posttoday

"กระทรวงดีอี" ดึงพันธมิตรทดสอบ5จี

23 ธันวาคม 2561

“ดีอี” นำพันธมิตร 5จี ทุกภาคส่วนลงพื้นที่อีอีซี สำรวจโครงการ5จี Testbed เพื่อทดสอบเทคโนโลยีในอนาคต

“ดีอี” นำพันธมิตร 5จี ทุกภาคส่วนลงพื้นที่อีอีซี สำรวจโครงการ5จี Testbed เพื่อทดสอบเทคโนโลยีในอนาคต

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงร่วมกับ กสทช.ขับเคลื่อนโครงการ 5จี Testbed ได้นำภาคเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ 5จี รายสำคัญของโลก ได้แก่ หัวเว่ย อีริคสัน โนเกีย และ Dassault Systèmes ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับเทคโนโลยี 3 มิติจากฝรั่งเศส เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ โดยผู้ผลิตอุปกรณ์ทุกรายได้คัดเลือกจุด ที่จะนำอุปกรณ์ของตัวเองเข้ามาติดตั้งสำหรับการทดสอบการใช้งาน 5จี (Use Cases) อาทิ การแพทย์ทางไกล, การผลิตอัฉริยะ(Smart Manufacturing), บัสอัจฉริยะ(Smart Bus) ตลอดจน ยานพาหนะไร้คนขับ(Autonomous Vehicle) เป็นต้น ซึ่งจะทยอยดำเนินการทดสอบตั้งแต่ม.ค. 2562 เป็นต้นไป และเพื่อให้เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบ จึงได้นำผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายหลักของไทย ได้แก่ เอไอเอส , ดีแทร , ทรู , ทีโอที และ แคท พร้อมกับ อินเทล ผู้ผลิตชิปเซ็ตชั้นนำ และ ZTE อีกหนึ่งผู้ผลิตอุปกรณ์ 5จี รายสำคัญ ลงพื้นที่จริงเพื่อการพัฒนาสนามทดสอบ 5G (5G Testbed) สมบูรณ์แบบที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

“กระทรวงดิจิทัลฯ มีบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับการทดสอบการใช้ประโยชน์จาก 5จี ทั้งในเรื่องการจัดเตรียมสถานที่เพื่อเป็นศูนย์ทดสอบ การเป็นผู้รับรองอุปกรณ์ที่จะนำเข้ามาติดตั้งว่าเป็นไปเพื่อกการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถนำอุปกรณ์เข้ามาได้โดยสะดวก ล่าสุด ยังประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้ทำเรื่องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้ใน 5จี Testbed แห่งนี้ จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานจัดสรรคลื่นทดสอบ โดยขอไป 2 ย่านความถี่ ได้แก่ ย่าน 3.5 กิกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ตามที่เอกชนเสนอความต้องการมา”นายพิเชฐ กล่าว

นายพิเชฐ กล่าวเสริมว่า โครงการทดสอบการใช้งาน 5จี เปิดกว้างสำหรับผู้สนใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ระหว่างรอ 5จี ระดับสากลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ซึ่งประกาศมาว่าจะสมบูรณ์ในปี 2563 ดังนั้น จึงตั้งเป้าหมายว่า การจัดตั้งศูนย์ทดสอบนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมเมื่อถึงเวลาการใช้จริงในอนาคต อันจะทำให้เกิดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งสร้างความตื่นตัวให้กับผู้ที่มีความประสงค์จะใช้ประโยชน์อีกด้วย ปัจจุบันเอกชนที่แสดงความสนใจเข้ามาแล้ว แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือกลุ่มการจัดหาและให้บริการ และ 2.ผู้ผลิตอุปกรณ์ ซึ่งก็คือกลุ่มที่จะขายอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งโครงข่ายให้บริการ

ทั้งนี้ 5จี จะมีความเร็วในการรับส่งข้อมูล ดีกว่า 4จี ถึง 20 เท่า มีความล่าช้าของการรับส่งข้อมูลต่ำมาก (Latency time) ดีกว่า 4จี ถึง 10 เท่า ในขณะเดียวกันสามารถรองรับอุปกรณ์สื่อสารได้ถึง 1 ล้านอุปกรณ์ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เมืองอัจฉริยะ และการใช้ชีวิตยุคใหม่ ตลอดจนการช่วยสร้างนวัตกรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน