posttoday

วาติกันเผย กลุ่มคนข้ามเพศร่วมพิธีศีลล้างบาปได้

10 พฤศจิกายน 2566

สภาหลักคำสอนแห่งวาติกันเผย กลุ่มคนข้ามเพศสามารถร่วมในพิธีศีลล้างบาป หรือ พิธีบัพติศมา ซึ่งเป็นพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิก รวมถึงสามารถเข้าร่วมเป็นพยานในงานแต่งของชาวคาทอลิกได้

บิชอป Jose Negri แห่ง Santo Amaro ประเทศบราซิลได้ตั้งคำถาม 6 ข้อ เกี่ยวกับสิทธิของชุมชน LGBT ในการมีส่วนร่วมในพิธีศีลล้างบาป หรือ พิธีบัพติศมา ซึ่งเป็นพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนและพิธีรับศีลแต่งงาน ขณะที่คำตอบซึ่งได้รับการลงนามโดยพระคาร์ดินัล Víctor Manuel Fernández และได้รับอนุมัติจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ระบุว่า

สมณกระทรวงแห่งพระสัจธรรม (the Dicastery of the Doctrine of the Faith) ซึ่งเป็นสภาหลักคำสอนของวาติกัน อนุญาตให้กลุ่มคนข้ามเพศสามารถเข้าพิธีดังกล่าวได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ และไม่ก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวต่อสาธารณะ หรือสร้างความสับสนต่อผู้มีจิตศรัทธา

นอกจากนี้ คู่รักเพศเดียวกันยังสามารถเข้าร่วมเป็นพยานในงานแต่งของชาวคาทอลิกได้ เนื่องจากกฎบัญญัติของศาสนจักรในปัจจุบันยังไม่มีข้อห้ามใดๆ รวมถึงสามารถเข้าพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชน หรือ พิธีบัพติศมาได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบาทหลวง ทั้งนี้บาทหลวงควรใช้ความรอบคอบในการพิจารณา

คุณพ่อ James Martin บาทหลวงคนสำคัญของนิกายเยซูอิตและเป็นผู้สนับสนุนสิทธิ LGBT ในคริสตจักรให้ความเห็นผ่านแพลตฟอร์ม X (เดิม Twitter) ว่า “ความเคลื่อนไหวนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของคริสตจักร ที่ไม่ได้มองกลุ่มคนข้ามเพศในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น แต่ยอมรับพวกเขาในฐานะชาวคาทอลิก จากเดิมที่คนในคริสตจักรมองว่ากลุ่ม LGBT ไม่มีตัวตนอยู่จริง ”

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสวัย 86 ปี พยายามทำให้คริสตจักรเปิดรับชุมชน LGBT มากขึ้นโดยไม่เปลี่ยนหลักคำสอนของศาสนจักร เช่นพระองค์เคยตรัสว่า ตามคำสอนของศาสนจักร การรักเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องผิด แต่พฤติกรรมรักร่วมเพศต่างหากที่เป็นสิ่งผิดบาป

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้พบกับกลุ่มคนข้ามเพศในเดือนกรกฎาคมและกล่าวว่า แม้เราจะเป็นคนบาป แต่พระเจ้ายังอยู่ใกล้ชิดเราเพื่อช่วยเหลือเสมอ พระองค์ทรงรักเราในแบบที่เราเป็น นี่คือความรักอันล้นหลามของท่าน

อย่างไรก็ตาม สำหรับคำตอบในประเด็นที่ว่า คู่รักเพศเดียวกันสามารถให้บุตรบุญธรรมหรือบุตรที่เกิดจากการอุ้มบุญร่วมพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชน หรือ พิธีบัพติศมาได้หรือไม่ ยังมีความคลุมเครือ โดยระบุว่า บุตรของคู่รักเพศเดียวกันที่จะเข้าร่วมพิธีบัพติศมาได้ต้องมี "ความหวังอันแน่วแน่ว่าจะรับคำสอนภายใต้นิกายคาทอลิก"

ขณะที่ เมื่อถามว่า คู่รักเพศเดียวกันสามารถเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ในพิธีบัพติศมาได้หรือไม่ คำตอบระบุเพียงว่าบุคคลนั้นต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความศรัทธา