posttoday

อังกฤษชะลอเป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอนแบบค่อยเป็นค่อยไป

21 กันยายน 2566

Rishi Sunak นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เล็งชะลอเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านด้านยานพาหนะและพลังงาน เพื่อช่วยประชาชนให้บรรลุเป้าหมาย Net-Zero แบบค่อยเป็นค่อยไป

Sunak กล่าวว่าสหราชอาณาจักรยังคงมุ่งมั่นที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ (net zero) ให้ได้ภายในปี 2050 และจะไม่ลดเป้าหมายต่อการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ

สำหรับภาคส่วนที่สร้างมลพิษอันดับต้นๆ ของสหราชอาณาจักร มีดังนี้ และการประกาศจาก นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนเหล่านี้อย่างไรบ้าง

ภาคการขนส่ง

ภาคการขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสาม (34%) ของสหราชอาณาจักร มากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่นๆ

จากเดิมสหราชอาณาจักรเล็งสั่งแบนรถยนต์สันดาปในปี 2030 แต่ประกาศล่าสุดจาก Sunak ส่งผลให้มาตรการดังกล่าวจะเลื่อนการบังคับใช้ไปในปี 2035

ตามรายงานของหน่วยงานการค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ในเดือนเมษายน ในสหราชอาณาจักรมีผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1.1 ล้านคัน ซึ่งถือว่า เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ขณะที่คณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเมินว่าหากประเทศเลิกใช้รถยนต์สันดาปภายในได้ภายในปี 2030 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงมากถึง 110 ล้านตัน

การเปลี่ยนผ่า่นด้านยานพาหนะอยู่ภายใต้การควบคุมของข้อบังคับ ZEV ซึ่งผู้ผลิตต้องรับรองว่า เมื่อเวลาผ่านไป สัดส่วนรถยนต์ที่พวกเขาขายในสหราชอาณาจักรจะเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

ข้อเสนอปัจจุบันคือในปี 2024 สัดส่วนการขายรถยนต์ไฟฟ้าต้องอยู่ที่ 22% และให้เพิ่มการผลิตขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปีจนกระทั่งเป็น 100% ในปี 2035 

ทั้งนี้ Sunak ชี้ว่ามาตรการควบคุมจำนวนผู้โดยสารบนยานพาหนะจะถูกยกเลิกไป

ภาคครัวเรือน

การปล่อยก๊าซจากภาคครัวเรือนคิดเป็น 17% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดทั่วสหราชอาณาจักร

รัฐบาลมีเป้าหมายลดการใช้พลังงานในอาคารและอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรลง 15% ให้ได้ภายในปี 2030 โดยเปลี่ยนวิธีการทำความร้อนในบ้าน จากเดิมที่ครัวเรือนกว่า 80% ใช้แก๊สในการสร้างความอบอุ่น เนื่องจากมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักในการทำความร้อน

อย่างไรก็ตาม Sunak ระบุว่า ประชาชนจะยังมีเวลาในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพราะรัฐบาลจะชะลอการออกคำสั่งยกเลิกระบบทำความร้อนด้วยแก๊สไปจนถึงปี 2035 จากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2026 ทั้งนี้ภาครัฐเล็งติดตั้งฮีทปั๊ม (Heat Pump) ในครัวเรือนแทนการใช้แก๊สในการสร้างความร้อน และตั้งเป้าไว้ว่าจะติดตั้งฮีทปั๊มให้ได้ 6 แสนตัวภายในปี 2028
 

พลังงาน

ภาคพลังงานมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดในสหราชอาณาจักร

ในเดือนกรกฎาคม สหราชอาณาจักรมุ่งมั่นที่จะให้ใบอนุญาตหลายร้อยฉบับสำหรับการสกัดน้ำมันและก๊าซในทะเลเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเพิ่มอิสระทางพลังงาน

อย่างไรก็ตาม Sunak กล่าวว่า เขาจะไม่ห้ามการสกัดน้ำมันและก๊าซในทะเลเหนือ แต่รัฐบาลจะนำเสนอแผนใหม่สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในเร็วๆ นี้ เพื่อปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าของสหราชอาณาจักร 

ผู้พัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งได้ออกโรงเตือนว่า เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของสหราชอาณาจักรอาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้น หลังการประมูลเงินอุดหนุนสำหรับโครงการพลังงานทดแทนใหม่ล้มเหลว

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรตั้งเป้าที่จะพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งให้ได้ 50 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2030 ขณะที่ในปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 14 กิกะวัตต์  (GW)