posttoday

นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น5แบบ ที่องค์กรควรจะมีในปี 2016

25 พฤษภาคม 2558

รูปแบบการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแบบใหม่ต่างหากที่จะมาช่วยตอบโจทย์ทางธุรกิจได้เร็ว และความต้องการของตลาดได้

โดย...พงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ

สิ่งที่ขาดไม่ได้ สำหรับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นในองค์กร คือนักพัฒนาที่มีความสามารถที่หลากหลายและเข้าใจระบบขององค์กร ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้กระนั้นก็ตามเทคโนโลยีก็ไม่ได้ทำให้การสื่อสาร หรือข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนไปแต่อย่างใด แต่เป็นรูปแบบการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแบบใหม่ต่างหากที่จะมาช่วยตอบโจทย์ทางธุรกิจได้เร็ว และความต้องการของตลาดได้ ซึ่งจะสามารถพบได้จากนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นทั้ง 5 แบบนี้ได้

Mobile Application

นักพัฒนา Mobile Application เป็นหนึ่งในคนที่องค์กรควรจะมีไว้ เนื่องจากความต้องการและช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าในปัจจุบันนี้หันมาทาง Mobile กันแทบจะทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่าช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าผ่าน Mobile นั้นมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ และหากองค์กรคาดหวังว่ามีเพียงแค่ Web Site แค่ช่องทางเดียวก็เพียงพอแล้วนั้น ถือว่าเป็นการคิดที่ผิดอย่างมหันต์

BIG Data

มีคำกล่าวว่า องค์กรไหนสามารถใช้งานข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลในอินเทอร์เน็ตได้ จะถือว่าได้เปรียบทางธุรกิจทันที ซึ่ง Big Data ถือว่าเป็นคำตอบสำหรับวันนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต จำเป็นจะต้องมีนักพัฒนาที่เข้าใจข้อมูลเชิงธุรกิจ และระบบสารสนเทศในคนเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากพอดูสำหรับองค์กรในการหาคนเหล่านี้ โดยกระแสความต้องการนักพัฒนาในสายงาน Big Data ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 100% ในปีที่แล้ว

Cloud

Cloud ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหารายได้ และเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของนักพัฒนา เช่นเดียวกันกับองค์กรต่างๆ ที่เริ่มหันไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ บน Cloud มากขึ้น และช่องทางในการจ้างนักพัฒนาใน Cloud ก็จะถูกลดข้อจำกัดลง ซึ่งองค์กรเองสามารถว่าจ้างนักพัฒนาที่มีความสามารถสูง หรืออยู่ต่างประเทศ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการมาทำงานของพนักงาน เพื่อให้ได้ระบบที่ตอบโจทย์

DevOps

ปัญหาที่มักจะเจอกับทีมพัฒนาแอพพลิเคชั่นในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ คือ เรื่องการสื่อสารกับคนในองค์กรหรือลูกค้า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้การพัฒนาแอพพลิเคชั่นลำบาก เพื่อเป็นการปิดช่องว่างเหล่านั้น นักพัฒนารุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นนักพัฒนา (Developer) ที่จัดการเรื่องการดำเนินงานต่างๆ (Operation) ในองค์กรของตัวเองและลูกค้าได้ ซึ่งการที่นักพัฒนามีความสามารถทั้งสองด้าน จะทำให้การประสานงานระหว่างหน่วยงาน และการสื่อสารระหว่างทีมงาน จบลงที่คนคนเดียวได้ ทำให้งานส่งมอบได้เร็วขึ้น

UI Engineer

ไม่ใช่นักพัฒนาทุกคนที่จะออกแบบแอพพลิเคชั่นได้สวยงาม ส่วนใหญ่ความสวยงามจะยกให้ Graphic Designer ในทางกลับกัน Graphic Designer ก็ไม่เข้าใจรูปแบบการเขียนแอพพลิเคชั่น ดังนั้น UI Engineer จะเป็นลูกผสมระหว่างทั้งสองด้าน ซึ่งการพัฒนาแอพองค์กร หากตอบโจทย์ได้และสวยงามด้วยก็จะดี