posttoday

แซดทีอีแนะไทยจัดคลื่นสู่5จี

04 พฤศจิกายน 2560

แซดทีอีหวังเป็นผู้นำในตลาด 5จี จับมือคู่ค้าเสริมบริการลงตลาด มองไทยคลื่นไม่ตรงจุดและน้อยไป เร่งปรับผลิตภัณฑ์รองรับ

แซดทีอีหวังเป็นผู้นำในตลาด 5จี จับมือคู่ค้าเสริมบริการลงตลาด มองไทยคลื่นไม่ตรงจุดและน้อยไป เร่งปรับผลิตภัณฑ์รองรับ

นายจื้อหมิง หาน ประธานกรรมการ บริษัท แซดทีอี (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีของประชาชน ทำให้บริษัทเร่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ 5จี เพื่อรองรับการใช้งานอุปกรณ์ไอโอที แอพพลิเคชั่นและการทำงานต่างๆ ด้วยดิจิทัลแก่คู่ค้า

ทั้งนี้ บริษัทมีความร่วมมือด้าน 3จี และ 4จี กับเอไอเอส ทีโอทีและทรู พร้อมทั้งกำลังจะเปิดตัวบริการใหม่ร่วมกับเอไอเอสในการใช้งาน 5จี ซึ่งแซดทีอีไม่ได้มีต้นทุนในการดำเนินงาน เพราะโอเปอเรเตอร์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด เพื่อให้ลูกค้าเครือข่ายสามารถใช้บริการต่างๆ ได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ เรื่องของคลื่นความถี่ที่เหมาะสมนั้น ต้องยอมรับว่าแต่ละประเทศจะมีการเลือกใช้คลื่นที่แตกต่างกัน เช่น ในบางประเทศจะเลือกใช้คลื่นความถี่สูงในการให้บริการ บางประเทศเลือกคลื่นระดับกลาง ส่วนในไทยนั้นทางคู่ค้าเลือกใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ในการพัฒนาบริการ

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่าคลื่นที่ใช้งานนี้เหมาะสมหรือไม่ แต่บริษัทต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้รองรับการใช้คลื่น 800-900 เมกะเฮิรตซ์ เพราะเป็นคลื่นที่มีโอเปอ เรเตอร์บางรายมีอยู่ในมือ และจะใช้พัฒนาบริการ 5จี ในอนาคต ซึ่งสิ่งแรกที่ไทยควรมีคือ มีจำนวนคลื่นในมือมากพอจะรองรับการใช้งานของผู้บริโภค

นายจื้อหมิง กล่าวว่า บริษัทได้นำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโซลูชั่นสำหรับ 5จี มานำเสนอแก่ภาคธุรกิจ ในรูปแบบของ สมอลล์เซลล์ที่รองรับ Massive MIMO หรือการรับส่งคลื่นหลายชุดพร้อมๆ กันให้กับทางเอไอเอส ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงทดลอง คาดว่าปีหน้าจะเปิดให้บริการได้อย่างเป็นทางการ

ด้านความต้องการใช้งาน 5จี ที่หลากหลายนั้น สิ่งสำคัญที่โอเปอเรเตอร์ควรมีเป็นอันดับแรกคือ แบนด์วิดท์ที่มีขนาดใหญ่มาก เลเทนซี่ที่ต่ำมาก และเน็ตเวิร์กที่แยกออกจากบริการอื่นๆ เพราะการรับส่งข้อมูลทั่วไปของเครือข่ายกับอุปกรณ์ไอโอทีนั้น จำเป็นต้องแยกคลื่นกัน เพื่อลดปัญหาในการรับส่งข้อมูลและป้องกันการสั่งงานผิดพลาด

สำหรับปี 2563 ที่คาดจะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อกันได้ 3,000 ล้านชิ้นนั้น ทำให้การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งโลกเวอร์ชวลและจริงจะเชื่อมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

"ในการเชื่อมโยงดังกล่าวจะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ สภาพแวดล้อมในเมืองที่พร้อม การลงทุนของภาคอุตสาหกรรม และการใช้งานของบุคคล โดยไอโอทีมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยเหล่านี้เกือบพร้อมแล้ว เหลือแค่วางรากฐานและนำมาใช้งานจริง" นายจื้อหมิง กล่าว

ภาพประกอบข่าว