posttoday

ยักษ์ไอทีโลกผงาด หวั่นผูกขาดภาคธุรกิจ

18 พฤศจิกายน 2560

การขยายขอบเขตธุรกิจของยักษ์ไอทีจนคว้าส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ไปครอง สร้างความกังวลเรื่องการ “กินรวบ” ภาคธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทขนาดเล็กกว่าแข่งขันได้ยากยิ่งขึ้นในอนาคต

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์  

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ การขยายขอบเขตธุรกิจของยักษ์ไอทีจนคว้าส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ไปครองนั้น สร้างความกังวลเรื่องการ “กินรวบ” ภาคธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทขนาดเล็กกว่าแข่งขันได้ยากยิ่งขึ้นในอนาคต

ความรุ่งโรจน์ของบริษัทไอทีสะท้อนออกมาจากมูลค่าตลาด โดยกลุ่ม “บิ๊กไฟว์” ที่ประกอบด้วย แอปเปิ้ล อัลฟาเบท ไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก และอเมซอน มีมูลค่ารวมกันกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 108 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ในดัชนีแนสแด็กของสหรัฐ

สำหรับในธุรกิจค้าปลีกนั้น“อเมซอน” ถือเป็นบริษัทที่สร้างความสั่นสะเทือนในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวมากที่สุด โดยธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของอเมซอน ทำให้บรรดาห้างค้าปลีกแบบเดิมต้องเร่งยกเครื่องกลยุทธ์เพิ่มการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น

เมื่อไตรมาส 3 ที่ผ่านมา อเมซอนทำยอดขายได้ 4.37 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.43 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะปรับขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ชาวอเมริกันนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

บริษัทวิจัย สไลซ์ อินเทลลิเจนส์ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ยอดค้าปลีก 43% มาจากอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งอเมซอนครองตลาดค้าปลีกสหรัฐไปถึง 33% โดยการเข้าซื้อโฮลฟู้ด เชนซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จะยิ่งหนุนให้ยอดขายของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอเมซอนจะมีช่องทางการขายแบบมีหน้าร้านจากเครือข่ายโฮลฟู้ดเพิ่มขึ้น

แม้อเมซอนได้ชื่อว่าเป็นอี-คอมเมิร์ซ แต่บริษัทมีธุรกิจและบริการหลายประเภท เช่น ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง การผลิตฮาร์ดแวร์ ออกแบบแฟชั่น สตูดิโอภาพยนตร์ และธุรกิจอื่นๆ โดยบริษัทบริหารจัดการกองทุน พิตช์บุ๊ก คาดการณ์ว่า อเมซอนซึ่งทำธุรกิจหลากหลายต้องแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่อย่างน้อย 129 แห่ง และจำนวนบริษัทคู่แข่งเพิ่มขึ้น เมื่ออเมซอน ขยายขอบเขตธุรกิจไปในด้านอื่นๆ

ด้าน “เฟซบุ๊ก”บริษัทสื่อโซเชียล มีเดียรายใหญ่ และ “กูเกิล” บริษัทลูกของอัลฟาเบท กำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจโฆษณาออนไลน์อย่างต่อเนื่องจากการที่มีฐานผู้ใช้งานมหาศาลอยู่ในมือ โดยเฟซบุ๊กนั้นมีผู้ใช้รายเดือนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2,070 ล้านราย/เดือนแล้วเมื่อไตรมาส 3 ปี 2017

บริษัทวิจัย อีมาร์เก็ตเตอร์ เปิดเผยว่า รายได้จากโฆษณาออนไลน์ของทั้งสองบริษัทคาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของธุรกิจดังกล่าวทั่วโลก ขณะที่ในสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 60% ซึ่งมากกว่าแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์อื่นๆ ในสหรัฐที่ได้ส่วนแบ่งตลาดไม่เกิน 5%

รอยเตอร์สรายงานว่า การยึดหัวหาดในธุรกิจโฆษณาออนไลน์ของทั้งสองบริษัท ทำให้บรรดาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์รายเล็กกว่าในสหรัฐ ร่วมมือกันผลักดันแคมเปญเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับเฟซบุ๊กและกูเกิล

ขณะที่ในยุโรปนั้น ล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) สั่งปรับกูเกิล วงเงิน 2,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.9 หมื่นล้านบาท) กรณีผูกขาดตลาดจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบหน้าแสดงผลการค้นหาของเสิร์ชเอนจิ้น ให้เน้นแสดงบริการ “กูเกิล ช็อปปิ้ง” ของบริษัทเป็นหลัก จนทำให้กูเกิลต้องประกาศเตรียมแยกกูเกิล ช็อปปิ้ง ออกมาจากธุรกิจเสิร์ชเอนจิ้น และบริหารงานแยกโดยเฉพาะ

สำหรับในฝั่งเอเชีย “อาลีบาบา” และ “เทนเซ็นต์” สองยักษ์ไอทีแดนมังกรทำธุรกิจหลายประเภท โดยอาลีบาบามีเครือข่ายอี-คอมเมิร์ซหลักๆ สองแพลตฟอร์มคือ ทีมอลล์และเถาเป่า อีกทั้งยังมี อาลีเพย์ แพลตฟอร์มรับชำระเงินออนไลน์เว่ยป๋อสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงมีไช่เหนี่ยวที่เป็นเครือข่ายโลจิสติกส์ในมือ ทำให้การทำการตลาดหรือขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าใหม่ๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว

อาลีบาบายังได้ปัจจัยหนุนจากรูปแบบตลาดอี-คอมเมิร์ซจีน โดยผู้ค้าปลีกออนไลน์รายย่อยต่างจำหน่ายสินค้าผ่านทีมอลล์และเถาเป่า ทำให้การขายสินค้าออนไลน์กว่า 75% ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบา ซึ่งอาจจำกัดทางเลือกผู้บริโภค และเพิ่มความยากลำบากให้ธุรกิจค้าปลีกรายย่อยอื่นๆ ที่ต้องการทำแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าแบบอิสระของตัวเอง

ด้านเทนเซ็นต์มีธุรกิจโซเชียลมีเดียที่แข็งแกร่งคือ แอพพลิเคชั่นแชตวีแชต และคิวคิว ซึ่งมีฐานผู้ใช้ราว 2 ใน 3 ของประชากรจีน ขณะที่บริษัทยังมีรายได้มหาศาลจากเกมออนไลน์บนมือถือ โดยรายได้ของเทนเซ็นต์ปรับขึ้น 61% ไปอยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านหยวน (ราว 3.22 แสนล้านบาท) ในไตรมาส 3 ขยายตัวมากที่สุดในรอบ 7 ปี

นิตยสาร นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า นอกจากจะผลักดันธุรกิจของตัวเองแล้ว ทั้งอาลีบาบาและเทนเซ็นต์ยังใช้วิธีซื้อกิจการขนาดเล็กกว่าเพื่อขยายเครือข่ายการดำเนินงาน โดยบริษัทวิจัยข้อมูล ดีโลจิก เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2013 อาลีบาบาทุ่มเงินกว่า 1,720 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.6 หมื่นล้านบาท) ซื้อสตาร์ทอัพขนาดกลางและขนาดเล็กไปอย่างน้อย 50 แห่ง ขณะที่เทนเซ็นต์ใช้เงินซื้อกิจการไปอย่างน้อย 780 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท) ในช่วงดังกล่าว

“อิทธิพลของสองบริษัทกำลังกลายเป็นข้อจำกัด ซึ่งนั่นไม่เป็นผลดีนัก” ไคเฟิง ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการลงทุน ไชน่า เรอเนสซองซ์ ในจีนกล่าว พร้อมเสริมว่า อำนาจผูกขาดตลาดดังกล่าวจะบั่นทอนการแข่งขันทางธุรกิจและสกัดการสร้างนวัตกรรมในจีนในที่สุด