเบื้องต้นได้ดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ก่อน

ฐากร กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของคณะทำงาน ครอบคลุม การจัดทำรายงานวิเคราะห์เรียกคืนคลื่นความถี่ตามประกาศ กสทช. จากผู้ที่ได้รับอนุญาต เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ การจัดทำแผนดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ การสนับสนุนการดำเนินงานศึกษาประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่และการทดแทน ชดใช้หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ นอกจากนี้คณะทำงานยังเป็นผู้ประสานงานกับคณะอนุกรรมการที่สำนักงาน กสทช.แต่งตั้ง เพื่อให้การดำเนินเรียกคืนคลื่นความถี่เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ก่อน หลังจากนั้นจะมีการเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่านใดต้องรอพิจารณาอีกครั้ง

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ประกาศจุดยืนว่าการใช้งานเทคโนโลยี 5จี ของประเทศไทย ต้องไม่ล่าช้ากว่าประเทศใดในโลก เนื่องจากได้รับบทเรียนช่วงเปลี่ยนผ่าน 3จี และ 4จี ที่ไม่ค่อยรวดเร็วนัก แต่ทั้งนี้เอกชนบางรายไม่ได้เห็นด้วยกับ กสทช.ทั้งหมด เนื่องจากการใช้งานเทคโนโลยี 5จี ไม่ได้เข้ามาทดแทนการใช้งาน 3จี หรือ 4จี แต่เทคโนโลยี 5จี จะใช้กับอุตสาหกรรม และการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ ดังนั้นหากลงทุนเรื่อง 5จี โดยที่ยังไม่มีความต้องการของตลาดในประเทศ การจูงใจให้เอกชนลงทุนด้านนี้ย่อมมีน้อย

ด้วยเหตุผลนี้ การประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป กสทช.มีแนวโน้มเปิดประมูลแบบพ่วง (จับคู่คลื่นความถี่ต่ำ และคลื่นความถี่สูง) เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ จูงใจให้เข้าร่วมประมูล อีกทั้งภาครัฐยังเดินหน้านำร่องทดลองระบบ 5จี เพื่อกระตุ้นการรับรู้ในประเทศ แต่ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น ดังนั้นทิศทางการประมูลในปี 2562 ส่อแวว กสทช.ย่อมต้องเหนื่อยไม่ต่างจากการประมูลในปีที่ผ่านมา หรืออาจมากกว่าเดิมก็
เป็นได้