posttoday

มติกสทช.ไม่เยียวยา"ดีแทค"ชี้ยอดผู้ใช้บริการไม่เข้าเกณฑ์

12 กันยายน 2561

กสทช.มีมติไม่เยียวยา "ดีแทค" กรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 850 ชี้จำนวนผู้ใช้บริการไม่ถึงเกณฑ์

กสทช.มีมติไม่เยียวยา "ดีแทค" กรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 850 ชี้จำนวนผู้ใช้บริการไม่ถึงเกณฑ์

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กสทช.นัดพิเศษเพื่อทบทวนมติที่ประชุมกสทช.เรื่องการเข้าสู่มาตรการเยียวยาเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่า จากจำนวนผู้ใช้บริการคลื่นความถี่ 850 MHz ถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ที่ DTAC สมควรเข้าสู่มาตรการเยียวยา เพราะเป็นจำนวนผู้ใช้บริการที่มีไม่ได้มากจริง ประกอบกับ กสทช.ได้แจ้งให้ทาง DTAC ทำการโอนย้ายลูกค้าไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ จากจำนวนผู้ใช้บริการคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่ DTAC แจ้งล่าสุด พบว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการเหลืออยู่ 94,625 ราย เป็นผู้ใช้บุคคล 60,000 ราย ผู้ใช้ที่ใช้ซิมในอุปกรณ์ 20,000 ราย

"เหตุผลของดีแทคที่เสนอเข้ามาต่อบอร์ด กสทช. ยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะเข้าองค์ประกอบของการเยียวยาผู้บริโภคที่ยังไม่อาจโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้หลังสิ้นสุด คือ 1 ต้องมีผู้ใช้งานคงเหลือเป็นจำนวนมาก 2. กสทช. จัดประมูลไม่ทัน"

"วันนี้บอร์ด กสทช. จึงมีมติด้วยคะแนน 4 ต่อ 2 เสียง ที่เห็นว่า ดีแทคไม่เข้าองค์ประกอบในการเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยจากนี้แจ้งให้ดีแทครีบแจ้งต่อประชาชน และให้โอนย้ายลูกค้าให้เสร็จภายในเที่ยงคืนวันที่ 15 ก.ย. 2561"นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า หลังจากนี้ กสทช.จะทำหนังสือถึง DTAC เพื่อให้แจ้งให้ลูกค้าที่ใช้บริการอยู่โอนย้ายภายในกรอบเวลาสิ้นสุดสัมปทาน แม้การโอนย้ายมีจำนวนการโอนย้ายลูกค้าจำกัดในแต่ละวัน และมีขั้นตอนทางเอกสาร กสทช.ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวขอเพียงให้ผู้ที่ต้องการโอนย้ายมาทำเรื่องเป็นเอกสารไว้แล้ว กสทช.จะช่วยดำเนินการเอง

ส่วนเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่กรณีที่ผู้ชนะการประมูลจะต้องระบบป้องกันการรบกวน และตำแหน่งของคลื่นความถี่ที่ย้ายจากคลื่น 850 MHz ไปใช้คลื่น 900 MHz คณะกรรมการ กสทช.พิจารณาเห็นว่า แม้จะเป็นการผลักภาระให้ผู้ชนะประมูล แต่ กสทช.ได้เข้าไปกำกับดูแลเอง โดยให้หักเงินค่าทำระบบกับ กสทช.ได้ จึงไม่มีเหตุผลที่ DTAC จะไม่เข้าประมูล