posttoday

ชะตากรรมรมว.ต่างประเทศ และกลาโหมของจีนยังคลุมเครือ

18 กันยายน 2566

การหายตัวไปของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดในคณะผู้บริหารระดับสูงของประเทศ กำลังกระตุ้นให้เกิดความสงสัยต่อความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปกครองของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

นักการทูตและนักวิเคราะห์กล่าวว่า ความคาดเดาไม่ได้ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศอื่นๆ ในการเป็นผู้นำของจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

 รัฐมนตรีกลาโหม หลี่ ชางฟู่ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการประชุมใดๆ  นับตั้งแต่เขาถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ขณะกำลังอยู่ระหว่างการถูกสอบสวนการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างทางทหาร 

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ฉิน กัง ก็หายตัวไปโดยไม่มีคำอธิบายใดๆ ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นเดือนเดียวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของในกองกำลังจรวดของกองทัพ ซึ่งดูแลคลังแสงนิวเคลียร์ของจีน

ในขณะที่ประธานาธิบดี สี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของจีน ก็มุ่งความสนใจไปที่ปัญหาภายในประเทศมากขึ้น เขาได้สร้างความกังวลในหมู่นักการทูตต่างประเทศในเดือนนี้ ด้วยการไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ในอินเดีย นับเป็นครั้งแรกที่เขาละเว้นการประชุมผู้นำระดับโลกในช่วงสิบปีที่ครองอำนาจ

เมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น นักการทูตและนักวิเคราะห์บางคนเรียกร้องให้มีการพิจารณาอย่างจริงจัง ถึงลักษณะที่แท้จริงของระบอบการปกครองของสี

ดรูว์ ทอมป์สัน อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า

“จำเป็นต้องมีการประเมินให้ชัดเจน นี่ไม่ใช่แค่คำถามว่าจีนเป็นหุ้นส่วนหรือคู่แข่งเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร” 

เนื่องจากไม่มีความโปร่งใสเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง คำอธิบายต่างๆ จึงเป็นไปได้ "และสิ่งนี้ทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นที่กำลังก่อตัวไปทั่วประเทศจีน" ทอมป์สันกล่าว

เกี่ยวกับการหายตัวไปและการสืบสวนของรัฐมนตรีกลาโหม  โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ว่าเธอไม่ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าว 

นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนมีนาคม รัฐมนตรีกลาโหมหลี่ ก็แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชน เกี่ยวกับการขยายบทบาททางการทหารของจีนหลายครั้ง โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในระหว่างการประชุมความมั่นคงในเดือนมิถุนายน และการเยือนรัสเซียและเบลารุสในเดือนสิงหาคม

เขาได้รับการคาดหวังให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศในกรุงปักกิ่งในเดือนตุลาคม และเป็นตัวแทนของกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ในการประชุมของผู้นำด้านกลาโหมระดับภูมิภาคในกรุงจาการ์ตาในเดือนพฤศจิกายน

เนื่องจากคอร์รัปชันแพร่ระบาดอยู่ในสถาบันทางการทหารและของรัฐของจีนมายาวนาน นักวิเคราะห์และนักการทูตบางคนเชื่อว่านโยบายการปราบปรามการรับสินบนของสี ถือเป็นการกวาดล้างทางการเมืองทั่วทั้งพรรคคอมมิวนิสต์

เฮเลนา เลการ์ดา หัวหน้านักวิเคราะห์ของสถาบัน Mercator Institute for China Studies ในกรุงเบอร์ลิน กล่าวว่า

“ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ความรู้สึกที่ว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติในการมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ชาวจีน” 

การเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันของหลี่ ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับความเร็ว และการควบคุมกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เลือกมา

“ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและคลุมเครือ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ก็คือความใกล้ชิดไม่เท่ากับการอุปถัมภ์ในโลกของสี” อเล็กซานเดอร์ นีลล์ นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยในสิงคโปร์ ผู้ช่วยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแปซิฟิกฟอรัมแห่งฮาวาย กล่าว

แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่รัฐมนตรีกลาโหมก็ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง 7 คนของสี และเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาแห่งรัฐหรือ โปลิตบูโร 5 คนของจีน ซึ่งเป็นตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่มีตำแหน่งเหนือกว่ารัฐมนตรีประจำ นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเขามีความใกล้ชิดกับนายพล Zhang Youxia ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ใน PLA

หลี่ ซึ่งถูกวอชิงตันคว่ำบาตรในปี 2561 ฐานทำข้อตกลงด้านอาวุธกับรัสเซีย เลี่ยงการประชุมกับลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในการประชุมความมั่นคงแชงกรี-ลา ไดอะล็อก ของสิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งการจับมือกันถือเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้เคียงที่สุดระหว่างทั้งสองคน

ออสตินและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนอื่นๆ กระตือรือร้นที่จะกลับมาพูดคุยระดับสูงระหว่างความตึงเครียดในภูมิภาคของกองทัพทั้งสอง แต่ปักกิ่งโต้แย้งว่าต้องการให้วอชิงตันแสดงความสนใจน้อยลงในเอเชียแปซิฟิก

ทูตระดับภูมิภาคกล่าวว่าการทูตทางการทหารของจีนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ แต่ยังรวมไปถึงมหาอำนาจอื่นๆ ด้วย ในขณะที่จีนส่งกองกำลังแสดงแสนยานุภาพมากขึ้นรอบๆ ไต้หวัน รวมถึงในพื้นที่พิพาทบริเวณทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

หากชะตากรรมของหลี่ “สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งความสนใจภายในมากขึ้นของสี ก็ไม่ดีสำหรับพวกเราที่ต้องการความเปิดกว้างและช่องทางการติดต่อสื่อสารกับกองทัพจีนมากขึ้น” นักการทูตเอเชียคนหนึ่งกล่าว

เนื่องจาก PLA มีการซ้อมรบทางทหารกับกองกำลังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในปีนี้ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ "กระตุ้นการคาดเดา และความกังวลเกี่ยวกับความต่อเนื่องของนโยบาย" จา เอียน ชอง นักวิทยาศาสตร์ทางการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว

“การเปลี่ยนแปลงของกองทัพในเวลานี้มีแนวโน้มที่จะดึงดูดความสนใจ เมื่อพิจารณาจากกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นของ PLA ใกล้ไต้หวันและทะเลจีนตะวันออก เช่นเดียวกับกิจกรรมทหารกึ่งทหารที่ก้าวขึ้นมาในทะเลจีนใต้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิด ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเกิดอุบัติเหตุ ความรุนแรง และวิกฤตการณ์” จงกล่าว