posttoday

อี-คอมเมิร์ซไทยชนเทศ ใครจะอยู่ ใครจะไป

05 เมษายน 2561

ประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อเดือน มี.ค.ว่า อาลีบาบาเพิ่มเงินลงทุนในลาซาด้ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรุกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น

...iPrice

ประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อเดือน มี.ค.ว่า อาลีบาบาเพิ่มเงินลงทุนในลาซาด้ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรุกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น การลงทุนครั้งนี้จึงชัดเจนแล้วว่า อาลีบาบามองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะขึ้นเป็นแถบประเทศที่สำคัญต่อการเติบโตของบริษัท

บริษัท iPrice บริษัทอี-คอมเมิร์ซใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล็งเห็นการเข้ามารุกตลาดของบริษัท อาลีบาบา ครั้งนี้ จึงได้จัดทำการศึกษาเปรียบเทียบการแข่งขันของบริษัทอี-คอมเมิร์ซสัญชาติไทยชนต่างประเทศขึ้น โดยเก็บข้อมูลทราฟฟิกและโซเชียลมีเดียตั้งแต่เดือน เม.ย.-ธ.ค. 2560 ในการศึกษาที่ชื่อว่า The Map of eCommerce หรือสงครามอี-คอมเมิร์ซ

ผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า ไตรมาส 4 ในปี 2560 ที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยทราฟฟิกของร้านค้าอี-คอมเมิร์ซโตกว่า 70% จากไตรมาส 2 กล่าวคือ ร้านค้าอี-คอมเมิร์ซมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้าชมอย่างรวดเร็วในช่วง 9 เดือน ซึ่งในช่วงปลายปีที่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดัน ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า Chilindo เป็นแบรนด์ อี-คอมเมิร์ซที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากร้านค้าอี-คอมเมิร์ซอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง โดยมุ่งเน้นการขายสินค้าในรูปแบบประมูล โดยผู้บริโภคนั้นสามารถประมูลสินค้าเริ่มต้น เพียง 1 บาท นับเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2560 ที่ผ่านมา โดย ในไตรมาส 2 บริษัทอยู่อันดับที่ 4 มีทราฟฟิกอยู่ที่ 3,056,000 ครั้ง/เดือน ต่อมาไตรมาส 3 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 โดยมีทราฟฟิก 11,916,883 ครั้ง/เดือน และไตรมาส 4 ปี 2560 ขึ้นเป็นอันดับที่สอง รองจากลาซาด้า โดยมีทราฟฟิก 13,484,858 ครั้ง/เดือน

ขณะที่สองยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาจากต่างประเทศอย่างลาซาด้าและช้อปปี้ ก็มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดตลอดมา แต่ถ้าหากพูดถึงช้อปปี้ แม้จะเป็นรอง ลาซาด้าตลอดมา แต่ไตรมาส 4 ก็สามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่งบนแอพสโตร์ที่มียอดดาวน์โหลดแซงหน้าลาซาด้าไปได้ แต่การแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างสองยักษ์ใหญ่นี้คงจะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะในปีนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการขายจากทั้งสองบริษัทที่จะโปรโมทให้บริษัทดังเป็นพลุแตกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นครบรอบวันเกิดของแต่ละบริษัท แคมเปญ 11.11 และ 12.12 เป็นต้น

โซเชียลมีเดียเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทางบริษัทใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแต่ละบริษัทมีกลยุทธ์ในการเลือกช่องทางการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป โดยมีช่องทางหลักๆ คือ เฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปีที่ผ่านมาพบว่า Carnival แบรนด์แฟชั่น ไทยสามารถขึ้นนำแบรนด์เทศในอินสตาแกรม เพราะตรงกับกลยุทธ์การทำตลาดของแบรนด์ Carnival ที่เป็นแบรนด์สตรีท แฟชั่น เน้นการโพสต์ภาพบนอินสตาแกรม และบอกรายละเอียดของสินค้าชัดเจน จึงทำให้ประสบความสำเร็จบนอินสตาแกรม

นอกจากนี้ ยังพบว่าแบรนด์ Karmart ซึ่งเป็นแบรนด์ไทย เลือกใช้ไลน์เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับลูกค้าคนไทย ที่นิยมใช้ไลน์เป็นแอพพลิเคชั่นหลัก จนมีผู้ติดตามในไลน์กว่า 14 ล้านคน ขณะที่ลาซาด้า ที่มาอันดับหนึ่งนั้นมีผู้ติดตาม 20 ล้านคน

ปี 2561 นี้จึงถือเป็นปีที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับตลาดอี-คอมเมิร์ซทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์คงตกไปอยู่ที่ผู้บริโภค จากการมีตัวเลือกมากขึ้นในแง่ของสินค้าและคุณภาพของบริการ