ผลประชุมคอนเคลฟรอบแรก ยังไม่ได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่
ควันดำลอยจากโบสถ์น้อยซิสทีน สะท้อนว่าบรรดาพระคาร์ดินัลยังไม่สามารถเลือก “พระสันตะปาปา” พระองค์ใหม่ ในการประชุมคอนเคลฟรอบแรก
เมื่อเวลาเที่ยงคืนที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย ควันดำได้ลอยขึ้นจากปล่องไฟบนหลังคา โบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) สัญญาณสำคัญว่า การลงคะแนนเสียงรอบแรกในการเลือก พระสันตะปาปาองค์ใหม่ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
ควันดำนี้เป็นผลจากบัตรลงคะแนนที่ถูกเผาร่วมกับสารเคมีพิเศษ ตามธรรมเนียมของ การประชุมลับ(Conclave) ที่มีขึ้นในหมู่พระคาร์ดินัล เพื่อเลือกผู้นำสูงสุดของ ศาสนจักรโรมันคาทอลิก แทนที่ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนที่แล้ว
แม้หลายฝ่ายจะไม่ได้คาดหวังว่าการลงคะแนนรอบแรกจะได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่ในทันที เพราะในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่การเห็นควันดำครั้งนี้ ก็ยังคงทำให้ ชาวคริสต์หลายพันคนที่เฝ้ารออยู่ที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ ต้องรอคอยต่อไป
พระคาร์ดินัล 133 รูป เตรียมลงคะแนนรอบใหม่
พระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนถึง 133 รูปจาก 70 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 115 รูปในปี 2013 สะท้อนความพยายามของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในการกระจายอำนาจและเปิดกว้างทางภูมิศาสตร์
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับเลือกต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 หรือ 89 เสียง โดยรอบต่อไปจะมีการลงคะแนน วันละ 4 รอบ แบ่งเป็นเช้า 2 รอบ และบ่ายอีก 2 รอบ จนกว่าจะมีพระสันตะปาปาองค์ใหม่
คืนนี้ พระคาร์ดินัลจะพักอยู่ในบ้านพักรับรองของวาติกัน เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ ก่อนกลับเข้าสู่การลงคะแนนรอบใหม่ในวันรุ่งขึ้น
ชื่อ “พระสันตะปาปาองค์ใหม่” ยังไม่ชัดเจน
แม้ยังไม่มีตัวเต็งที่โดดเด่นชัดเจน แต่สองชื่อที่ได้รับการจับตามากที่สุดคือ คาร์ดินัลปิเอโตร ปาโรลิน (อิตาลี) และ คาร์ดินัลหลุยส์ อันโตนิโอ ตักเล (ฟิลิปปินส์) หากทั้งสองไม่สามารถรวบรวมคะแนนได้เพียงพอ ก็อาจเกิด “การรวมกลุ่ม” รอบชื่ออื่นที่อาจมีความใกล้เคียงกันทางภูมิภาค หรือแนวคิดศาสนา
รายชื่ออื่นที่ถูกกล่าวถึง ได้แก่ คาร์ดินัลฌอง-มาร์ก อาเวอลีน (ฝรั่งเศส), ปีเตอร์ แอร์โด (ฮังการี), โรเบิร์ต พรีโวสต์ (สหรัฐฯ) และ ปิแอร์บัตติสตา พิซซาบัลลา (อิตาลี)
ความท้าทายของพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่
การเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ครั้งนี้จะบ่งบอกแนวทางของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิค ว่าจะเดินหน้าต่อจากแนวทาง “เปิดกว้างและปฏิรูป” ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือจะหันกลับไปสู่รูปแบบดั้งเดิม
พระคาร์ดินัลบางรูปเรียกร้องให้มีพระสันตะปาปาที่ “ประนีประนอมและมีความมั่นคง” ขณะที่บางฝ่ายเชื่อว่า ควรมีการเคารพในความหลากหลายภายในศาสนจักร และไม่มอง “เอกภาพ” ว่าคือความเหมือนกันทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษ์นิยมบางส่วนเคยวิจารณ์ฟรานซิสว่า เปิดกว้างเกินไปต่อชุมชน LGBT และมุสลิม รวมถึงแนวคิดให้ผู้หย่าร้างสามารถรับศีลมหาสนิทได้