posttoday

‘แนคแซท’ ดาวเทียมดวงแรกฝีมือคนไทย

28 เมษายน 2561

เร็วๆ นี้ ประเทศไทยกำลังจะมีดาวเทียมดวงใหม่นาม “แนคแซท” (KNACKSAT) ทำหน้าที่ถ่ายภาพโลกของเราโดยเฉพาะ

โดย ชายโย

เร็วๆ นี้ ประเทศไทยกำลังจะมีดาวเทียมดวงใหม่นาม “แนคแซท” (KNACKSAT) ทำหน้าที่ถ่ายภาพโลกของเราโดยเฉพาะ

คำถามคือแล้วน่าตื่นเต้นตรงไหน เพราะประเทศไหนๆ ก็ส่งดาวเทียมขึ้นไปทั้งนั้น แต่สิ่งที่ทำให้ดาวเทียมดวงนี้พิเศษกว่าทุกดวงสำหรับคนไทย ก็เพราะว่าเป็นดาวเทียมดวงแรกที่สร้างโดยฝีมือคนไทยทั้งหมดนั่นเอง

‘แนคแซท’ ดาวเทียมดวงแรกฝีมือคนไทย

ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เล่าถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน ในการสร้างและทดสอบดาวเทียมและพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กนี้ขึ้นมา แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากขาดการทดสอบในสภาวะสุญญากาศ หรือการจำลองสภาพแวดล้อมในอวกาศ

“การเดินเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนั้น ต้องใช้ระบบสุญญากาศในการดำเนินงานทั้งสิ้น ดังนั้น ประสบการณ์กว่า 10 ปีของงานเทคโนโลยีสุญญากาศส่งผลให้เรามีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชน

.ซินโครตรอนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมงานกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการทดสอบประสิทธิภาพของดาวเทียมแนคแซท ดาวเทียมที่เรียกได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ดาวเทียมฝีมือคนไทย 100% ออกแบบและสร้างในประเทศไทย อีกทั้งการทดสอบระบบต่างๆ ก่อนส่งขึ้นสู่วงโคจร ต่างก็ดำเนินงานด้วยคนไทยอีกด้วย”

‘แนคแซท’ ดาวเทียมดวงแรกฝีมือคนไทย

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา หัวหน้าโครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา หรือ KNACKSAT ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า ดาวเทียมดวงนี้มีขนาดเพียง 10x10x10 เซนติเมตร มีน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม จะเป็นดาวเทียมประเภทนาโน แซทเทิลไลท์ (Nano Satellite) เพื่อการศึกษาขนาดเล็ก

“มีความสามารถไม่ต่างจากดาวเทียมขนาดใหญ่ มีภารกิจหลักคือการถ่ายภาพโลกจากอวกาศ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุสมัครเล่นในการสื่อสาร พร้อมจัดส่งเข้าสู่วงโคจรที่ความสูง 600 กิโลเมตร ในช่วงเดือน ส.ค. 2561 ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีสุญญากาศของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล”

แนคแซท ประกอบด้วย ระบบย่อย 6 ระบบ ระบบย่อยโครงสร้าง ระบบย่อยการสื่อสาร ระบบไฟฟ้ากำลังไฟฟ้า ระบบย่อยคำสั่งและการจัดการข้อมูล ระบบย่อยการหาและควบคุมการทรงตัว ระบบย่อยกล้องถ่ายภาพ (หรือเพย์โหลด)

‘แนคแซท’ ดาวเทียมดวงแรกฝีมือคนไทย

ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครของไทยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (The University of Surrey) ประเทศอังกฤษ พัฒนาดาวเทียมไทพัฒ 1 และไทพัฒ 2 ดาวเทียมมีขนาดประมาณ 35×60 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกในปี 2541 แต่ครั้งนี้เป็นการพัฒนาโดยคนไทยทั้งหมด

ปัจจุบันการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก เนื่องจากใช้ต้นทุนการวิจัยพัฒนาที่ต่ำและค่าใช้จ่ายในการขนส่งขึ้นสู่อวกาศมีราคาถูกลง เช่น การใช้บริการจรวดฟอลคอน 9 ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ หรือการใช้บริการจรวดอิเล็กตรอนของบริษัทใหม่ล่าสุดอย่าง ร็อกเก็ตแล็บ ที่มีค่าใช้จ่ายต่อการปล่อยจรวดหนึ่งครั้งประมาณ 4.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 152 ล้านบาท)

ในกระบวนการส่งดาวเทียมขึ้นไปปฏิบัติภารกิจอวกาศนั้น ขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งคือ การทดสอบประสิทธิภาพของดาวเทียมในสภาวะอวกาศจริงหรือที่อุณหภูมิและแรงดันต่างจากพื้นโลก โดยทางคณะผู้วิจัยทราบว่าสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีสุญญากาศเป็นอย่างมาก จึงได้นำดาวเทียมแนคแซทเข้ามาทดสอบประสิทธิภาพ เพื่อดูว่าดาวเทียมทนต่อสภาวะอวกาศจริง

‘แนคแซท’ ดาวเทียมดวงแรกฝีมือคนไทย

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงมวลของดาวเทียมภายใต้อุณภูมิและแรงดัน ซึ่งการทดสอบนี้ไม่เพียงแต่เพื่อดูประสิทธิภาพของดาวเทียมเท่านั้น แต่ยังวิเคราะห์ไปถึงผลของดาวเทียมที่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงมวล จะส่งผลกระทบต่อดาวเทียมดวงอื่นๆ หรือจรวดที่ทำการส่งดาวเทียมนี้ขึ้นไปหรือไม่ โดยการทดลองดำเนินการภายใต้มาตรฐานสากลที่กำหนดขึ้นและผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ และพร้อมที่จะกลายเป็นดาวเทียมดวงแรกจากฝีมือคนไทยที่จะได้ขึ้นสู่อวกาศในเร็วๆ นี้