posttoday

ผู้ผลิตชิปรายใหญ่สหรัฐ เล็งซื้อ"ควอลคอมม์" คาดมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

05 พฤศจิกายน 2560

บรอดคอมเตรียมซื้อควอลคอมม์กว่า 3 ล้านล้าน ปูทางขึ้นแท่นบริษัทชิปเบอร์ 3 ของโลก

บรอดคอมเตรียมซื้อควอลคอมม์กว่า 3 ล้านล้าน ปูทางขึ้นแท่นบริษัทชิปเบอร์ 3 ของโลก

บลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวเกี่ยวข้องว่า บรอดคอมบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐและหนึ่งในซัพพลายเออร์ของแอปเปิ้ล อิงค์ จะเสนอซื้อกิจการควอลคอมม์ บริษัทผลิตชิปใหญ่อีกรายในประเทศ โดยข้อเสนอดังกล่าวคาดว่ามีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) และอาจกลายเป็นการซื้อกิจการมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในภาคธุรกิจเทคโนโลยี

รายงานระบุว่า บรอดคอมเตรียมเสนอซื้อหุ้นควอลคอมม์ที่ 70-80 ดอลลาร์/หุ้น สูงกว่าราคาหุ้นบริษัทในปัจจุบันที่ 61.81 ดอลลาร์/หุ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยรอยเตอร์สรายงานว่าบรอดคอมจะยื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อควอลคอมม์ในวันที่ 6 พ.ย.

บลูมเบิร์กเสริมว่า การซื้อธุรกิจควอลคอมม์จะส่งผลให้บรอดคอมมีมูลค่าตลาดทั้งหมดประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 6.6 ล้านล้านบาท) และกลายเป็นธุรกิจชิปรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองจากบริษัท อินเทล คอร์ป และบริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ โดยขณะนี้บรอดคอมและควอลคอมม์เป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 และอันดับ 6

“ข้อตกลงดังกล่าวถือว่าสมเหตุสมผล โดยบรอดคอมจะมีรายได้เพิ่มอีกประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 9.9 แสนล้านบาท)” โรมิต ชาห์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย อินสติเน็ต กล่าว

ทั้งนี้ ข่าวการเสนอซื้อกิจการดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ควอลคอมม์กำลังมีคดีฟ้องร้องกับแอปเปิ้ลกรณีปัญหาเรื่องสิทธิบัตร ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งตลอดช่วงที่ผ่านมา และส่งกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท จนทำให้ก่อนหน้านี้หุ้นควอลคอมม์ร่วงลงแล้ว 20% ในปีนี้

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดยังมีขึ้นหลังบรอดคอมประกาศย้ายสำนักงานใหญ่จากสิงคโปร์กลับมายังสหรัฐเมื่อวันที่ 2 พ.ย. เนื่องจากบริษัทมองว่าข้อเสนอปฏิรูปภาษีของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์ ซึ่งจะลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 20% จะเป็นผลดีต่อธุรกิจ

นอกจากนี้ รายงานระบุว่า การย้ายสำนักงานใหญ่กลับมาสหรัฐจะส่งผลให้การเสนอซื้อกิจการดำเนินการได้ง่ายขึ้น เนื่องจากบรอดคอมไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมาธิการกำกับดูแลการลงทุนจากต่างประเทศ (ซีเอฟไอยูเอส) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบธุรกิจในต่างชาติที่ต้องการซื้อธุรกิจสหรัฐ

ขณะที่ ร็อบ ไลน์แบค นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย ไอซี อินไซต์ เปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า ความวิตกกรณีการผูกขาดตลาดคาดว่าไม่ส่งผลสำคัญต่อข้อตกลงซื้อธุรกิจดังกล่าว โดยนอกจากธุรกิจระบบไว-ไฟเราเตอร์ อุปกรณ์บลูทูธและเซมิคอนดักเตอร์บางประเภทแล้ว ขอบเขตธุรกิจส่วนใหญ่ของทั้งสองบริษัทค่อนข้างแตกต่างกัน และยังต้องให้ซัพพลายเออร์ขนาดเล็กกว่าผลิตสินค้าให้