posttoday

ยื่นชิง1800วันนี้3ราย

15 พฤษภาคม 2561

ค่ายมือถือ เอไอเอส- ดีแทค-ทรู เข้ารับเอกสารชิงคลื่น 1800 วันนี้ ไอดีซีคาดประมูลแค่ 3 รายเดิม "หมอลี่" ยอมรับส่อขายไม่หมด 3 ใบ

ค่ายมือถือ เอไอเอส- ดีแทค-ทรู เข้ารับเอกสารชิงคลื่น 1800 วันนี้ ไอดีซีคาดประมูลแค่ 3 รายเดิม "หมอลี่" ยอมรับส่อขายไม่หมด 3 ใบ

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันที่ 15 พ.ค.นี้ กสทช.จะเริ่มประกาศเชิญชวนผู้ให้บริการที่สนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ขนาด 15 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต อายุสัญญา 15 ปี เงื่อนไขประมูล N-1 (N = จำนวนผู้เข้าประมูล) เข้ารับเอกสารชี้ชวนการลงทุน (MI) ก่อนการยื่นขอรับใบอนุญาตใน วันที่ 15 มิ.ย. โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ในเครือเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ในเครือทรู ได้แจ้งความจำนงจะเข้ารับเอกสารวันที่ 15 พ.ค.นี้

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่า บริษัทจะเข้าร่วมรับเอกสารชี้ชวนการลงทุนหรือซองประมูลคลื่น 1800 ที่ทาง กสทช.จะจัดขึ้นในวันที่ 15 พ.ค. 2561 เช่นเดียวกัน

ด้าน นายจาริตร์ สิทธุ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการ ไอดีซี ประเทศไทย องค์กรด้านการวิจัยและที่ปรึกษาไอซีที กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้ดีแทคเป็นค่ายที่จำเป็นต้องเข้าร่วมประมูลมากที่สุด เพราะคลื่นความถี่ 1800 กับ 850 จะหมดสัมปทานเดือน ก.ย. 2561 แม้บริษัท เทเลแอกเซส ในเครือดีแทคไตรเน็ต จะลงนามเช่าคลื่น 2300 กับบริษัท ทีโอที ไปแล้ว แต่การมีคลื่นอยู่ในมือเองจะดีกว่าในระยะยาว

ขณะที่เอไอเอสกับทรูจะเข้าประมูล เพราะการมีคลื่นเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์ ปัจจุบันทรูมีคลื่นในมือรวม 55 เมกะเฮิรตซ์ และเอไอเอสมีรวม 45 เมกะเฮิรตซ์ แต่ต้องวัดใจว่าราคาตั้งต้น 37,457 ล้านบาท ต่อ 15 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งสองค่ายจะสู้แค่ไหนถึงไม่กระทบแผนลงทุน จึงมองว่าการประมูลครั้งนี้ไม่น่าจะแข่งขันรุนแรงเท่าครั้งที่ผ่านมา ส่วนรายที่ 4 คงยาก เพราะประชากรใช้โทรศัพท์มือถือมี 121.53 ล้านเลขหมาย ถือว่าอยู่ในภาวะอิ่มตัวแล้ว

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า มีแนวโน้มที่ กสทช.จะขายใบอนุญาต 1800 ในการเปิดประมูลครั้งนี้ 3 ใบ ภายใต้เงื่อนไข N-1 ไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากความต้องการคลื่นความถี่ในตลาดขณะนี้ไม่สูงมาก แต่ราคาตั้งต้นประมูลสูง เนื่องจากยึดตามราคาการประมูลครั้งก่อน ความจูงใจเข้าร่วมประมูลครั้งนี้จึงต่ำ

นอกจากนั้น ในปี 2563-2564 กสทช.เตรียมเปิดประมูลคลื่น 700 ทำให้ความจำเป็นประมูลครั้งนี้น้อยลงไปอีก เพราะผู้ให้บริการสามารถรอคลื่น 700 มาทดแทนได้ ส่วนกรณีที่ดีแทคได้คลื่น 2300 แล้ว ถึงแม้คุณภาพคลื่นรองรับ 4จีได้เหมือน 1800 แต่หากดีแทคต้องการรองรับกลุ่มผู้ใช้งานที่ยังมีมือถือรุ่นเก่าๆ คลื่น 1800 ก็ยังจำเป็น