posttoday

คาดวัคซีนชนิดใหม่สามารถป้องกันโรคเอ็มเอสและมะเร็งได้

06 กันยายน 2566

เทคโนโลยีวัคซีนได้รับการพัฒนาก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง โรคที่เคยคิดว่าไม่มีทางรักษาเริ่มมีการผลิตวัคซีนไม่ขาดสาย ล่าสุดแม้แต่ โรคเอ็มเอส หรือ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ยังเริ่มมีการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันขึ้นมาแล้วเช่นกัน

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ถือเป็นฝันร้ายของหลายคน ผลกระทบจากเหตุการณ์ยังคงส่งผลจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางสุขภาพ การสูญเสียคนรอบข้าง หรือผลพวงทางเศรษฐกิจ ล้วนทิ้งรอยแผลไว้มากมาย กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าโรคระบาดในครั้งนี้ สร้างความก้าวหน้าครั้งใหญ่ทางการแพทย์

 

          หนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้คือ การผลิตวัคซีนที่มีความคืบหน้าอย่างก้าวกระโดด นำไปสู่การคิดค้นพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ หลายชนิด ตั้งแต่วัคซีนงูสวัด, เริม, ภูมิแพ้ หรือมะเร็งชนิดต่างๆ ทำให้โรคร้ายแรงที่เคยไร้ทางรักษามีแนวทางรับมือมากขึ้น และล่าสุดเริ่มมีการพัฒนาวัคซีนสำหรับรับมือโรคเอ็มเอส หรือ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ขึ้นมาแล้วเช่นกัน

 

          แต่สำหรับหลายท่านนี่อาจเป็นโรคที่ไม่คุ้นหูนัก เราจึงขออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้กันเสียหน่อย

 

คาดวัคซีนชนิดใหม่สามารถป้องกันโรคเอ็มเอสและมะเร็งได้

 

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หนึ่งในโรคที่รักษาไม่หาย

 

          โรคเอ็มเอส หรือ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อาจเป็นโรคที่ไม่ค่อยคุ้นหูนักด้วยถือเป็นโรคหายาก เป็นโรคที่เกิดจากความเสียหายของ เนื้อเยื่อปลอกหุ้มประสาท(myelin sheath) ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนในการส่งสัญญาณไฟฟ้าในระบบประสาท เมื่อเซลล์ส่วนนี้ถูกทำลายจึงนำไปสู่ความเสียหายทางระบบประสาท

 

          ผลกระทบที่ตามมาคือความผิดปกติในหลายระดับและภาคส่วน ตั้งแต่อาการเจ็บปวดเหมือนไฟช็อตฉับพลันและเรื้อรัง, การอ่อนแรงของแขนขา, กล้ามเนื้อหดเกร็งส่งผลกระทบต่อการเดิน, รู้สึกชาไปทั่วร่างกาย, ภาพที่เห็นมัว ซ้อน และสีเพี้ยน, ปัญหาด้านการพูดและออกเสียง, การกลืนหรือเคี้ยวอาหารติดขัด, ไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย ฯลฯ

 

          ความร้ายแรงของโรคนี้มีหลายด้าน แรกสุดคือยากต่อการวินิจฉัย ความเสียหายทางระบบประสาทตรวจพบลำบาก ในระยะแรกบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่เกิดอาการเพราะเซลล์ประสาทส่วนอื่นยังทำงานทดแทนได้ อีกทั้งอาการยังซ้ำซ้อนโรคอื่นจึงยากต่อการวินิจฉัย จำเป็นต้องใช้การตรวจสอบเฉพาะทาง เช่น การตรวจ MRI หรือ การตรวจกระแสประสาทต่างๆ

 

          อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของโรคนี้คือ ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุก่อโรคแน่ชัด หลายครั้งเราไม่สามารถหาสาเหตุแน่นอนของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งได้ เราจึงยังไม่มีแนวทางป้องกันหรือรักษาโรคอย่างได้ผลจนหายขาด ทำได้อย่างมากเพียงรักษาตามอาการและประคับประคองเพื่อลดผลกระทบเป็นหลัก

 

          โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งนอกจากเป็นโรคทางระบบประสาทเรื้อรัง ยังมักพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยในช่วงวัย 20 – 40 ปีเป็นหลัก และแม้จะได้รับการรักษาถูกวิธี อาการยังสามารถกำเริบได้เรื่อยๆ สร้างความเสียหายต่อระบบประสาทในระยะยาว นำไปสู่ความพิการหรือทุพลภาพถาวรอีกด้วย

 

          นี่จึงเป็นสาเหตุให้เริ่มมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งขึ้นมาในที่สุด

 

คาดวัคซีนชนิดใหม่สามารถป้องกันโรคเอ็มเอสและมะเร็งได้

 

ก้าวใหม่แห่งวงการแพทย์ วัคซีนป้องกันโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งและมะเร็ง

 

          ผลงานนี้เป็นของสถาบันวิจัยทางการแพทย์ QIMR Berghofer แห่งออสเตรเลีย กับการคิดค้นวัคซีนชนิดใหม่ที่สามารถป้องกันโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งและมะเร็งบางชนิด จากการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส Epstein-Barr ซึ่งอาจเป็นต้นตอของโรคเหล่านี้

 

          การวิจัยนี้เริ่มต้นจากการค้นพบว่าเชื้อ Epstein-Barr(EBV) ไรวัสตระกูลเริมนี้ อาจเป็นต้นเหตุของการก่อโรคหลายชนิด ด้วยข้อมูลล่าสุดพวกเขาค้นพบว่า ประชากรส่วนใหญ่กว่า 95% เคยได้รับหรือผ่านการติดเชื้อนี้มาแล้ว จึงถือว่าคนส่วนใหญ่ล้วนเป็นพาหะของเชื้อแทบทั้งสิ้น

 

          การติดเชื้อ EBV ส่วนมากจะเกิดในวัยเด็ก แต่หากเกิดการติดเชื้อนี้ในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่นตอนต้น จะทำให้เกิดโรค Mononucleosis ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่อาการของของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไปถึงมะเร็งจมูกและช่วงคอ ต่อไป

 

          จริงอยู่เมื่อเกิดการติดเชื้อครั้งหนึ่งร่างกายเราจะเกิดภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดเซลล์แปลกปลอม แต่เชื้อ EBV ในร่างกายไม่ได้หายไปไหนแต่อยู่ในสถานะพาหะ เมื่อใดก็ตามที่ภูมิคุ้มกันเราอ่อนแอหรือบกพร่องก็อาจเกิดการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้ ซึ่งการแพร่กระจายของเชื้อนี้สู่สมอง ไขสันหลัง และระบบประสาทนี่เอง ที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อโรคเอ็สเอส

 

          นำไปสู่การคิดค้นวัคซีนชนิดใหม่ซึ่งสามารถกระตุ้นการทำงานของแอนตี้บอดี้ ที่มีคุณสมบัติเปลี่ยนไวรัสให้เป็นกลาง ขัดขวางการติดเชื้อในช่วงแรกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ช่วยลดและขจัดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งและมะเร็งอีกหลายชนิดได้

 

          ภายใต้การทดสอบในหนูพวกเขาพบว่า วัคซีนที่พัฒนาขึ้นตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันเป็นอย่างดี สามารกกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในร่างกายให้ป้องกันการติดเชื้อ EBV โดยสามารถคงระยะเวลาได้ราว 7 เดือน อีกทั้งวัคซีนยังมีผลชะลอและกำจัดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองภายในห้องปฏิบัติการอีกด้วย

 

          นี่จึงถือเป็นก้าวใหม่แห่งวงการแพทย์ที่อาจป้องกันการก่อโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งและมะเร็งบางชนิดได้

 

 

 

          ตามที่กล่าวไปข้างต้นวัคซีนชนิดนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการทดลองทางคลินิกและเก็บข้อมูลอีกมากเพื่อตรวจสอบผลกระทบต่อร่างกาย แต่นี่เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพิชิตอีกหนึ่งโรคร้ายที่สร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วยมากมาย สร้างความหวังให้แก่คนนับล้านทั่วโลก

 

          เราจึงได้แต่คาดหวังว่าวัคซีนนี้จะได้รับการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และถูกนำมาใช้ในเร็ววัน

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1262

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/694034

 

          https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/diseases-and-treatments/multiple-sclerosis

 

          https://www.bumrungrad.com/th/conditions/multiple-sclerosis

 

          https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=2610

 

          https://www.qimrberghofer.edu.au/news/vaccine-breakthrough-offers-hope-against-ebv-associated-cancers-and-ms/