posttoday

ส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ป่วน แนะดันไทยฐานผลิตเอสเอสดี

01 มกราคม 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ในปี 2561 ของไทยยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าปริมาณการส่งออก 252-262 ล้านชิ้น โต 3.6 -7.8% จากปี 2561 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 12,576-13,089 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 0.9-5% จากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ แรงหนุนหลักของการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทยปี 2562 มาจากการส่งออกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งครองส่วนแบ่งการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทยสูง 55% โดยมีปัจจัยความต้องการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 6 ปี ในปี 2562 จากการประกาศยกเลิกการสนับสนุนระบบปฏิบัติการวินโดว์ 7 อย่างเป็นทางการ (มีผลวันที่ 14 ม.ค. 2563) คาดว่าจะเกิดกระแสการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะกลุ่มตลาดองค์กรและธุรกิจการค้า เพื่อรองรับการใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดว์ 10 จนถึงราวกลางปี 2563

นอกจากนี้ การประกาศปิดฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในมาเลเซีย ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกภายในปี 2562 แล้วย้ายฐานการผลิตมารวมอยู่ที่ไทย รวมไปถึงผลกระทบของสงครามการค้าซึ่งน่าจะผลักดันให้ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในจีนหันมาผลิตและส่งออกจากไทยมากขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของไทยในตลาดโลกน่าจะพุ่งแตะ 87.9% ในปี 2562 และแตะจุดสูงสุดที่ราว 90% ในปี 2563

อย่างไรก็ดี การส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทยยังได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสู่เทคโนโลยีเอสเอสดี โดยเฉพาะเอสเอสดีสำหรับตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Computer SSD)

สำหรับการส่งออกเอนเตอร์ไพรส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทยในปี 2562 คาดว่ายังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลง สืบเนื่องจากผลของฐานที่สูงจากการลงทุนในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับเทคโนโลยีเอสเอสดีได้เริ่มเข้ามาแทนที่การจัดเก็บข้อมูลในองค์กรสำหรับส่วนที่ต้องใช้งานอยู่เสมอ

ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า เทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ยังคงมีความได้เปรียบเหนือเทคโนโลยีเอสเอสดี และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทางผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ได้เริ่มปรับเปลี่ยนสายการผลิตเอนเตอร์ไพรส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สู่เทคโนโลยีขั้นสูงยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถเพิ่มความจุข้อมูลและทำให้ราคาต่อพื้นที่จัดเก็บข้อมูลลดลงกว่า 18% ต่อปี ส่งผลให้เอนเตอร์ไพรส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ยังคงสามารถรักษาส่วนต่างราคาต่อพื้นที่จัดเก็บได้มากถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับการจัดเก็บข้อมูลแบบเอสเอสดีไปได้จนถึงปี 2571

ขณะที่การส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทยสำหรับตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคและตลาดอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสำรอง ที่ผ่านมามีแนวโน้มการส่งออกเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แต่ในอนาคตการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงจากอิทธิพลของการแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบคลาวด์ ซึ่งสามารถเข้าถึงผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่จำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลไว้บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้การจัดเก็บและสำรองข้อมูลผ่านคลาวด์เป็นอีกทางเลือกใหม่และอาจเข้ามาแทนที่การจัดเก็บข้อมูลบนอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ทั้งสองดังกล่าว

ในอนาคตการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทยมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันด้านราคาที่ปรับลดลงสวนทางกับการพัฒนาเทคโนโลยี หรือแม้แต่การเข้ามาของเทคโนโลยีเอสเอสดีในตลาดอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นดังนั้นการขยายตัวของการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทย จึงขึ้นอยู่กับการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตและการลดต้นทุนต่อหน่วย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้การดึงดูดการลงทุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตเอสเอสดี ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จะต่อยอดอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลของไทยสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว