posttoday

พายุดิจิทัล

25 มีนาคม 2561

เมื่อมาถึงยุคดิจิทัล มนุษย์ในวันนี้สามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตติดต่อโลก

เมื่อมาถึงยุคดิจิทัล มนุษย์ในวันนี้สามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตติดต่อโลก ควบคุมกิจกรรมในชีวิตประจำวัน สั่งการงานที่เคยต้องไปเองต้องใช้เวลานาน ให้สำเร็จเพียงแค่นั่งกดหน้าจอออกคำสั่งต่างๆ ในชุดนอนหัวกระเซิงที่บ้านแบบชิลๆ ไม่ต้องแต่งตัวออกจากบ้านให้เปลืองเครื่องสำอางและน้ำมันรถ ปัจจุบันใช้เงินในธนาคารเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

ไม่นานนัก “เงินดิจิทัล” ที่เป็นสกุลเงินเข้ารหัส (Cryptocurrency) ซึ่งอยู่ในกระเป๋าเงินบนฟ้าคงจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับและนิยมให้แลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการได้ทั่วไปในไทย และใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาทั่วโลก จะชำระหนี้ลับสุดยอดหรือโอนเงินให้ใครก็ไม่ต้องมีธนาคารมาเป็นพยานรู้เห็น อยากจะโอนเงินไปซื้อทรัพย์ในประเทศไหนก็ไม่ต้องโอนผ่านธนาคาร สามารถชำระเป็นเงินดิจิทัลได้หากเจ้าของทรัพย์ยอมรับเงินดิจิทัลสกุลนั้น

พายุดิจิทัล

นอกจากกฎระเบียบเคร่งครัดในการโอนเงินออกจากประเทศแล้ว “การเก็งกำไร” ที่คาดหวังผลตอบแทนสูงก็เป็นเหตุให้คนนิยมถือเงินดิจิทัลมากขึ้น เช่น เงินสกุล “บิตคอยน์” ในปัจจุบัน กลุ่มผู้ถือเงินสกุลนี้มากที่สุดได้แก่ ชาวจีนและเกาหลี ที่ผ่านมาความต้องการเงินดิจิทัลของนักลงทุนทั้งสองชาตินี้มีมากจนทำให้เกิดการดึงให้ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์...จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีระเบียบควบคุมการโอนเงินออกนอกประเทศเข้มงวดมาก ดังนั้น การที่ประชาชนถือบิตคอยน์เยอะ และทำเหมืองขุดเงินกันเยอะที่สุดในโลก มีการซื้อขายเก็งกำไร จึงส่งผลกระทบต่อทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ในที่สุดต้องมีการออกระเบียบ แก้กฎหมาย ปิดการขาย เปิดการขาย เป็นเรื่องวุ่นวายของรัฐบาลจีนที่ต้องรับมือกับพายุดิจิทัลตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนเกาหลีมีปัจจัยต่างๆ คล้ายคลึงกัน ทว่า เกาหลียังมีเหตุแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย ... พูดง่ายๆ หากเกิดสงครามขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง ค่าเงินวอนคงแทบจะไม่เหลือเลย ธุรกิจใหญ่น้อย กิจการร้านค้า มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ตายเรียบ ถ้าคุณคิมได้ถือบิตคอยน์ไว้อยู่ แม้ว่าราคาบิตคอยน์จะผันผวนทันทีที่มีการยิงจรวดลูกแรก แต่ก็ยังพอจะตั้งตัวใหม่ได้ด้วยเงินทุนนี้ หรือจะย้ายไปอยู่ประเทศไหนก็ไปได้ด้วยบิตคอยน์นี้ ...

พายุดิจิทัล

ดังนั้น หาก “ทรัมป์” กับ “คิมจองอึน” แห่งเกาหลีเหนือยังทะเลาะกันอยู่ นักลงทุนเกาหลีใต้ก็ยังคงถือบิตคอยน์ไว้เพราะความวิตกกังวลเรื่องสงคราม แต่เมื่อใดที่สองคนนี้เริ่มปรองดองกันได้ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้รวมกันได้ นักลงทุนเกาหลีอาจจะปล่อยบิตคอยน์ขายไปเพราะความจำเป็นในการถือไว้ลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการซื้อขายเงินดิจิทัลในเกาหลีใต้

โดยสรุป ผลกระทบจากพายุดิจิทัลมีมากกว่าที่เห็น ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ด้วยเหตุนี้ ทุกคนควรจะต้องเริ่มทำความรู้จักคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ไว้ เพราะเงินดิจิทัลเป็นเพียงแค่เทคโนโลยี Blockchain 1.0 เท่านั้น ในเร็ววันนี้เทคโนโล ยีBlockchain 2.0 และ 3.0 จะต้องเข้ามามีผลกระทบต่อระบบการเงิน การธนาคาร เศรษฐกิจ สังคม กับวิถีชีวิตของพวกเราอย่างแน่นอน

Blockchain 2.0 และ 3.0 คืออะไร... ที่เรียกว่า 2.0, 3.0 นั้นไม่ใช่การแยกรุ่นและความฉลาดของเทคโนโลยี แต่เป็นการแยกตามกิจกรรมที่มีผลต่อชีวิตมนุษย์

Blockchain 2.0 ได้แก่ การทำสัญญาอัจฉริยะบนฟ้า ฝ่าระบบออนไลน์ได้ทั่วโลก ระบบ Smart Contract จะช่วยให้สามารถทำสัญญาค้าขาย “ทุกอย่าง” จากทุกมุมโลกได้โดยไม่ต้องให้คู่ค้าและทนายความทั้งสองฝ่ายมานั่งเซ็นเป็นพยานต่อหน้ากัน ไม่ต้องมีกระดาษยืนยันสัญญา เท่ากับว่า ตลาดทั่วโลกจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกันในที่สุด ใครอยากจะค้าขายอะไรก็ทำได้ ตลาดใหญ่ขึ้นเพราะมีลูกค้าทั้งโลก ผลประโยชน์มิได้เกิดแก่นายทุนที่มีเงินหนาและโอกาสเจาะตลาดได้มากกว่าแต่เพียงฝ่ายเดียว ทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าถึงทั้งตลาดและแหล่งเงินทุนได้เท่าๆ กัน ... ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องอุดมคติเกินไป แต่ทว่า ทุกวันนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ธนาคารต่างๆ พยายามออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบดิจิทัลมาให้ใช้ บริษัทน้อยใหญ่เล็งเห็นอนาคตอันใกล้ จึงได้เริ่มเปิดให้บริการระบบขนส่งโลจิสติกส์ที่สามารถส่งได้ทั่วโลกเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น

พายุดิจิทัล

และ Blockchain 3.0 นั้น คือ ระบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อประชากรโลก โดยใช้ฐานข้อมูลอภิมหามหึมา ที่เรียกกันว่า Big Data เข้ามารองรับ สิ่งที่จะเห็นในอนาคต คือ ระบบที่รัฐบาลต่างๆ  จะนำมาใช้ในการบริการประชาชน เช่น ในระบบสาธารณสุข ได้แก่ ธนาคารเลือดที่มีฐานข้อมูลของผู้รับและผู้ให้ที่ฝากเลือดกันไว้ในตัวบุคคล ธนาคารเวลาที่ฝากเวลาเพื่อการบริการสาธารณะกันไว้ถึงเวลามาถอนใช้ได้ ระบบประกันสังคมกับระบบบำเหน็จบำนาญที่ต้องขยายขอบเขต และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมกับความจำเป็นมากขึ้น

ปัจจุบันนี้ ระบบเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน หรือ Sharing Economy เป็นที่นิยมและเป็นธุรกิจที่ทำได้จริง โดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัลในการจับคู่ระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ เจ้าของทรัพย์หรือสินค้าสามารถจัดสรรช่วงเวลาเพื่อแบ่งปันสินค้าหรือการบริการนั้นๆ ให้คนอื่นเช่าใช้ ขณะที่ผู้ซื้อก็สามารถเลือกสินค้าหรือการบริการได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อมาเป็นของตนเอง

โชคดีที่ระบบเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน มาพร้อมกับเทคโนโลยีปัจจุบัน จึงได้ตะลุยกฎระเบียบที่รวมอำนาจและผลประโยชน์ไว้ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้ผูกขาดตลาดจนกระเจิงและยอมจำนนในที่สุดมาแล้วหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นของอูเบอร์ ที่ทำให้กลุ่มแท็กซี่หรือรถสัมปทานประท้วงมาในหลายประเทศที่มีการผูกขาดสัมปทานระบบขนส่งสาธารณะ และกีดกันไม่ให้บุคคลอื่นทำได้ หรือธุรกิจแบ่งปันที่พักให้เช่า ได้แก่ AIRBNB ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพียงห้องว่างในบ้าน ไม่ต้องจดทะเบียนเป็นโรงแรม และเจ้าของจะเป็นเพียงหญิงสูงวัยที่ไม่รู้จักการทำธุรกิจเลย ก็ยังสามารถทำรายได้เสริมให้แก่ตนเองได้ ...

(อ่านต่อฉบับหน้า)