posttoday

เสริมพลังงานสีเขียวให้เบ่งบาน สร้างพลังงานพื้นฐาน ให้มั่นคง

23 ธันวาคม 2560

ถ้าอ่านพาดหัวข่าวเพียงเผินๆ จะรู้สึกว่ากระแสโลกเคลื่อนตัวไปสู่แหล่งพลังงาน

ถ้าอ่านพาดหัวข่าวเพียงเผินๆ จะรู้สึกว่ากระแสโลกเคลื่อนตัวไปสู่แหล่งพลังงานสีเขียวเรียบร้อยแล้ว เพราะเวลาที่ผู้เขียนข่าวหวังให้ผู้อ่านร้อง “ว้าว!!!” มักจะต้องใช้คำสั้น กระชับ และแอบเกินความจริงบ้างในบางครั้ง ซึ่งทำให้บางคนหลงเข้าใจผิดไปว่า ประเทศไทยเราก้าวไม่ทันกระแสโลกเพราะเมื่อมีข่าวคราวความคืบหน้าการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ก็จะมีกลุ่มผู้เห็นต่างออกมาให้ข้อมูลว่า บรรดาอารยประเทศต่างยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนกันหมดแล้ว แต่ประเทศไทยกลับเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าที่ก่อมลพิษ! ซึ่งประเด็นนี้ หากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลจะใจเย็นลงสักนิด แล้วเปิดรับข้อมูลรอบด้าน ค่อยๆศึกษาในรายละเอียด จะเข้าใจว่าประเทศไทย ไม่ได้ต้านกระแสโลก แต่เรากำลังเดินตามกระแสโลกต่างหาก เพราะเราวางแผน ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ และสร้างเสถียรภาพโดยใช้แหล่งพลังงานที่หลากหลายมาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งหนึ่งในนั้น คือเชื้อเพลิงถ่านหิน แต่ก็ใช่ว่าประเทศไทยจะมุ่งไปใช้ถ่านหินทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์เสียเมื่อไร เพราะเราก็มีการวิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กันไป

เสริมพลังงานสีเขียวให้เบ่งบาน สร้างพลังงานพื้นฐาน ให้มั่นคง

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ประเทศไทยตั้งเป้าจะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ถึงร้อยละ 15-20 ภายในปี พ.ศ. 2579 แต่การจะพัฒนาไปถึงเป้าหมายนั้นได้ก็ต้องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากร ที่เรามีอยู่ด้วยเช่นกัน ดังที่มีแนวทางกำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ที่ระบุว่า ประเทศไทยพัฒนาพลังงานทดแทนให้สอดคล้องกับศักยภาพและเชื้อเพลิงวัตถุดิบ และความสามารถในการรองรับระบบไฟฟ้าในบ้านเรา อีกทั้งยังต้องมีการจัดลำดับเทคโนโลยี ตามราคาต้นทุน สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ เพราะถึงแม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ทุกคนอยากได้ แต่เทคโนโลยีปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งยังไม่คุ้มค่า
การลงทุนในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น หลายโครงการจึงต้องได้รับการอุดหนุนด้านราคาจากรัฐบาล และอีกหลายโครงการก็ยังต้องวิจัยและพัฒนากันต่อไป ซึ่งรับหน้าที่โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อภารกิจการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศไทย

เสริมพลังงานสีเขียวให้เบ่งบาน สร้างพลังงานพื้นฐาน ให้มั่นคง

รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่า ณ ปี พ.ศ. 2579 ประเทศไทยควรจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 19,000 เมกะวัตต์ โดย 1 ใน 10 ของปริมาณดังกล่าวจะได้มาจากโครงการของ กฟผ. ส่วนที่เหลือก็คาดหวังว่าเอกชนจะร่วมกันพัฒนาไปถึงจุดนั้นได้ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น เทคโนโลยีต่างๆ อาจพัฒนาจนมีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์จนสามารถดึงดูดให้มีเอกชนร่วมลงทุนมากขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด แต่น้อยนักที่จะรู้คือ กฟผ.มีโครงการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอยู่หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ พลังงานไฟฟ้าจากลมพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล รวมถึงพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพและขยะ

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีกำลังผลิตติดตั้ง 500 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบในการแก้ปัญหาสุดคลาสสิกของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ นั่นก็คือเรื่องความผันผวนของแสงแดด โดยใช้คลังแบตเตอรี่ที่กักเก็บพลังงานไว้เข้ามาเป็นตัวช่วย

เสริมพลังงานสีเขียวให้เบ่งบาน สร้างพลังงานพื้นฐาน ให้มั่นคง

ดูเหมือนว่าพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะมีศักยภาพที่สุดแล้วสำหรับประเทศไทย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายปัจจัย โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องการใช้พื้นที่ ซึ่งการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่นั้นต้องเป็นพื้นที่กว้าง ที่เปิดโล่ง และมีแสงแดดสม่ำเสมอทั้งปี (1 เมกะวัตต์ ต้องใช้พื้นที่โล่งกว้างประมาณ 13 ไร่) ดังนั้น จึงมี

โครงการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ.ขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยลดอุณหภูมิบนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังไม่ต้องไปแย่งพื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่ป่าสงวนอีกด้วย

ในส่วนของโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมในบ้านเรานั้น อาจยังมีไม่มาก เพราะต้องลงทุนสูง และต้องใช้เวลาพัฒนาโครงการนาน (ใช้เวลาเก็บข้อมูลและศึกษาศักยภาพของลมไม่ต่ำกว่า 3 ปี) ดังนั้น โครงการที่มีอยู่จึงมักเป็นโครงการนำร่องไปก่อน อย่างเช่น โครงการกังหันลมที่ลำตะคอง จ.นครราชสีมา ซึ่งนอกจากจะผลิตไฟฟ้าจากลมแล้ว ยังมีโครงการพัฒนาต่อยอดให้สามารถกักเก็บพลังงานในรูปของก๊าซไฮโดรเจน เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าในเวลาและกำลังการผลิตที่ต้องการได้อีก

เสริมพลังงานสีเขียวให้เบ่งบาน สร้างพลังงานพื้นฐาน ให้มั่นคง

ด้วยนอกเหนือจากสายลมและแสงแดดแล้วหลายคนก็เชื่อว่า ประเทศไทยเราน่าจะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลได้ เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่เพาะปลูกและมีของเหลือจากขั้นตอนเกษตรกรรม เช่น ฟางข้าว แกลบ  ชานอ้อย
ซังข้าวโพด ใบไม้ ขี้เลื่อย ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ของเหลือเหล่านั้นถูกนำไปสร้างประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มูลค่ามากกว่า และที่สำคัญที่สุดคือ มันไม่มีปริมาณที่เพียงพอ และสม่ำเสมอทั้งปีจึงนำไปสู่แนวคิดของการปลูกพืชพลังงาน เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยเฉพาะ อย่างเช่น โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบของ กฟผ. ที่หวังจะใช้หญ้าเนเปียร์มาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ในปี พ.ศ. 2563 

จากตัวอย่างบางโครงการที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ก็พอจะเห็นภาพว่า ประเทศไทยเราก็ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานโลกอยู่พอสมควรเลยทีเดียว แม้ว่าสัดส่วนตัวเลขการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนของเราในปัจจุบัน จะยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว แต่นั่น เราก็ไม่ได้ละเลยที่จะพัฒนาในส่วนนี้ ดังนั้น ถ้าใครมากล่าวหาว่าประเทศไทยมีแนวคิดการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าที่ล้าหลัง ไม่ทันกระแสโลก เราก็คงค้านได้อย่างเต็มปากว่าเราก็ทำอยู่ แถมทำแบบมองครบทุกมิติให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยอีกด้วย